- หน้าแรก
- แนวคิดทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ป่าไม้ของประเทศไทยถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วตามแรงหนุนเนื่องของประชากรที่เพิ่มขึ้นผนวกกับพลังผลักดันทางเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรีที่มุ่งค้าขาย โดยใช้ป่าเป็นตัวสำคัญเชิงพาณิชย์ การเช่นนี้ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งเนื่องจากต้นน้ำลำธารถูกทำลาย ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อยามน้ำหลากก็เกิด้ำท่วมฉับพลันและมีการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จนเป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร กลายเป็นทุกข์ร้อนของแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวยิ่งนัก โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มเสด็จเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติเป็นต้นมา
ป่าไม้สาธิต... พระราชดำริเริ่มแรกส่วนพระองค์
ในระยะต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีชันธ์เป็นประจำแทบทุกปี โดยในระยะแรกจะเสด็จฯ ด้วยรถไฟพระที่นั่ง ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมดีขึ้น จึงเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่ง ประมาณปี พ.ศ. 2503-2504 ขณะเสด็จพระราชดำเนินผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรีและเพชรบุรี เมื่อรถยนต์พระที่นั่งผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีนั้น มีต้นยางขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายทั้งสองข้างทาง จึงได้มีพระราชดำริที่จะสงวนบริเวณป่ายางนี้ไว้ให้เป็นส่วนสาธารณะ แต่ในระยะนั้นไม่อาจดำเนินการได้เนื่องจากต้องจ่ายเงินค่าทดแทนในอัตราที่สูง เพราะมีราษฎรมาทำไร่ทำสวนในบริเวณนั้นจำนวนมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มทดลองปลูกต้นยางด้วยพระองค์เอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้ทรงปลูกต้นยางนั้นในแปลงป่าไม้ทดลองในบริเวณแปลงทดลองปลูกต้นยางนาพร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 จำนวน 1,250 ต้น ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดาในลักษณะป่าไม้สาธิต นอกจากนี้ยังได้สร้างพระตำหนักเรือนต้นในบริเวณป่าไม้สาธิตนั้นเพื่อทรงศึกษาธรรมชาติวิทยาของป่าไม้ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งในปี พ.ศ. 2508
แนวพระราชดำริด้านป่าไม้: ทรงคิดค้นนานาวิธีที่จะอนุรักษ์ป่าไม้ให้ยืนยง
ทรงสร้างความตระหนักให้มีความรักป่าไม้ด้วยจิตสำนึกร่วมกัน (Awareness and Sharing Participation) มากกว่าวิธีการใช้อำนาจบังคับ
ณ หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ ในปี พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการปลูกต้นไม้ 3 ชนิด ที่แตกต่างกัน คือ ไม้ผล ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ เพื่อจะทำให้เกิดป่าไม้แบบผสมผสานและสร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของรัฐและวิถีประชาในชุมชนประการสำคัญนั้นมีพระราชดำริที่ยึดเป็นทฤษฎีการพัฒนาด้านป่าไม้โดยปลูกฝังจิตสำนึกแก่ประชาชนว่า
...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็พากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...นับเป็นทฤษฎีที่เป็นปรัชญาในด้านการพัฒนาป่าไม้ที่ยิ่งใหญ่โดยแท้
ทฤษฎีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกตามหลักการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฎธรรมชาติ (Natural Reforesrtation)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณป่าไม้ลงเป็นอย่างมาก จึงทรงพยายามค้นหาวิธีนานาประการที่จะเพิ่มปริมาณของป่าไม้ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นคงและถาวร โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริหลายวิธี คือ
ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ด้วยวิธีการ 3 วิธี คือ
- ...ถ้าเลือกได้ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว..
- ...ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น..
- ...ในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีกถึงแม้ต้นไม่นสวยแต่ก็เป็นไม้ใหญ่ได้..
ปลูกป่าในที่สูงทรงแนะนำวิธีการ ดังนี้
- ...ใช้ไม้จำพวกที่มีเมล็ดทั้งหลายขึ้นไปปลูกบนยอดที่สูง เมื่อโตแล้วออกฝักออกเมล็ดก็จะลอยตกลงมาแล้วงอกเองในที่ต่ำต่อไป เป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ...
ปลูกป่าต้นน้ำลำธาร หรือ การปลูกป่าธรรมชาติ ทรงเสนอแนวทางปฏิบัติว่า
ปลูกต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิม คือ...ศึกษาดูก่อนว่าพืชพันธุ์ไม้ดั้งเดิมมีอะไรบ้าง แล้วปลูกแซมตามรายการชนิดต้นไม้ที่ศึกษาได้...
งดปลูกไม้ผิดแผกจากถิ่นเดิม คือ...ไม่ควรนำไม้แปลกปลอมต่างพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาปลูกโดยยังไม่ได้ศึกษาอย่างแน่ชัดเสียก่อน...
การปลูกป่าทดแทน
ในขณะนี้ประเทศไทยเรามีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศประมาณการได้เพียง 80 ล้านไร่เท่านั้น หากจะเพิ่มเนื้องที่ป่าไม้ให้ได้ประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศแล้ว คนไทยจะต้องช่วยกันปลูกป่าถึง 48 ล้านไร่ ดยใช้กล้าไม้ปลูกไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านต้น ใช้เวลาถึง 20 ปี จึงจะเพิ่มป่าไม้ได้ครบเป้าหมายที่กำหนดไว้เท่านั้น
การปลูกป่าทดแทนจึงเป็นแนวทฤษฏีการพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานมรรควิธีในการปลูกป่าทดแทน เพื่อคืนธรรมชาติสู่แผ่นดินด้วยวิถีทางแบบผสมผสานกันในเชิงปฏิบัติดังพระราชดำริความตอนหนึ่งว่า
...การปลูกป่าทดแทนจะต้องทำอย่างมีแผนโดยการดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาชาวเขาในการนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชลประทาน และฝ่ายเกษตรจะต้องร่วมมือกันสำรวจต้นน้ำในบริเวณพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อวางแผนปรับปรุงต้นน้ำและพัฒนาอาชีพได้อย่างถูกต้อง...
