วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย ”โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช จำนวน 10 สายพันธุ์ กับมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ได้ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช จำนวน 6 สายพันธุ์ ในการนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือรับรอง “สลัดสวยงาม” และ “มะเขือเปราะเพชรล้านนา” ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อีกทั้ง ในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ปรับปรุงพันธุ์ถั่วฝักยาว โดยการผสมข้ามพันธุ์เพื่อสร้างลักษณะใหม่ และทำการคัดเลือก จนสามารถสร้างพันธุ์ใหม่ได้ จำนวน 4 พันธุ์ โดยในวันนี้ ได้พระราชทานชื่อถั่วฝักยาวทั้งสี่สายพันธุ์ดังนี้
เสือดุ เสือเขียว เสือขาว เสือลายพาดกลอน โดยเมล็ดพันธุ์พืชที่ปรับปรุงใหม่นี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จะผลิตเมล็ดพันธุ์ขยายเพื่อสะสมสำรองสำหรับพระราชทานราษฎรที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล และราษฎรที่ประสบภัยเรือกสวนไร่นาเสียหาย
นอกจากนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่ได้รับพระราชทานชื่อทั้ง 16 ชนิด จำหน่ายภายใต้ชื่อ ศรแดง เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสได้ปลูกพืชผักที่มีลักษณะดีอย่างทั่วถึง โดยบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทานหมุนเวียนสืบไป
การครั้งนี้ ได้พระราชทานวุฒิบัตรทหารพันธุ์ดีและตำรวจพันธุ์ดี ที่เข้ารับการอบรม ณ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จำนวน 29 รุ่น 616 นาย แก่ผู้แทนกองทัพบกและผู้แทนตำรวจพันธุ์ดี จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน และแปลงผัดสดปลอดภัย ในโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และ "ปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP"
นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ ที่มีพระราชประสงค์ให้ปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค และเป็นการลดต้นทุนในการผลิต ศูนย์ฯ จึงได้ผลิตสารชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ทดลองใช้กับพืชผักชนิดต่างๆ ภายในโครงการ และเมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจจึงขยายผลสู่ชุมชนต่อไป โดยได้ผลิตสารสกัดสมุนไพรกำจัดแมลงศัตรูพืช น้ำหมักชีวภาพ ผลิตและใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ ผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา บิวเวอร์เรีย และเมธาไรเซียม
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้รับคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตร ในการผลิตไส้เดือนฝอยเพื่อลดการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช และได้ขยายผลการผลิตไส้เดือนฝอยออกสู่สมาชิกโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP โดยมีเป้าหมายให้สมาชิกสามารถผลิตไส้เดือนฝอยไว้ใช้ในแปลงปลูกผัก และสนับสนุนสมาชิกให้สามารถขยายไส้เดือนฝอยไว้ใช้ในแปลงผักกันเองให้ได้ อีกทั้ง กรมวิชาการเกษตรยังได้ให้คำแนะนำในการผลิตแบคทีเรียบีเอส หรือ Bacillus Subtilis 3 ชนิด เพื่อควบคุมโรคพืช และผลิตเชื้อแบคทีเรียบีที หรือ Bacillus Thuringiensis เพื่อควบคุมตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืช ส่วนกรมพัฒนาที่ดิน ได้เข้ามาช่วยแนะนำการผลิตสารเร่งซุปเปอร์ พด.
นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย ได้จัดตั้งโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ขึ้น ที่ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย ปัจจุบันมีเกษตรกรในหมู่บ้านสันหลวงใต้ และบ้านสันบุญเรือง เข้าร่วมโครงการ 30 ราย มีพื้นที่เพาะปลูก 416 ไร่ โอกาสนี้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย