- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
วันพุธที่ 13 มกราคม 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย โรงงานชาน้ำมันและพืชน้ำมันอื่นๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
เวลา 14.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังบริเวณพื้นที่ที่จะจัดสร้างโรงงานชาน้ำมันและพืชน้ำมันอื่นๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา มีเนื้อที่ 153 ไร่ 1 งาน 38.9 ตารางวา
เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ถึงพื้นที่โครงการ ทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จฯ จากนั้น เสด็จฯ เข้าพลับพลาพิธี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานโครงการจัดสร้างโรงงานชาน้ำมันและพืชน้ำมันอื่นๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา
จากนั้น ทอดพระเนตรพิธี “ปกเสาเฮือนแบบล้านนา” ทรงสุหร่ายและทรงโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่เสามงคลและเสานาง “ปก” เป็นภาษาล้านนนา แปลว่า “ยกขึ้น” พิธีวางศิลาฤกษ์ไม่ใช่พิธีที่มีมาแต่ดั้งเดิมในวัฒนธรรมล้านนา จึงได้มีการปรับปรุงวิธีการให้เข้ากับยุคสมัย โดยอาศัยพิธีใกล้เคียง คือ พิธี “ปกเสาเฮือน” เป็นต้นแบบ ซึ่งอาจารย์นคร พงษ์น้อย เป็นผู้ดำเนินการในพิธีนี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วย นิทรรศการส่วนที่ 1 พันเอกศยาม จันทรวิโรจน์ และร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม กราบบังคมทูลรายงาน แบบโครงสร้างโรงงาน สภาพพื้นที่โครงการ และแบบจำลองโรงงานในอนาคต นิทรรศการส่วนที่ 2 รศ.ดร.สุรพงศ์ นวังคสัตถุศาสน์ และรศ.ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล กราบบังคมทูลรายงานส่วนเครื่องจักรและแผนภูมิเครื่องหีบน้ำมัน นิทรรศการส่วนที่ 3 คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา กราบบังคมทูลรายงานเรื่องพืชน้ำมันอื่นๆ ตารางการบริหารวัตถุดิบ และปฏิทินการทำงานของโรงงาน
การจัดสร้างโรงงานชาน้ำมันและพืชน้ำมันอื่นๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนานี้ เป็นไปตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้เป็นโรงงานต้นแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเป็นสำคัญ มีรูปแบบทันสมัย สีสันสวยงาม มีความเรียบง่าย และสะอาด เพื่อรองรับการดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้สนองพระราชดำริในการปลูกต้นชาน้ำมัน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ โดยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้มณฑลกวางสี และคณะผู้เชี่ยวชาญ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเมล็ดพันธุ์ 2,500 กิโลกรัม รวมทั้งต้นกล้าชาน้ำมัน 40,000 ต้น จากเมืองกวางสี เพื่อนำมาเพาะปลูกและขยายพันธ์ในโครงการฯ ปัจจุบันต้นชาน้ำมันมีอายุ 2.5-4 ปี ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดชาน้ำมันเพื่อนำไปบีบน้ำมันได้ในปีที่ 5 เป็นต้นไป
ชาที่ใช้เมล็ดผลิตน้ำมันเป็นชาที่มี specie แตกต่างกับชาที่ใช้ชงดื่ม ชาที่ใช้เมล็ดผลิตน้ำมัน คือ Camellia oleifera น้ำมันที่ได้จากเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูงเทียบเท่าน้ำมันมะกอก เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง และมีสัดส่วนของกรดไขมันชนิดต่างๆ ใกล้เคียงกัน หรือดีกว่าน้ำมันมะกอกเล็กน้อย
โรงงานแห่งนี้ ประกอบด้วย โรงหีบน้ำมันจากพืชน้ำมันต่างๆ ส่วนปฏิบัติการแปรรูปน้ำมัน ไซโลเก็บวัตถุดิบ ลานตากเมล็ด ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ อาคารสำนักงาน ศูนย์เรียนรู้การบำบัดขยะและน้ำเสียจากโรงงาน ศูนย์รวมความรู้เรื่องชาน้ำมันและพืชน้ำมันอื่นๆ และร้านขายผลิตภัณฑ์
โรงหีบน้ำมัน สามารถบีบน้ำมันที่มีโครงสร้างและลักษณะคล้ายกันได้หลายชนิด เช่น เมล็ดชาน้ำมัน มะรุม ฟักทอง ผักน้ำมัน (rapeseed) และงา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้โรงงานมีการทำงานที่ต่อเนื่องตลอดทั้งปีและมีวัตถุดิบป้อนโรงงานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
