- หน้าแรก
- เครื่องกลเติมอากาศชองมูลนิธิชัยพัฒนา
- การขอความอนุเคราะห์การติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ
การขอความอนุเคราะห์การติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ
หลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนในการขอความอนุเคราะห์การติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ
แนวทางการดำเนินงาน
การดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการร่วมกับกรมชลประทานนั้น เป็นการปฏิบัติงานโดยการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยเครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งได้กำหนดแนวทาง การดำเนินงานไว้ ดังนี้
1.หลักเกณฑ์
1.1 การบำบัดน้ำเสียของมูลนิธิชัยพัฒนามุ่งเน้นในการบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำสาธารณะ สถานสงเคราะห์ และวัดต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนเมือง และชนบทเป็นหลัก โดยแหล่งน้ำเสียนั้น จะไม่ไปกระทำซ้ำซ้อนกับระบบบำบัดน้ำเสียของรัฐ ซึ่งมีแผนงานและนโยบายที่แน่ชัดอยู่แล้ว
1.2 ในกรณีที่ภาครัฐมีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่แล้วมีความประสงค์ที่จะใช้เครื่องกลเติมอากาศของมูลนิธิชัยพัฒนาไปเสริมเพิ่มเติมในกระบวนการเดิมนั้น ย่อมเป็นการไม่บังควรเพราะการมีระบบบำบัดน้ำเสียที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ ที่จะต้องปรับคุณภาพน้ำให้ได้ต่ำกว่ามาตรฐาน คือ ค่า BOD จะต้องน้อยว่า 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ ถ้ามูลนิธิชัยพัฒนานำเครื่องเติมอากาศเข้าไปเสริมในระบบใหญ่ เมื่อผลการปรับคุณภาพน้ำดีกว่าเดิมย่อมจะเป็นผลดี แต่ถ้าคุณภาพน้ำยังไม่ดีกว่าเดิมย่อมจะเป็นข้ออ้าง และเป็นผลเสียต่อมูลนิธิชัยพัฒนา
1.3 ในกรณีที่ภาครัฐมีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่แล้ว แต่มีบ่อหรือสระเก็บน้ำที่ใช้รับน้ำที่ผ่านมาการบำบัดเบื้องต้นแยกไว้ต่างหากจากระบบหลัก และต้องการขอให้มูลนิธิชัยพัฒนาใช้เครื่องกลเติมอากาศเพื่อปรับคุณภาพน้ำในสระเก็บน้ำเพื่อรักษาคุณภาพน้ำก็ย่อมกระทำได้ แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมแล้วแต่กรณี
1.4 แหล่งน้ำสาธารณะบางแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐ (เทศบาลสุขาภิบาล ฯลฯ) และหน่วยงานขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อวางโครงการย่อมกระทำได้แต่ต้องใช้งบประมาณของภาครัฐนั้น ๆ เว้นแต่จะมีพระราชดำริไว้
1.5 สำหรับภาคเอกชนบางรายที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สาธารณะหรือแก่มูลนิธิชัยพัฒนามีความต้องการช่วยเหลือด้านพิจารณาโครงการบำบัดน้ำเสีย มูลนิธิชัยพัฒนาจะพิจารณาสนับสนุนตามความเหมาะสม
1.6 แหล่งน้ำที่สามารถติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนา ได้จะต้องมีความลึกไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร
2. ขั้นตอนการปฏิบัติ
2.1 หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความประสงค์จะติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศของมูลนิธิชัยพัฒนา ให้ทำหนังสือแจ้งความประสงค์มายังสำนักงานมูลนิชัยพัฒนา เรียนถึง เลขาธิการมูลนิชัยพัฒนา ทั้งนี้ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำและสภาพพื้นที่ ให้จัดส่งข้อมูลแนบมาด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาเบื้องต้น โดยข้อมูลดังกล่าวได้แก่
- สภาพพื้นที่แหล่งน้ำ และขนาดบ่อ ประกอบด้วย ความลึก ความกว้าง และความยาว พร้อมแผนผังประกอบโดยสังเขป
- ค่าความสกปรกของน้ำ ได้แก่ ค่าบีโอดี ค่า Total Nitrogen (TN) ค่า Total Phosphorus (TP) และ Total Suspended Solids (TSS หรือ สารแขวนลอย) ซึ่งสามารถของความร่วมมือในการตรวจได้จากมหาวิทยาลัยหรือสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละพื้นที่ (ถ้ามี)
2.2 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จะประสานไปยังกรมชลประทาน และหน่วยงานเพื่อเข้าร่วมสำรวจสภาพพื้นที่ ศึกษาสภาพปัญหา เพื่อวางแผน วางระบบการติดตั้ง และให้ข้อเสนอแนะแนวทางทางวิชาการ รวมทั้งประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เพื่อจัดทำสรุปรายละเอียดแผนงานและงบประมาณโครงการเพื่อจัดส่งให้แก่หน่วยงานประกอบการพิจารณา ซึ่งรายละเอียดค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย
2.2.1 ค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างเครื่องกลเติมอากาศ ได้แก่
- ค่าจัดสร้างเครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนาแบบสแตนเลส มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวน 400,000 บาท/ชุด (ยังไม่รวมอุปกรณ์การติดตั้ง)
- ค่าจัดสร้างเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX – 5C มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวน 40,000 บาท/ชุด
ทั้งนี้ จำนวนการติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ ขึ้นอยู่กับขนาดของสระน้ำ ค่าความสกปรกของน้ำ
2.2.2 ค่าจัดสร้างตู้ควบคุมไฟฟ้า
2.2.3 ค่าดำเนินการติดตั้ง
หมายเหตุ มูลนิธิชัยพัฒนา จะให้การสนับสนุนวิธีการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และออกค่าใช้จ่ายให้เฉพาะองค์กรสาธารณกุศล และหน่วยงานของรัฐที่ปฎิบัติเพื่อสาธารณกุศล แต่ขาดแคลนงบประมาณ โดยจะพิจารณาสนับสนุนให้ตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณี ส่วนหน่วยงานอื่นๆ จะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
2.3 หลังจากหน่วยงานได้รับแผนงานและงบประมาณโครงการแล้ว หากมีความประสงค์ที่จะดำเนินการติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ ให้แจ้งความประสงค์มายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
2.4 กรมชลประทาน จะเข้าดำเนินการติดตั้ง ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการติดตั้ง ขอให้หน่วยงานจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับการติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ ดังนี้
2.4.1 เดินสายไฟฟ้า 380 v., 50 Hz, AC 4 สาย (สายดิน 1 เส้น) จากสายเมนไฟฟ้าไปยังจุดติดตั้งตู้ควบคุมไฟฟ้า พร้อมติดตั้ง breaker switch ขนาด 30 Amp
2.4.2 จัดหาวัสดุและอุปกรณ์ ประกอบการติดตั้ง ได้แก่
- สายไฟฟ้า Nyy ขนาด 4 x 2.5 mm2
- ท่อเหล็กอาบสังกะสี Ø 50 มม. X 6 ม.
- ท่อเหล็กอาบสังกะสี Ø 25 มม. X 6 ม.
- ท่อร้อยสายไฟฟ้า Ø 2” จากตู้ควบคุมไฟฟ้าไปยังขอบสระ
- เชือกไนล่อน Ø 12 มม.
- เรือชนิด 2 คนพาย จำนวน 1 ลำ ใช้สำหรับติดตั้งและซ่อมบำรุง (ถ้ามี)
2.4.3 ทำการขนส่งเครื่องกลเติมอากาศจากส่วนโรงงาน สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ปากเกร็ด ไปยังจุดติดตั้ง (การขนส่งเครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา จะต้องใช้รถบรรทุกติดเครนชนิดที่ไม่ต่อกระบะ)
2.5 เมื่อดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายไปยังหน่วยงาน
3. การซ่อมบำรุงดูแลรักษาเครื่อง
ภายหลังจากการติดตั้งหน่วยงานจะต้องบำรุงดูแลรักษาเครื่องตามคู่มือบำรุงรักษาเครื่องกลเติมอากาศ พร้อมทั้งเตรียมค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ในระยะเวลาแต่ละปี โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้
3.1 เครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา ประมาณ 10,000 บาท ต่อปี
3.2 เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX – 5C ประมาณ 5,000 บาท ต่อปี
3.3 นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้วซึ่งจะต้องเดินเครื่องวันละ 9 ชั่วโมง ๆ โดยจะคิดเป็นค่าไฟฟ้า ชั่วโมงละ 1 ยูนิต ยูนิตประมาณ 3 - 4 บาท (ราคาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา) ถ้าไม่เปิดเครื่องตามเวลาที่กำหนด ก็จะไม่บังเกิดผลต่อการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย
3.5 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปซ่อมบำรุงดูแลรักษาเครื่อง ในกรณีที่เครื่องกลเติมอากาศมีการชำรุด หรือขัดข้องภายในช่วงระยะเวลา 1 ปี โดยแจ้งมายังสำนักงานมูลนิชัยพัฒนา หากเครื่องติดตั้งภายหลังระยะเวลา 1 ปี เกิดการชำรุดและไม่สามารถที่ซ่อมแซมได้ให้หน่วยงานทำหนังสือแจ้งมายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งทางหน่วยงานจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายซึ่งจะเป็นอุปกรณืในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่อง
4. การติดตามผลการดำเนินงานโครงการ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามผลการดำเนินงานการปรับปรุงคุณภาพน้ำแต่ละแห่ง เพื่อตรวจสอบดูประสิทธิภาพในการวางระบบการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูลผล และปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการปรับปรุงคุณภาพน้ำต่อไป