- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการตามพระราชกระแส
- โครงการศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของชาวเล อ.คุระบุรี จ.พังงา
โครงการศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของชาวเล อ.คุระบุรี จ.พังงา
โครงการศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของชาวเล
อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
ความเป็นมา / แนวพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นแกนกลางในการประสานงานการดำเนินงานโครงการศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมและการ ดำรงชีวิตชาวเล ในรูปแบบของการอนุรักษ์วัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ
แนวพระราชดำริ
1. วันที่ 10 มีนาคม 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติในหลักการ และงบประมาณ สำหรับโครงการศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรม และดำรงชีวิตชาวเลในพื้นที่จังหวัดพังงา โดยแบ่งแผนการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลบนหมู่เกาะสุรินทร์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลในพื้นที่โครงการชัยพัฒนา – กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) และการสนับสนุนการวิจัยอิสระเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมและการดำรงชีวิตชาวเล
2. วันที่ 12 มีนาคม 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิชัยพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ของชาวเลบนฝั่ง และชาวมอแกนบนเกาะ เพื่อสอนภูมิปัญญาชาวบ้านของชาวเล และความรู้ท้องถิ่นของชาวมอแกนที่เป็นประโยชน์
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช
และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
ผลการดำเนินงาน
1. งานพัฒนาด้านสุขอนามัย รับผิดชอบโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา ประกอบด้วย
1.1 งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการจัดทำแฟ้มประวัติ
1.2 งานสำรวจสภาวะสุขภาพ และแก้ไขปัญหาสุขภาพชาวมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์
1.3 งานอบรมกลุ่มแกนนำและอบรมฟื้นฟู อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) อบรม อสม. จำนวน 5 คน ระยะเวลา 7 สัปดาห์ โดยคัดเลือกเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และอาสาสมัครทั่วไปปัจจุบันมี อสม. ที่สามารถทำงานอยู่ในพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ จำนวน 2 ราย รวมทั้งให้ความรู้เบื้องต้นแก่
ผดุงครรภ์โบราณ เพื่อให้สามารถดูแลครรภ์ และทำคลอดได้อย่างปลอดภัย
1.4 งานจัดสร้างระบบการส่งต่อ และติดตั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยใช้สถานีอนามัยทุ่งรักชัยพัฒน์ และโรงพยาบาลคุระบุรีชัยพัฒน์ เป็นแม่ข่าย
1.5 งานส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัย ให้การรักษาพยาบาลตามรายโรคที่พบ รวมทั้งแก้ปัญหาสาธารณสุข กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์พาหะนำโรค และการควบคุมและป้องกันโรคบริเวณที่พัก
1.6 ประเมินผลสุขภาพ เพื่อติดตามการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพ
1.7 งานบริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยชาวมอแกน โดยการจัดหน่วยปฐมพยาบาลเคลื่อนที่ ณ อ่าวบอนใหญ่ และดำเนินการควบคุมและป้องกันโรค บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสุรินทร์
2. งานส่งเสริมด้านการศึกษาและอาชีพ รับผิดชอบโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
เนื่องจากชาวมอแกน มีทักษะด้านหัตถกรรม จึงได้จัดส่งวิทยากรเข้าฝึกอบรม เพื่อพัฒนาฝีมืองาน จักสานจากใบเตย และการอบรมการพัฒนาฝีมืองานแกะสลักเรือจำลองจากไม้ พบว่ามีชาวมอแกนที่เข้ารับการอบรมมีการพัฒนาฝีมือได้เป็นอย่างดี สามารถผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมได้หลากหลายชนิด ได้แก่ กระเป๋าสะพาย หมวก เรือก่าบางไม้จำลอง
การดำเนินงานในระยะ ต่อไป
- ปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ในพื้นที่อ่าวช่องขาด หมู่เกาะสุรินทร์ เพื่อใช้เป็นสถานพยาบาล
- เข้าทบทวน ติดตาม และประเมินผลการฝึกอบรมอาชีพ