สำหรับในส่วนของการแปรรูปน้ำมัน จะมีการบรรจุผลิตภัณฑ์น้ำมัน การบรรจุผลิตภัณฑ์ premium เช่น เครื่องสำอาง หรือยารักษาโรค และการบรรจุผลิตภัณฑ์จากกากชาน้ำมันเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ
การดำเนินงานที่ผ่านมา คณะทำงาน ประกอบด้วย มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรและสถาปนิกโครงการ ได้ร่วมกันออกแบบโรงงาน ปรับพื้นที่ และจัดหาอุปกรณ์สำหรับการบีบน้ำมัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการก่อสร้างที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2553 และมีกำหนดการทดลองปฏิบัติการโรงงานในระยะแรกภายในปี 2553 นี้
ก่อนเสด็จฯ ไปยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรแปลงฟักทองที่นำพันธุ์มาจากประเทศออสเตรีย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริทดลองเพาะเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 และนำมาปลูกในบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงงานชาน้ำมัน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อนำเมล็ดชาน้ำมันมาหีบเป็นน้ำมันสำหรับบริโภคต่อไป
เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ถึงศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทรงประกอบพิธีเปิดร้านขายผลิตภัณฑ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ที่ได้พระราชทานชื่อว่า “ร้านจันกะผัก”
ร้าน “จันกะผัก” เป็นร้านที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริตั้งขึ้น เพื่อจำหน่ายพืชผักที่เหลือจากการทดสอบและพัฒนาพันธุ์ มีการขายเป็นผักสลัดและส้มตำซึ่งใช้พืชผักที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ผลิตเอง ขายกาแฟและของที่ระลึก นอกจากนี้ ร้านจันกะผักยังมีแผนงานในการส่งเสริมด้านการตลาดแก่ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของชุมชนท้องถิ่น โดยจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนามาจำหน่ายในร้านในระยะต่อไป
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรสินค้าภายในร้านจันกะผัก และทรงประกอบอาหาร “ส้มตำทำเอง”
จากนั้น ทรงรับฟังการบรรยายแผนการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาการใช้น้ำในพื้นที่ข้างเคียงศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและโครงการชลประทานจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันศึกษาหาแนวทางแก้ไขการใช้ประโยชน์สระน้ำของชาวไร่ยาสูบ สังกัดสถานีใบยาเวียงพาน ในที่ดินราชพัสดุหมายเลขทะเบียน อ.ชร.01 ซึ่งเป็นพื้นที่ข้างเคียงศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ โดยจะซ่อมแซมปรับปรุง และสร้างระบบส่งน้ำเพิ่มเติมจากแหล่งน้ำเดิมที่สำนักงานยาสูบเชียงรายและมูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดสร้างไว้ ผลจากการดำเนินงานโครงการนี้ จะยังประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรกรรม 188 ไร่
ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรโครงการโดยรอบ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” ขึ้น เป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ มาทรงเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชให้เกษตรกรได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ที่ดี ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดี โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจะรวบรวมและพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้าน เก็บรักษาพันธุ์พืชผักพื้นบ้านให้เกษตรกรได้มีพันธุ์พืชที่ดีไว้ปลูก เพื่อบริโภคในครัวเรือน จำหน่าย และสามารถเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปได้ ผลิตและสะสมเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ที่นอกจากจะพระราชทานแก่ราษฎรที่สนใจแล้ว ยังจะเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรประสบภัยพิบัติอีกด้วย
ระหว่างประทับรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรต้นมะรุมอินเดีย ที่มีพระราชดำรัสสั่งให้ปลูกเพื่อศึกษาทดลองนำเมล็ดมะรุมมาบีบน้ำมันบริโภค ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริดำเนินการสนองพระราชดำริ ในการศึกษาการใช้ประโยชน์สูงสุดของโรงงานชาน้ำมันที่ได้ทรงทำพิธีปกเสาเฮือนก่อนที่จะเสด็จฯ มายังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ เนื่องจากชาน้ำมันออกผลปีละหนึ่งครั้ง ประมาณเดือนธันวาคมและมกราคม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาพืชที่ให้น้ำมันชนิดอื่นนอกเหนือจากเมล็ดชาน้ำมัน เช่น มะรุม ฟักทอง ถั่ว งา ทานตะวัน และผักน้ำมัน (rapeseed) เพื่อนำเมล็ดเข้าบีบน้ำมันในระหว่างที่ชาน้ำมันยังไม่ออกผล
ทอดพระเนตรแปลงมะขามเทศ ที่มีรับสั่งให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ หาพันธุ์พื้นเมืองมาปลูก และเนื่องจากมะขามเทศยังต้นเล็ก มีระยะห่างระหว่างแถว 10 เมตร เพื่อใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ จึงปลูกฟักทองที่ทรงนำพันธุ์มาจากประเทศจีนระหว่างแถวมะขามเทศ นอกจากนี้ ยังมีแปลงมะรุมพื้นบ้านไทย และจากประเทศอินโดนีเซีย ในขณะนี้ต้นมะรุมยังมีขนาดเล็ก จึงปลูกพริกพื้นบ้านระหว่างแถวมะรุม เพื่อใช้คัดเลือกต้นที่มีลักษณะดีและมีผลผลิตดี มาขยายและผลิตเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ทรงเยี่ยมราษฎร
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังแปลงทดสอบพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสด ทอดพระเนตรการทดสอบเสถียรภาพผลผลิตสายพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดที่มีกลิ่นหอมของไทย ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริร่วมกับภาควิชาพืชไร่ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปลูกถั่วเหลืองฝักสดเพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่มีกลิ่นหอม มีศักยภาพในการปรับตัวที่เหมาะสม เพื่อคัดหาสายพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดที่มีศักยภาพและมีเสถียรภาพในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ เมื่อทดสอบได้ผลที่ดีแล้ว จึงจะผลิตเมล็ดพันธุ์หลักของสายพันธุ์ดีไว้ และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เพื่อสนับสนุนให้ราษฎรและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้รับโปรตีนจากพืชเพิ่มมากขึ้น
ทอดพระเนตรสวนผักแกงส้มแกงเลียง ซึ่งอยู่ด้านข้างแปลงถั่วเหลืองฝักสด ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ปลูกขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนที่สนใจการปลูกผักพื้นบ้านเพื่อนำมาประกอบอาหารในครัวเรือน ผู้ที่สนใจโดยเฉพาะผู้ที่มาเป็นครอบครัวสามารถเข้ามาเรียนรู้พืชผักแต่ละชนิดร่วมกัน และสามารถเก็บผักไปประกอบอาหารในครัวของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ได้ โดยศูนย์จะเป็นเสมือนห้องเรียน พ่อแม่จะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับลูก สอนเรื่องพืชผักและการประกอบอาหารในครัวเรือน เป็นการสร้างความความสัมพันธ์ที่อบอุ่นให้แก่ครอบครัว
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ที่ได้เริ่มรวบรวมพันธุ์ผักกาดกวางตุ้ง คะน้า พริก มะเขือเทศ บวบ น้ำเต้า มะเขือ และผักสลัดชนิดต่างๆ ทอดพระเนตรต้นพันธุ์คู่ผสมผักสลัดที่ใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ ในการดำเนินงานผลิตเมล็ดพันธุ์ผักนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นที่ปรึกษาในการคัดเลือกพันธุ์ เพิ่มจำนวนเมล็ด โดยจะเก็บเมล็ดพันธุ์ในห้องที่ปรับอุณหภูมิ เก็บรักษาตามกำหนดอายุการงอกของเมล็ดพืชนั้นๆ จัดระบบการจัดเก็บให้เป็นแบบแผน เพื่อสะสมเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฏรต่อไป
