- หน้าแรก
- แนวคิดทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- การพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
- การพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
การพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
นอกเหนือไปจากการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มพูนรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจในครัว เรือนอันมีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคแล้ว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกโครงการจะผนวกเรื่องของการพัฒนาสังคมและ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนเข้าไว้ด้วยเป็นสำคัญ โดยถือหลักให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสียในชุมชนนั่นเอง ได้เข้ามาร่วมมีส่วนในการตัดสินใจด้วยตนเอง (People Participation) ตั้งแต่เริ่มโครงการ วิธีการนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากทรงเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็นการ ระเบิดจากข้างใน คือ ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียนั้นเองเป็นผู้กำหนดวิถีทางของตนเอง เพื่อเลือกแนวทางการพัฒนา และพร้อมที่จะรับกระแสของการพัฒนาจากข้างนอกที่จะมีเข้ามาในอนาคตหาก วิเคราะห์ถึงการดำเนินงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างเจาะลึก แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงใช้หลักของการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) มานานนับเป็นเวลาหลายสิบปี ก่อนจะเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และเริ่มกระทำกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้ วิธีการทำประชาพิจารณ์ของพระองค์นั้น เป็นวิธีที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาโดยที่จะทรงอธิบายถึงวัตถุประสงค์และผล ที่จะได้รับจากโครงการพัฒนากับพสกนิกรที่มาเฝ้าห้อมล้อมอยู่ หลังจากนั้นจะทรงถามถึงความสมัครใจและกลุ่มที่จะต้องเสียสละในขณะนั้นเลย หลังจากได้มีการตกลงใจโดยเสียงเป็นเอกฉันท์แล้ว ก็ จะทรงเรียกผู้นำท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จนกระทั่งถึงนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มารับทราบและดำเนินการในขั้นต้น เช่น การจัดการในปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ก่อนที่จะพระราชทานให้หน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเชิงบริหาร และวิชาการต่อไปจนเสร็จสิ้นโครงการ
การเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น จะมีทั้งในส่วนของประชาชนและในภาครัฐ จะเห็นได้ชัดเจนในอีกตัวอย่างหนึ่งคือ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งถือเสมือนเป็น " พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นั้น นับได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการบริหารจัดการในระบบราชการไทย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นั่นก็คือ การลดขั้นตอนของการประสานการจัดการที่เคยชินอยู่กับการดำเนินงานระบบ "เอกเทศ" มาเป็นการ่วมกันทำในคราวเดียวกันในทุกสาขา เพื่อให้บริการแก่ประชาชน ณ ที่แห่งเดียว เป็น "ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ" หรือ "one stop services" ที่ หน่วยราชการหลายหน่วยร่วมกันทำงาน โดยมีศูนย์ เป็นศูนย์รวม ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ที่ต้องการความรู้และความช่วยเหลือต้องเสียเวลามากใน การไปรับบริการในแต่ละองค์กร ซึ่งแยกย้ายกันอยู่ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยทั่วไปแล้ว บ่อยครั้งที่เห็นได้ชัดว่าในแต่ละโครงการนั้นได้ผสานวัตถุประสงค์หลากหลาย เข้าไว้ด้วยกัน
กล่าวคือนอกจากเรื่องทางเศรษฐกิจและการยกระดับรายได้ของพสกนิกรแล้วยังปรากฎเรื่อง ของการพัฒนาสังคม การสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับชุมชน การ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตในแง่ขององค์รวม ตลอดจนเรื่องของสังคมจิตวิทยา วิถีชีวิตไทยและวัฒนธรรมอีกด้วย ในพื้นที่พัฒนาบริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อำเภอเมืองจังหวัดสระบุรีนั้น นอกไปจากการนำทฤษฎีใหม่ตามที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นไปศึกษา ทดลองเพื่อเป็นต้นแบบแล้วยังผนวกรวมถึงเรื่องการนำวิถีชีวิตไทยที่ดีงามใน อดีตรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ด้วย โดยได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดสร้างศาลาอเนกประสงค์เพื่อให้พระสงฆ์ ชาวบ้านและส่วนราชการได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และแก้ปัญหาของชุมชนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการทำมาหากินและปัญหาในชีวิตอื่นๆ ในลักษณะของสามประสาน หรือ บ-ว-ร บ้าน วัด และราชการ อีกด้วย ซึ่งวิถีชีวิตไทยในลักษณะนี้น่าจะคงและรักษาไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไทย แนวความคิดเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นพระวิสัยทัศน์และพระสติปัญญาที่ลึกซึ้ง กว้างไกลยิ่งนัก
สรุป แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวนั้น มีอยู่กว้างขวางและหลากหลายครอบคลุมและกี่ยวพันกับกระบวนการพัฒนาหลายสาขา แม้กระนั้นก็ดี แต่ละแนวคิดและทฤษฎีที่ได้พระราชทานไว้นั้น ได้ก่อคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่การสงเคราะห์ช่วยเหลือ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรเป็นอเนกอนันต์ มาโดยตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ แนวคิดและทฤษฎีที่ทรงคิดค้นขึ้นเอง ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถที่ล้ำลึกนั้น ไม่จำกัดลงเฉพาะเรื่องของการเกษตรกรรม เช่น น้ำ ดิน อากาศ และการเพาะปลูกเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่งของการบริหารจัดการ เรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนด้านการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย การสงเคราะห์ช่วยเหลือพสกนิกรโดยเฉพาะผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารนั้น ได้เสริมสร้างความมั่นคงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศชาติเป็นส่วน รวม เป็นการแบ่งเบาภาระ อุดช่องว่าง และเสริมงานด้านการพัฒนาประเทศของรัฐบาลอย่างประสานสอดคล้องกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานหนักตรากตรำมาจนถึงบัดนี้ นับเป็น 50 ปี จวบจนกระทั่งเวลาถึงพระราชพิธีกาญจนาภิเษก อันเป็นที่ปลื้มปิติแก่พสกนิกรทั้งปวง ดังนั้น เพื่อจดบันทึกไว้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ แนวคิดและทฤษฏีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระองค์ จึงสมควรที่จะได้รับการศึกษาวิเคราะห์และรวบรวมไว้เป็นครั้งแรกด้วยความ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะเนื่องในมหาวโรกาสที่ยิ่งใหญ่นี้