- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการตามพระราชกระแส
- โครงการการให้ความช่วยเหลือ (กระเทียม) พื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซางกิ่ง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
โครงการการให้ความช่วยเหลือ (กระเทียม) พื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซางกิ่ง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
โครงการแก้ไขปัญหากระเทียมตกต่ำ
พื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซางกิ่ง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
ความเป็นมา
ตามที่ ใต้ฝ่าละอองพระบาท ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2549 และได้มีพระราชกระแสให้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ติดตามและหาแนวทางการแก้ปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ ให้กับราษฎรบ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซาง กิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
พระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ พื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซาง กิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
หน่วยงานรับผิดชอบ
จังหวัดพะเยา กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยไฟ และสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
ผลการดำเนินงาน
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือราษฎร โดยขอพระราชทานพระราชานุมัติโครงการแก้ไขปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ โดยให้กำหนดกลุ่มตัวอย่างจำนวน 27 ราย เพื่อให้สามารถ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี และเพื่อเป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มเกษตรกร ในการผลิต และจำหน่ายกระเทียม รวมทั้งพืชหลังนาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีการดำเนินงานดังนี้
1. คัดเลือกเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยไฟ บริเวณบ้านทุ่งกระเทียม หมู่ 11 ตำบล
ภูซาง กิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา จำนวน 27 ราย เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้น้ำดังกล่าว มีความเข้มแข็งและรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมร่วมกันอยู่แล้ว โดยใช้พื้นที่ รายละ 2 ไร่ รวมเนื้อที่ประมาณ 54 ไร่ เพื่อเป็นกลุ่มตัวอย่างให้เกษตรกรทั่วไปในการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และวิชาการ
2. การกำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์กระเทียมที่เหมาะสม การบำรุงดิน การเพิ่มผลผลิต และการป้องกันโรคและแมลงต่างๆ รวมทั้งการแปรรูปผลผลิต และการส่งเสริมการตลาด โดยจะเริ่มดำเนินการกับกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยไฟที่เข้าร่วมโครงการ และจะได้ขยายผลการพัฒนาในระยะต่อไป
3. จัดหาพื้นที่ส่วนกลางสำหรับดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตรของกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยไฟ และเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตกระเทียม โดยจังหวัดพะเยาได้บูรณาการพื้นที่ดังกล่าวให้เป็น โครงการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตร โดยมีแผนการดำเนินงานประกอบด้วย
- กิจกรรมวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการผลิต
- กิจกรรมโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิต
- กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน
4. การปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางและอนุรักษ์เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพื้นที่ดังกล่าว และทรงปลูกต้นขนุนไว้เป็นที่ระลึก เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2514 และได้ทรงปลูกต้นขนุนไว้ ที่กองชาวเขาอาสาสมัครที่ 11 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ค่ายกองร้อยทหารพรานที่ 3106 จนปัจจุบันเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว
การดำเนินการในระยะต่อไป
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานในจังหวัดพะเยา ดำเนินการให้ความช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรกลุ่มดังกล่าว เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรโดยรอบต่อไป โดยเริ่มดำเนินการโดยการพัฒนาคุณภาพดินเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก และลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งทดสอบและจัดเตรียมพันธุ์กระเทียมให้เหมาะสมแก่พื้นที่ดังกล่าวด้วย ในระยะต่อไปจะมีการสนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อทำการตลาด รวมถึงถนอมอาหารและการพัฒนาบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับการส่งออกขายสู่ตลาดต่อไป