ต่อมา เสด็จฯ ไปยังแปลงปลูกพืชไร่และผักพื้นบ้าน ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรม ดังต่อไปนี้
โครงการพัฒนาพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์พืช คือ ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดเทียนหวาน งาดำพันธุ์ มก.18 ผักกวางตุ้ง ฟักทอง ฟักเขียว มะเขือเทศพื้นเมือง ถั่วฝักยาว และแตงโมสีทอง เพื่อศึกษาขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี เพื่อปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับพระราชทานแก่ราษฎร จัดทำแปลงอนุรักษ์ต่อเชื้อพันธุกรรมคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์พืชพื้นเมืองที่ใช้ในวิถีชีวิตที่รวบรวมจากท้องถิ่นต่างๆ ในภาคเหนือ 10 ชนิด ได้แก่ ข้าวไร่ งาขี้หม่อน แตงกวา บวบ มันเทศ ผักกาดพื้นเมือง ตังโอ๋ มะเขือพื้นเมือง พริกพื้นเมือง ฟักข้าว เป็นต้น
โครงการเปรียบเทียบการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาว 10 สายพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักกาดเขียวกวางตุ้งดอกพันธุ์ รม.1 ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริและสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง จะผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวและผักกาดเขียวกวางตุ้ง เพื่อให้เกษตรสามารถนำไปผลิตและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ไช้เองได้ต่อไป
จากนั้น ทอดพระเนตรการเก็บรักษาผักสด การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ และทอดพระเนตรความก้าวหน้าโครงการวิจัย “การผลิตน้ำจุลินทรีย์จากปุ๋ยอินทรีย์มูลกระบือ” ซึ่งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศึกษาวิจัยวิธีการผลิตและใช้น้ำจุลินทรีย์จากปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากมูลกระบือและเศษพืชต่างๆ เพื่อใช้ในการเกษตรระดับครัวเรือน และศึกษาความเป็นไปได้ในการคัดเลือกสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในน้ำจุลินทรีย์จากปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากมูลกระบือ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
เสด็จฯ ไปยังศาลานิทรรศการ ทอดพระเนตรนิทรรศการประชาสัมพันธ์โครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ซึ่งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริร่วมกับบริษัท เอเซียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดประกวดภาพวาดการ์ตูนสั้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย และการประกวดทำคลิปวิดีโอ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เยาวชนไทยเรียนรู้วิธีการปลูกผัก ประโยชน์จากการรับประทานผัก และได้ทำสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรู้จักการเพาะปลูกและนำพืชผักที่ปลูกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่ซับซ้อน
ทอดพระเนตรนิทรรศการของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ที่แสดงเรื่องราวความเป็นมาของศูนย์ฯ ประวัติพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ พืชผักที่ปลูกในศูนย์ฯ ประโยชน์ที่ได้จากการบริโภคผัก การสนับสนุนการปลูกผักพื้นบ้านในครอบครัวเมือง ภาพแห่งความประทับใจและเรื่องเล่าไม่รู้จบของผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ นอกจากนี้ ยังมีเกมเกี่ยวกับการปลูกพืช เกมทดสอบความรู้เรื่องสุขภาพและการบริโภคผัก เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้สนุกสนานและได้รับความรู้กลับไปอีกด้วย
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ วางแผนที่จะพัฒนาพันธุ์พืชอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน รวบรวมและสะสมเพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์พืชที่ดี แม้ไม่ใช่พันธุ์ที่ดีที่สุดในเชิงเศรษฐกิจ แต่จะเป็นพันธุ์ที่ดีพอสมควร สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้แก่ครัวเรือน สร้างความแข็งแรงมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา