- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7 และโครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7 และโครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ตามพระรา ...
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังกองพลทหารราบที่ 7 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7 และโครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ตามพระราชดำริ
โครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7
การจัดตั้งโครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7 เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กองทัพบก และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ เพื่อให้ทหารกองประจำการมีความรู้และประสบการณ์ในการทำการเกษตรและขยายผลสร้างเครือข่ายในชุมชนที่อยู่อาศัย
โอกาสนี้ ทรงเปิดร้าน “ทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7” โดยทหารพันธุ์ดีร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายผักสดที่เป็นผลผลิตของทหารพันธุ์ดี รวมถึงกิ่งพันธุ์ไม้ผลและพืชผักพื้นเมืองจากโครงการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลและโครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ที่มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นอกจากนี้ยังมีอาหารแปรรูปรวมถึงผลิตภัณฑ์จากครอบครัวของกำลังพลและชุมชนโดยรอบ
โครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7 ได้ดำเนินกิจกรรมประกอบด้วย
การปลูกผักปลอดภัย โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้ให้คำแนะนำ เน้นสร้างความรู้แก่กำลังพลด้วยการเรียนรู้และปฏิบัติจริง สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับไปประกอบอาชีพเมื่อปลดประจำการหรือขยายผลไปยังชุมชนของตนเอง เป็นการพัฒนากำลังพลให้มีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพด้านการเกษตรหรือการทำธุรกิจเกษตรหลังปลดประจำการ
นอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยในปี 2566 ได้ผลิตพันธุ์เป็ดไข่พระราชทาน จำนวน 3,144 ตัว
โครงการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผล เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกองพลทหารราบที่ 7 เพื่ออนุรักษ์ ปรับปรุง และพัฒนาสายพันธุ์ไม้ผลของประเทศไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปรับปรุงพันธุ์ การอนุรักษ์พันธุ์ การดูแลจัดการ และขยายพันธุ์ไม้ผลต่างๆ ให้แก่กำลังพล นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนทั่วไป
ปัจจุบันมีการรวบรวมพันธุ์ฝรั่งพื้นเมืองจากทั่วประเทศ เสาวรส รวมถึงการอนุรักษ์พันธุกรรมไม้ผลพื้นเมืองต่างๆ ในปีนี้สามารถปรับปรุงพันธุ์ฝรั่งลูกผสมและผ่านการทดสอบในขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผล จำนวน 1 พันธุ์ น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานชื่อฝรั่งพันธุ์ใหม่นี้ว่า “พันธุ์ดกงาม” โดยมูลนิธิชัยพัฒนาจะดำเนินการขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตรต่อไป
โครงการรวบรวมพันธุ์มะม่วงพระราชทาน จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สอนวิธีขยายพันธุ์มะม่วงแก่เกษตรกร โดยการเสียบยอดมะม่วงพันธุ์ดีเข้ากับต้นตอเดิมจากสวนมะม่วงของกองพลทหารราบที่ 7 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์มะม่วงหลากหลายชนิด รวมถึงขยายและกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ของภาคเหนือ อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับกำลังพล นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
โครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์
เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกองพลทหารราบที่ 7 เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดหาพื้นที่เพื่อดำเนินการเก็บรักษาพันธุกรรมพืชผักที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้พิจารณาให้ใช้พื้นที่จำนวน 28 ไร่ ภายในกองพลทหารราบที่ 7 เป็นพื้นที่โครงการ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับมาตรฐานการผลิตระบบอินทรีย์ IFOAM
โอกาสนี้ทอดพระเนตรวิธีการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ผักกาดหอมและทรงเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ผักกาดหอมพันธุ์ “ของขวัญ” ซึ่งเป็นผักกาดหอมพันธุ์ใหม่ที่ได้พระราชทานชื่อ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566
จากนั้นทอดพระเนตรกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ผัก และพระราชทานชื่อพันธุ์ผักกาดหอมพันธุ์ใหม่ จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่
1. ผักกาดหอม กลุ่มกรีนโอ๊คลีฟ พระราชทานชื่อว่า “สลัดขายดี”
2. ผักกาดหอม กลุ่มผักกาดหอมห่อ พระราชทานชื่อว่า “สลัดคนดี”
3. ผักกาดหอม กลุ่มฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก พระราชทานชื่อว่า “สลัดรสดี”
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรชาวไทยให้มีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นการสร้างความมั่นคงภายในประเทศอีกทางหนึ่ง