- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามงานโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเพชรบุรี ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามงานโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเพชรบุรี ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
วันที่ 28 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 08.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ณ ห้องประชุมวังสระปทุม ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตรกรรม โดยเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ให้กลับอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการปลูกพืชต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนการปลูกป่า และการเพาะปลูกพืช จัดระเบียบราษฎร ให้ราษฎรในพื้นที่โครงการเข้าอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับธรรมชาติ อีกทั้งให้ราษฎรร่วมดูแลรักษา ตลอดจนได้อาศัยผลผลิตจากป่า และการปลูกพืชต่าง ๆ โดยไม่ต้องเข้าบุกรุกทำลายป่าไม้อีกต่อไป
มูลนิธิชัยพัฒนาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ยึดพระราชดำริที่พระราชทานไว้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ปัจจุบันโครงการสวนสมเด็จฯ ประกอบด้วยการพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่ แปลงเกษตรผสมผสาน แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ การจัดระบบปลูกพืช การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพันธุกรรมพืช การเพิ่มมูลค่าผลผลิต การรับผู้เข้าศึกษาดูงาน รวมถึงการดำเนินงานแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ แปลงที่ 2 ที่มีการลดขนาดสระเก็บกักน้ำเหลือประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกระแสแนะนำไว้ว่าทฤษฎีใหม่ให้มีการยืดหยุ่นได้ เช่น ถ้าพื้นที่ไหนมีแหล่งน้ำเพียงพอที่จะมาเติมสระได้ เราสามารถลดขนาดสระลงเพื่อใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น
ในส่วนของการดำเนินงานด้านบริหารจัดการน้ำ การพื้นฟูแหล่งน้ำของโครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ดำเนินการฟื้นฟูโดยการขุดลอกและก่อสร้างฝายทดน้ำ 2 แห่ง และก่อสร้างอาคารท่อเหลี่ยมแบบมีฝายน้ำล้น 3 แห่ง อีกทั้งได้มีการเสนอแนวทางการทำป่าเปียกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันไฟป่า ซึ่งจะได้มีการสำรวจพื้นที่และดำเนินการต่อไป