วิธีการปลูกป่าทดแทน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำแนะนำให้มีการปลูกป่าทดแทนตามสภาพภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ที่เหมาะสมกล่าวคือ
ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแผ้วถางและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
...การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้น แล้วจำต้องปลูกป่าทดแทนเร่งด่วนนั้นควรจะทดลองปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วคลุมแนวร่องน้ำเสียก่อน เพื่อทำให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า เพราะไฟจะเกิดง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น ในปีต่อไปก็ให้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ถัดขึ้นไป ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างต่อไปอีก ต้นไม้จะงอกงามดีตลอดทั้งปี...
การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา
...จะต้องปลูกต้นไม้หลายๆ ชนิด เพื่อให้ได้ประโยชน์อเนกประสงค์ คือ มีทั้งไม้
ผล ไม้สำหรับก่อสร้างและไม้สำหรับทำฟืน ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ซึ่งเมื่อตัดไม้ใช้แล้ว ก็ปลูกทดแทนหมุนเวียนทันที...
การปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินสูง
...ต้องมีการปลูกป่าโดยปลูกไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎร
สามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย...
4.ให้มีการปลูกป่าที่ยอดเขา เนื่องจากสภาพป่าบนที่เขาสูงทรุดโทรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำตอนล่าง และคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีเมล็ดเป็นฝักเพื่อให้เป็นกระบวนการธรรมชาติปลูกต่อไปจนถึงตีนเขา
5.ปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือเหนืออ่างเก็บน้ำที่ไม่มีความชุ่มชื้นยาวนานพอ
6.ปลูกป่าเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำและแหล่งน้ำให้มีน้ำสะอาดบริโภค
7.ปลูกป่าให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยให้ราษฎรในท้องที่นั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า
8.ปลูกป่าเสริมธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า
บัดนี้ ในหลายโครงการที่เป็นการปลูกป่าทดแทนตามแนวพระราชดำริได้บรรลุผลสัมฤทธิ์น่าพึงพอใจ อาทิเช่น โครงการปลูกป่าชัยพัฒนาแม่ฟ้าหลวง ที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย และที่หนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการปลูกสร้างสวนป่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ โครงการสวนป่าสิริเจริญวรรษ จังหวัดชลบุรี โครงการปลูกป่าห้วยองคต จังหวัดกาญจนบุรี โครงการปลูกป่าเสริมธรรมชิตในและนอกเขตภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เป็นต้น
5.การปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง :การรู้จัดใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยพระปรีชาญาณอย่างชาญฉลาดให้เกิดประโยชน์แก่ปวงชนมากที่สุดยาวนานที่สุดและทั่วถึงกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ทั้งด้านเกษตรวนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมไว้เป็นมรรควิธีปลูกป่าแบบลักษณะเบ็ดเสร็จนั้นไว้ด้วย
ลักษณะทั่วไปของป่า 3 อย่าง
พระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างนั้น มีพระราชดำรัส ความว่า...ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม่หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวยผลไม้ก็ตามหรือเป็นสวนมฟืนก็ตามนั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้...
ประโยชน์ที่ได้รับ
ในการปลูกป่า 3 อย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชาธิบายถึงประโยชน์ในการปลูกป่าตามพระราชดำริว่า
...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่แล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย...
และได้มีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า
...การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ...
พระราชดำริเพื่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ดำเนินการในหลายส่วนราชการ ทั้งกรมป่าไม้และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่ง คือ การปลูกป่าใช้สอย โดยดำเนินการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วสำหรับตัดกิ่งมาทำฟืนเผาถ่าน ตลอดจนไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างและหัตถกรรมส่วนใหญ่ได้มีการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วเป็นสวนป่า เช่น ยูคาลิปตัส ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์ และสะเดา เป็นต้น
วิธีการปลูกป่าเพื่อทดแทนหมุนเวียน
นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกป่าเพื่อใช้ทำฟ้นว่า
...การปลูกป่าสำหรับใช้เป็นฟืนซึ่งราษฎรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ในการนี้จะต้องคำนวณเนื้อที่ที่จะใช้ปลูก เปรียบเทียบกับจำนวนราษฎรตลอดจนการปลูกและตัดต้นไม้ไปใช้ จะต้องใช้ระบบหมุนเวียนและมีการปลูกทดแทน อันจะทำให้มีไม้ฟืนสำหรับใช้ตลอดเวลา
พระราชดำริ ป่าเปียก ทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงคุณค่าอเนกอนันต์ของน้ำเป็นยิ่งนัก ทรงคำนึงว่าทุกสรรพสิ่งในสภาพแวดล้อมของมนุษย์นั้นจะเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ หากรู้จักนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ เฉกเช่นเดียวกับพระราชดำริ ป่าเปียก เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่านั้น จึงเป็นมรรควิธีที่ทรงคิดค้นขึ้น จากหลักการที่แสนง่ายแต่ได้ประโยชน์มหาศาล กล่าวคือ ยามที่เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นคราใดผู้คนส่วนใหญ่ก็มักคำนึงถึงการแก้ปัญหาด้วยการระดมสรรพกำลังกันดับไฟป่าให้มอดดับอย่างรวดเร็ว แต่แนวทางป้องกันไฟป่าระยะยาวนั้นยังดะเลือนลางในการวางระบบอย่างจริงจังพระราชดำริป่าเปียกจึงเป็นแนวพระราชดำริหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำการศึกษาทดลองจนได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
วิธีการสร้าง ป่าเปียก
วิธีการแรก: ทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกตามแนวคลองนี้
วิธีที่สอง: สร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก โดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน
วิธีที่สาม:โดยการปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นและแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่าเพราะไฟป่าจะเกิดขึ้นง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น
วิธีที่สี่:โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่า Check Dam ขึ้น เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านกลายเป็น ป่าเปียก
วิธีที่ห้า : โดยการสูบน้ำเข้าไปในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อยให้ค่อยๆ ไหลซึมดิน เพื่อช่วยเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูงในรูป ภูเขาป่า ให้กลายเป็น ป่าเปียก ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย
วิธีที่หก :ปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่า ประมาณ 2 เมตร หากเกิดไฟไหม้ป่าก็จะปะทะต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชอื่นทำให้ลดการสูญเสียน้ำลงไปได้มาก
แนวพระราชดำริป่าเปียก จึงนับเป็นทฤษฎีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความชุ่มชื้นเป็นหลักสำคัญที่จะช่วยให้ป่าเขียวสดอยู่ตลอดเวลาไฟป่าจึงเกิดได้ยากการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลดียิ่ง
พระราชดำริ ภูเขาป่า: ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความรู้เบื้องต้น
ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นหลักการดำเนินการ
การสร้างภูเขาป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นมรรควิธีหนึ่งที่พระราชทานแนวคิดอันเป็นทฤษฎีการพัฒนา อันเป็นมิติใหม่แก่วงการป่าไม้ 2 ประการ คือ
ประการแรก หากมีน้ำใกล้เคียงบริเวณนั้นโดยมีพระราชดำรัสว่า
...ควรสำรวจแหล่งน้ำเพื่อการพิจารณาสร้างฝายขนาดเล็กปิดกั้นร่องน้ำในเขตต้นน้ำลำธารทั้งนี้เพื่อแผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปให้กว้างขวางอันจะช่วยฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่สูงให้สมบูรณ์ขึ้น บริเวณดังกล่าวจะได้กลายเป็น ภูเขาป่า ในอนาคตซึ่งหมายความว่ามีต้นไม้นานาชนิด ซึ่งปกคลุมดินในอัตราหนาแน่นที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศแต่ละแห่ง ต้นไม้เหล่านั้นจะมีผลช่วยรักษาระดับความชุ่มชื้นในธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะไม่แห้งแล้งเกินไป และยังช่วยยึดผิวดินอันมีค่าไม่ให้ถูกน้ำเซาะทลายลงมายังพื้นที่ราบอีกด้วย...
ประการที่สองหากไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่เพื่อฟื้นฟูป่าไม้ในบริเวณภูเขาเสื่อมโทรม มีพระราชดำรัสว่า
...ให้พิจารณาส่งน้ำขึ้นไปยังจุดที่สูงที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจ่ายน้ำลงไปหล่อเลี้ยงกล้าไม้อ่อนที่ปลูกทดแทนไว้บนภูเขาได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งซึ่งกล้าไม้มักมีอัตราสูญเสียค่อนข้างสูง เมื่อกล้าไม้เจริญเติบโตพอสมควรจนสามารถทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งได้แล้วในอนาตคภูเขาในบริเวณดังกล่าวก็จะคืนสภาพเดิมเป็นภูเขาป่าที่จะมีความชุ่มชื้นพอสมควร ตลอดจนจะช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในตอนล่างไม่ให้กลายเป็นดินแดนแห้งแล้ง...
ซึ่งต่อมาได้พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า
....จะต้องพยายามสูบน้ำขึ้นไปทีละชั้นจนถึงระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยพิจารณาใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์กับพลังงานลม ซึ่งมีใช้งานอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อจะได้มิเปลืองเชื้อเพลิง เมื่อนำน้ำขึ้นไปพัก ณ ระดับสูงสุดได้แล้ว จะสามารถปล่อยน้ำให้ค่อยๆ ไหลซึมลงมา เพื่อช่วยเร่งรัดการปลูกป่าไม้ที่มีทั้งพันธุ์ไม้ป้องกันกับไม้โตเร็ว นอกจากนั้นจยังจะแปรสภาพโครงการภูเขาป่า ให้เป็นป่าเปียกซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย...
ภูเขาป่าที่เขียวขจีจากแนวพระราชดำรินี้สามารถพบเห็นและเข้าศึกษาวิธีการอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายแห่งด้วยกันโดยเฉพาะที่เด่นชัดคือ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
แนวพะราชดำริทฤษฎีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้โดยการใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวย
สัมพันธ์ซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด : Check Dam
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่งทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่ง กล่าวคือ ปัญหาที่สำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น น้ำ คือ สิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำ หรือเรียกว่า Check Dam หรืออาจะเรียกขานกันว่า ฝายชะลอความชุ่มชื้นก็ได้เช่นกัน
Check Damคือ สิ่งก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลเทลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่างนับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชาธิบายว่า การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น
...จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย...
ในส่วนของรูปแบบและลักษณะ Check Damนั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า
...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...
ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงแยกออกเป็น 2 ประเภท ดังพระราชดำรัส คือ
...Check Dam มี 2 อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้นรักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่...
จึงอาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้น ประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นฝายดักตะกอนนั่นเอง การสร้าง Check Dam พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า
...สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึก เพราะทรายลงมากจะกักเก็บไว้ ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ได้ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไรไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ
...ให้ดำเนินการสำรวจหาทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูงที่ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นจะต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ปริมาณมากพอสมควรเป็นเวลานาน 2 เดือน...การเก็บรักษาน้ำสำรองได้นานหลังจากฤดูฝนผ่านไปแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำหล่เลี้ยงและประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรงและโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้...
Check Dam ตามแนวพระราชดำริ กระทำได้ 3 รูปแบบ คือ
1. Check Dam แบบท้องถิ่นเบื้องต้น เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น กิ่งไม้ และท่อนมั้ล้มขอนนอนไพร ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วย ซึ่งเป็นการก่อสร้างแบบง่ายๆ ก่อสร้างในบริเวณตอนบนของลำห้วยหรือร่องน้ำซึ่งจะสามารถดักตะกอน ชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณรอบวฝายได้เป็นอย่างดี วิธีการนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยมาก หรืออาจไม่มีค่าใช้จ่ายเลยนอกจากใช้แรงงานเท่านั้น
การก่อสร้าง Check Dam แบบง่ายนี้ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- ก่อสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยหิน
- ก่อสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยถุงบรรจะดินหรือทราย
- ก่อสร้างแบบคอกหมูแกนดินอันขนาบด้วยหิน
- ก่อสร้างแบบเรียงด้วยหินแบบง่าย
- ก่อสร้างแบบคอกหมูหินทิ้ง
- ก่อสร้างแบบหลักคอนกรีตหินทิ้ง
- ก่อสร้างแบบถุงทรายซีเมนต์
- ก่อสร้างแบบคันดิน
- ก่อสร้างแบบคอกหมูถุงทรายซีเมนต์
- ก่อสร้างแบบหลักไม้ไผ่สานขัดกัน อันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน
- Check Dam แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร ก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนัง
กั้นน้ำก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้บางส่วน
3. Check Dam แบบคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นการก่อสร้างแบบถาวรส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างเฉลี่ยประมาณ 40,000-50,000 บาท แล้วแต่ขนาดของลำห้วยซึ่งควรมีความกว้างไม่เกิน 4 เมตร
ข้อคำนึงในการสร้าง Check Dam
- ควรสำรวจสภาพื้นที่วัสดุก่อสร้างตามธรรมชาติ และรูปแบบ Check Dam ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศมากที่สุด
- ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงให้มากพอที่จะไม่เกิดการพังทลายเสียหายยามที่ฝนตกหนักและกระแสน้ำไหลแรง
- ควรก่อสร้างในพื้นที่ที่ช่องลำห้วยมีความลาดชันต่ำ เพื่อที่จะได้ Check Dam ในขนาดที่ไม่เล็กเกินไป อีกทั้งยังสามารถกักน้ำและตะกอนได้มากพอสมควร และในลำห้วยที่มีความลาดชันสูงก็ควรสร้าง Check Dam ให้ถี่ขึ้น
- วัสดุก่อสร้าง Check Damประเภทกิ่งไม้ ท่อนไม้ ที่นำมาใช้ในการสร้างจะต้องระมัดระวังใช้เฉพาะไม้ล้มขอนนอนไพรเป็นลำดับแรกก่อนที่จะใช้กิ่งไม้ ท่อนไม้จากการริดกิ่ง ถ้าจำเป็นให้ใช้น้อยที่สุด
- ถ้าสร้าง Check Dam แบบคอกหมูแกนดินอันแน่น ควรมีทางระบายน้ำด้านข้างเพื่อป้องกันน้ำกัดชะสันฝายจากการที่มีฝนตกหนักจนมีน้ำหลากมาก
- ควรปลูกยืนต้นยึดดินบนสันฝาย เช่น ไคร้น้ำ หรือไม้ชนิดอื่น ๆ ที่สามารถขึ้นได้ดีบนที่ชื้น
- ควรดำเนินการก่อสร้าง Check Dam หลังฤดูฝนหรือหลังน้ำหลาก และทุกปีควรมีการบำรุงรักษา ขุดลอกตะกอน ซ่อมแซมสันฝายและทางระบายน้ำล้นอยู่เป็นประจำ
- แนวทางที่เหมาะสมในการสร้าง Check Dam
ก่อนดำเนินการควรสำรวจร่องน้ำลำห้วยในพื้นที่ที่มีปัญหาการพังทลายของดิน หรือปัญหาพื้นที่ขาดความชุ่มชื้น โดยพิจารณาถึงความลาดชันของร่องน้ำและสำรวจหาข้อมูลปริมาณน้ำไหลในร่องน้ำมาใช้ประกอบการเลือกตำแหน่งสร้าง Check Dam ดังนี้
- ในพื้นที่ลาดชันสูงในกรณีที่ความกว้างของลำห้วยไม่เกิน 2 เมตร ควรสร้างฝายผสม ใช้วัสดุธรรมชาติ ไม้ท่อน หิน ถุงบรรจุดินหรือทรายแต่ถ้าความกว้างของลำห้วยมากกว่า 2 เมตร หรือในลำห้วยมีน้ำมาก ควรเพิ่มโครงสร้างของ Check Dam เป็นแบบคอกหมูที่มีโครงสร้างหลายระดับมากน้อยตามปริมาณน้ำ
- ในพื้นที่ลาดชันปานกลาง ควรสร้าง Check Dam แบบคอกหมูหรือแบบท้องถิ่นของชาวบ้าน ถ้าเป็นแบบคอกหมูให้ใช้หินเรียงหรือกระสอบทรายผสมซีเมนต์ขนาบโครงสร้าง
- ในพื้นที่ลาดชันต่ำในกรณีที่มีน้ำมากควรสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กแต่ถ้ามีน้ำไม่มากนักและความกว้างไม่เกิน 2 เมตร อาจใช้ถุงทรายผสมซีเมนต์ได้
นานาประโยชน์จาก Check Dam อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- ช่วยลดการพังทลายของดินและลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ความชุ่มชื้นมีเพิ่มขึ้น และแผ่ขยายกระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของลำห้วย
- ช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วยได้ดี เป็นการช่วยยืดอายุแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง คุณภาพของน้ำมีตะกอนปะปนน้อยลง
- เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ จากการที่ความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น ความหนาแน่นของพันธุ์พืชก็ย่อมจะมีมากขึ้น
- การที่สามารถทำให้เกิดเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ตลอดจนนำไปใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย
Check Dam จึงนับเป็นพระราชดำริที่เป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้ที่ยังประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติทั้งมวล
ทฤษฎีการอนุรักษืและพัฒนา ป่าชายเลน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ : แนวทางการสร้างวงจรของระบบนิเวศน์ด้วยการปกปักอนุรักษ์และขยายพันธุ์ไม้ป่าชายเลน
ป่าชายเลน เรียกชื่อกันหลายอย่างว่า ป่าชายเลนน้ำเค็ม และป่าเลน หรือบางแห่งเรียก ป่าโกงกางเป็นป่าที่เกิดขึ้นตามชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำของประเทศไทย ลักษณะของป่าชนิดนี้เป็นป่าไม้ผลัดใบ มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นแต่ละชนิดมีรากค้ำยัน หรือรากหายใจแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของต้นไม้นั้นๆ
ตลอดแนวชายฝั่งทะเลไทยยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตร มีส่วนที่เป็นป่าชายเลนอยู่เพียงประมาณร้อยละ 36 ของความยาวชายฝั่งเท่านั้นปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่ประมาณ 1,679,335 ไร่ โดยลดลงประมาณเกือบร้อยละ 50 จากที่เคยมี 2,229,375 ไร่ ในปี พ.ศ. 2504 ป่าชายเลนในประเทศไทยขึ้นอยู่กระจัดกระขายตามชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และด้านทะเลอันดามัน
การบุกรุกทำลายป่าชายเลนดำเนินการอย่างต่อเนื่องและรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เฉลี่ยล่วยปี พ.ศ. 2522-2529 ป่าชายเลนลดลงปีละ 81,142 ไร่ สภาพป่าชายเลนโดยทั่วๆ ไป พบว่า ทางภาคใต้ของประเทศไทยแถบฝั่งทะเลอันดามันมีสภาพค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ส่วนทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยและภาคกลางบริเวณปากอ่าวไทยมีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม ประกอบด้วยไม้ขนาดเล็กและถูกรบกวนจากมนุษย์ในการเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนเป็นนากุ้ง นาเกลือ และแหล่งอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับภาคตะวันออก การทำนากุ้งได้ส่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ป่าชายเลนยังถูกทำลายด้วยเหตุอื่นอีกเช่น การทำเหมืองแร่ การเกษตรกรรมบางประเภท การขยายตัวของชุมชน การสร้างท่าเทียบเรือ การสร้างถนนและพาดสายไฟฟ้า รวมทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้จำนวนป่าชายเลนลดลงอย่างที่มิอาจประมาณการได้
ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงปัญหาและความสำคัญยิ่งของป่าชายเลนดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายโฆษิตปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าวในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 สรุปแนวพระราชดำริว่า
....ป่าชายแลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไป โดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยพาะต้นโกงกางเป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป...
การสนองพระราชดำริด้านอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลน
โครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนในเขตพื้นที่เป้าหมายของจังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่บังเกิดขึ้นด้วยกระแสพระราชดำริร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 โดยได้พระราชทานพระราชกระแสกับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และนายสุเมธตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้ร่วมกันเป็นแกนกลางในการดำเนินการปลูกป่าพระราชทานแก่ประชาชนทั้งมวล ในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเฉลิมสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยทรงตั้งมั่นในพระราชหฤทัยที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้มีสภาพยั่งยืนถาวรยาวนาน
การดำเนินการปลูกป่าชายเลน ป่าพระราชทานมูลนิธิชัยพัฒนา-มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จังหวัดสงขลา และปัตตานีนั้น มีองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชน คือ มูลนิธิโททาล (Total) สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินการปลูกป่าชายเลนภายใต้โครงการย่อย 3 โครงการ คือ
- โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
- โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
- โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูป่าชายเลน อำเภอหนองจิก
จังหวัดปัตตานี
โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ที่จะทำการพัฒนาชุมชนให้มี่ความสำนึกตระหนักในความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนนี้เคยพึ่งพิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทยมาเป็นเวลาช้านาน
รูปแบบของการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนที่ตำบลหัวเขา จึงเป็นอีกมิติหนึ่งของการพัฒนาป่าไม้ที่อาศัยความเกี่ยวพันและเกื้อกูลซึ่งกันและกันของมนุษย์และธรรมชาติ
วัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ
1. รักษาสภาพแวดล้อมและสนับสนุนการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยของชุมชน และเพิ่มผลผลิตของสัตว์น้ำที่จะเสนอทางเลือกของการทำการประมงที่ทางการอนุญาต เช่น อวนลอย
2. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับป่าชายเลนที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตและชุมชน ตลอดจนสามารถประสานสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้องได้อย่างคล่องตัว
3. เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่าชายเลนและสร้างทัศนคติให้เกิดความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน
การปลูกป่าชายเลนที่ตำบลหัวเขา ใช้วิธีการหลายรูปแบบในการดำเนินงาน อาทิเช่น
สร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนยอมรับปฏิบัติและร่วมงานปลูกป่า โดยใช้วิธีการปลูกฝังจิตสำนึกสร้างความคุ้นเคยและประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
จัดการประชุมปรึกษาร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในการเตรียมงานการปลูกป่า ซึ่งทางชุมชนได้จัดสร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ และหากล้าไม้มาร่วมกันปลูกป่าชายเลนกับส่วนราชการ ภาคเอกชนและองค์กรต่าง ๆ อย่างเต็มที่
มีการรวมตัวกันของประชาชนก่อตั้ง ชมราอนุรักษ์ป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา ขึ้นโดยมีคณะกรรมการของชมรมประกอบด้วยสมาชิกทั้ง 8 หมู่บ้านของตำบลหัวเขา ร่วมกันดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น
- การดูแลรักษาเรือนเพาะชำ
- การกั้นรั้วบริเวณเขตป่า
- การทำความเข้าใจกับชาวประมงในการดูแลรักษาป่า
บัดนี้การปลูกป่าชายเลนโดยประชาอาสานี้ได้มีการปลูกป่าชายเลนร่วมกันอย่างสม่ำเสมอเป็นครั้งคราวตามโอกาสและวาระอันควร และได้ปลูกป่าชายเลนไปแล้วประมาณ 300 ไร่
พระราชดำริด้านป่าชายเลน จึงเป็นบทพิสูจน์ว่ามีคุณค่าสมควรที่จะอนุรักษ์และพัฒนาไว้เป็นอย่างยิ่ง
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง
ตั้งอยู่ที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีป่าชายเลนผืนใหญ่มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 9,080 ไร่สภาพป่าทั่วไปจัดได้ว่าเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์มากและยังประโยชน์แก่ชุมชนรอบด้านทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของกุ้ง หอย ปู ปลา ที่อุดมสมบูรณ์และชุกชุมเป็นอย่างมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม มีอาชีพทำการประมงขนาดเล็กโดยอาศัยทำกินในป่าแห่งนี้ รวมทั้งมีการใช้พื้นที่บางส่วนเลี้ยงปลากระพงขาวในกระชังตามลำแม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนเลี้ยงกุ้งกุลาดำหลังแนวเขตป่านี้ด้วย
การจัดทำโครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการัดการและสงวนรักษาป่าชายเลน โดยมีเจตนารมย์ที่จะให้ทุกฝ่ายมีความรู้ ความเข้าใจในสภาพสมดุลตามธรรมชาติของป่าชายเลน และสร้างความร่วมมือรวมพลังกันระหว่างชุมชนและนักวิชาการที่จะผดุงรักษาป่าชายเลนไว้ให้ยั่งยืนนาน
การจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน จะทำหน้าที่เสริมสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของบริเวณที่ชุมชนอาศัยอยู่ และร่วมคิดหาแนวทางส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เช่น การร่วมกันปลูกป่าชายเลนให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ให้มีการจัดการด้านป่าชายเลนที่ถูกต้องเหมาะสมกับท้องถิ่น เป็นต้น ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับป่าชายเลนได้รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการด้านป่าชายเลนแก่สาธารณชนทั่วไป
การจัดสร้างศูนย์ธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่งนี้ ได้ดำเนินการออกแบบที่ตระหนักถึงการให้ความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติและความกลมกลืนที่ไม่กระทบกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นดั้งเดิมทางเดินป่าชายเลนยะหริ่ง (The MangroveTrail) ยาวประมาณ 1,500 เมตร คือเป้าหมายที่จะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ด้วยการเข้าไปทำการสำรวจและสัมผัสธรรมชาติป่าชายเลนได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะสร้างความประทับใจและรู้แจ้งเห็นจริงในการศึกษาด้านนี้โดยตรง เนื่องจากทางเดินธรรมชาติจะผ่านจุดแสดงข้อมูต่างๆ ที่น่าสนใจในป่าชายเลนโดยมีคำอธิบายการดำรงอยู่ของระบบนิเวศน์ป่าชายเลนให้เข้าใจอย่างแจ่มชัด ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาและอนุรักษ์ป่าชายเลนในแหล่งอื่นต่อไป
โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูป่าชายเลน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
สภาพพื้นที่แห่งนี้เป็นสภาพป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมมาก แม้กรมป่าไม้ได้พยายามฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 12 ปีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้บริเวณดังกล่าวนี้ปราศจากการที่ป้องกันลม ที่จะลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะทำการฟื้นฟูปลูกป่าชายเลนได้นั้นมีเพียง 213 ไร่ และปัจจุบันได้เพิ่มความพยายามในการค้นหาแนวทางพัฒนาฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพอุดมสมบูรณ์ดังเดิมด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การขุดแพรกเพื่อให้น้ำหล่อดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
ทฤษฎีการพัฒนาป่าชายเลนอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเป็นหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานเพื่อความผาสุขสมบูรณ์แก่แผ่นดินไทยอย่างแท้จริง
ป่าชายเลนหลายแห่งของประเทศไทยจึงบังเกิดขึ้นในลักษณะที่คืนสู่ธรรมชาติพิสุทธิ์อันสมบูรณ์ดังเดิม เช่น ป่าชายเลนที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ป่าชายเลนที่จังหวัดระนอง พังงา และสตูลรวมทั้งที่จังหวัดเพชรบุรีและสมุทรสงครามคงเป็นบทพิสูจน์ถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงสอดส่องในสิ่งแวดล้อมของพระมหากษัตริย์ไทยนักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้
การอนุรักษ์และพัฒนา ป่าพรุ ทฤษฎีการพัฒนาโดยหลักการที่ทรงเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้วยการปรับปรุงสภาพป่าให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศน์มากที่สุด
ป่าพรุ เป็นป่าไม้ทึบ ไม้ผลัดใบประเภทหนึ่ง ซึ่งเหลืออยู่เพียงผืนเดียวในภาคใต้ของประเทศไทย มีลักษณะเด่นชัด คือ เป็นป่าดงดิบที่มีน้ำท่วมขังทั่วทั้งบริเวณ ป่าพรุเกิดจากธรรมชาติสร้างขึ้นโดยสาเหตุที่คลื่นลมทะเลซัดดินทรายชายฝั่งปิดกั้นเป็นแนวสันเขื่อนจนกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เมื่อซากพืชหล่นทับถมมากขึ้นในน้ำแช่ขังนี้ ก็จะเกิดปฎิกิริยาให้เกิดน้ำและดินเปรี้ยวตามลำดับ
ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าพรุรวมทั้งสิ้น 4,000,000 ไร่ ป่าพรุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่กระจายอยู่ในแนวเหนือใต้ด้านตะวันออกของพื้นที่จังหวัด มีเนื้อที่ประมาณ 290,000 ไร่ ประกอบด้วยพรุขนาดใหญ่ 3 แห่ง
- พรุโต๊ะแดง
- พรุบาเจาะ
- พรุกาบแดง
พรุโต๊ะแดงจัดได้ว่าเป็นพรุที่มีสภาพป่าพรุซึ่งยังคงสภาพไว้อย่างสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 216,500 ไร่ พื้นที่ป่าติดต่กันเป็นป่าขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอพื้นที่ป่าพรุในจังหวัดนราธิวาสทั้งหมดนี้ประกอบด้วย
- ป่าพรุที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ 60,525 ไร่
- ป่าพรุเสื่อมโทรม 33,525ไร่
- ป่าเสม็ดขาว 91,250 ไร่
- ทุ่งหญ้า 61,350 ไร่
- พื้นที่กสิกรรม 27,275 ไร่
- พื้นที่อื่น ๆ (หมู่บ้าน ป่าละเมาะและแม่น้ำ) 16,075 ไร่
พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกบุกเบิกเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร แต่เนื่องจากพื้นที่พรุใน
จังหวัดนราธิวาสมีลัษณะทางกายภาพที่ไม่เหมาะสมอยู่หลายประการ ดังนั้นการพัฒนาดังกล่าวจึงดำเนินการไปด้วยความยากลำบากและยังประโยชน์ไม่เต็มที่หากยังใช้ประโยชน์โดยปราศจากการจัดการที่เหมาะสม สภาพแวดล้อมของพื้นที่พรุก็ยิ่งจะมีแนวโน้นสูงขึ้นในการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมโทรมได้ง่าย
ที่มาของแนวพระราชดำริพัฒนาและฟื้นฟูป่าพรุ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันศึกษาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอันสืบเนื่องมาจากพรุซึ่งในระยะแรกของการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐษนไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ในปี พ.ศ. 2517 ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ในหน้ามรสุมราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากมีน้ำไหลบ่าลงมาท่วมพรุเข้าไร่นาเสียหาย จึงมีพระราชดำริเพื่อความร่วมมือกันระบายน้ำจากพรุธรรมชาติทั้งหลายนี้ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดการระบายน้ำออกจากพรุทำให้ทรงพบว่ามีสภาพดินเปรี้ยวเกิดขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง กระทั่งเมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นในปี พ.ศ. 2525 จึงได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานในการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน
การสนองพระราชดำริด้วยการกำหนดเขตการใช้ที่ดินในบริเวณพื้นที่ป่าพรุ
สืบเนื่องจากที่ราษฎรส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ป่าพรุอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการทำให้พื้นที่ป่าพรุบางแห่งเสื่อมโทรมจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป ต้องปล่อยทิ้งร้างไว้ตามสภาพธรรมชาติก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะราษฎรที่อาศัยอยู่รอบพื้นป่า โดยทั่วไปมีฐานะทางเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรให้ผลผลิตต่ำมาก ราษฎรก็ไม่มีความรู้ในการที่จะแก้ไขพื้นที่นั้นให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้การพัฒนาจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กำหนดเขตการใช้ที่พื้นที่ดินบริเวณพื้นที่พรุในจังหวัดนราธิวาส เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกเป็น 3 เขต คือ
1. เขตป่าสงวน (Preservation Zone) เป็นบริเวณพื้นที่พรุที่ยังคงนสภาพเป็นป่าธรรมชาติอย่างสมบูรณ์และยังไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์ เนื่องที่ประมาณ 56,907 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของพรุโต๊ะแดง ในเขตอำเภอตากใบอำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก-ลกและพื้นที่ทางตอนใต้ของพรุบาเจาะในเขตอำเภอเมืองและอำเภอยี่งอ ปกติพื้นที่ป่ามีน้ำท่วมขังเกือบตลอดปีในฤดูฝนระดับน้ำท่วมสูงสุด 2-3 เมตรพื้นที่ป่ามีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ ต้นไม้ส่วนใหญ่แตกรากค้ำยันหรือเป็นพูพอน พื้นที่ป่ามีใบไม้กิ่งไม้แห้งทับถมกันจนมีลักษณะเป็นเนินสูงขึ้นมาจากพื้นที่ป่าทั่วไป พื้นป่ามีระดับสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน 8 เมตร ดินเป็นดินอินทรีย์ ลึกลงไปเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบไพไรท์สะสมอยู่เป็นปริมาณมาก ในเขตนี้พืชพรรณธรรมชาติขึ้นเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่น มีพันธุ์ไม้ยืนต้นขึ้นปะปนกันอยู่มากกว่าร้อยชนิด โดยมีเรือนยอดอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ 20-30 เมตรพืชพื้นล่างที่ขึ้นอยู่มีทั้งไม้พุ่ม เถาวัลย์ ปาล์ม หวาย และเฟิร์นนานาชนิด
2. เขตอนุรักษ์ (Conservation Zone)เป็นบริเวณพื้นที่พรุที่พืชพรรณธรรมชาติถูกทำลายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และยังไม่มีโครงการพัฒนาเข้าไปดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ป่าถูกทำลายโดยการแผ้วถางและไฟไหม้ทำความเสียหายในช่วงปีที่อากาศแล้งจัด มีเนื้อที่ประมาณ 109,938 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านตะวันตกของพรุบาเจาะในเขตอำเภอเมืองและอำเภอระแงะ และบริเวณทุ่งหญ้ารวมป่าพรุโต๊ะแดงในเขตอำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดีและอำเภอสุไหงโก-ลก พื้นที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำขังเกือบตลอดปี สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน 8 เมตร ปกติดินเปียกชื้นตลอดปี ในฤดูฝนระดับน้ำสูงจากผิวดินตั้งแต่ 20-30 เซนติเมตร ไปจนถึง 1 เมตร ดินมีทั้งดินอินทรีย์และดินอนินทรีย์ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวจัด สำหรับทางตอนใต้ของพรุโต๊ะแดงเป็นดินอินทรีย์หนาประมาณ 1-3 เมตร ดินชั้นล่างเป็นดินเลนที่มีสารปรกอบกำมะถันสะสมอยู่
น้ำที่ท่วมขังอยู่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบเป็นกรดจัด สีดำหรือสีน้ำตาลปนดำเนื่องจากมีสารอินทรีย์แขวนลอยปะปนอยู่มาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเสม็ดขาวและพื้นที่ปาพรุที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้มีพืชพวกคมบางย่านลำเท็ง กก กระจูด และพืชพวกหญ้าขึ้นเป็นพืชพื้นล่าง หรือเป็นพื้นที่ซึ่งในอดีตถูกแพ้วถางแล้วถูกปล่อยทิ้งร้างไป ต่อมามีไม้เสม็ดขาว กก กระจูด และพืชพวกหญ้าขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
3. เขตพัฒนา (Development Zone) เป็นบริเวณพื้นที่พรุที่ได้มีการระบายน้ำออกไปบ้างแล้วพืชพรรณธรรมชาติดั้งเดิมถูกแผ้วถางจนหมดสิ้น มีพื้นที่ที่ใช้เพื่อกิจกรรมทางด้านเกษตรและมีโครงการพัฒนาต่างๆ เข้าไปดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีเนื้อที่ประมาณ 95,015 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตโครงการสหกรณ์นิคมบาเจาะในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอยี่งอ และอำเภอบาเจาะ และสหกรณ์นิคมปิเหล็งในท้องที่อำเภอตากใบและอำเภอสุไหงโก-ลกบริเวณพรุสะปอมท้องที่อำเภอเมือง และบริเวณพรุกาบแดงในท้องที่อำเภอเมืองคาบเกี่ยวอำเภอตากใบ พื้นที่เหล่านี้ได้จัดสรรที่ดินให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยและทำกินอย่างถาวร ส่วนใหญ่มีดครงการชลประทานเข้าไปดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งโดยทั่วไปสูงจากระดับน้ำลดลงต่ำกว่าผิวดิน ประมาณ 0.5-1 เมตร บริเวณพรุบาเจาะส่วนใหญ่มีดินอินทรีย์ถมเป็นชั้นหนาไม่เกิน 2.5 เมตร มีลักษณะเป็นกรดจัดและมีคุณภาพทางเกษตรต่ำ ใต้ชั้นดินอินทรีย์ซึ่งทั้งดินและน้ำมีสภาพความเป็นกรดจัด ส่วนบริเวณพรุกาบแดงและพรุสะปอม ดินมีทั้งดินอินทรีย์ และอนินทรีย์ปะปนกันอยู่ส่วนใหญ่
การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่พรุ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาและกำหนดเขตการใช้ที่ดินทั้ง 3 เขต ให้มีการดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบผสมผสานให้สอดคล้องกันในหลายด้าน และกำหนดแนวทางการพัฒนาพท้นที่พรุไว้ดังนี้
1.เขตสงวนเป็นเขตที่ดำเนินการสงวนรักษาป่าไม้ไว้อย่างเข้มงวด เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด หน่อยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง คือ กรมป่าไม้ ปัจจุบันได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแล้ว เมื่อได้มีการตรวจสอบรายละเอียดและประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้วก็จะทำให้การดูแลรักษาพื้นที่เหล่านี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. เขตอนุรักษ์เป็นเขตที่ดำเนินการฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าดังเดิม ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นเขตสงวนหรือเปลี่ยนเป็นเขตพัฒนาโดยการใช้พื้นที่กระทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่พรุโดยไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของป่าและจะต้องผ่านการเห็นชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อนการดำเนินงานในเขตนี้จึงผันแปรไปได้ตามวัตถุประสงค์ คือ
2.1 ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสำรวจพันธุ์พืชการทดแทนของสังคมพืชและระบบนิเวศน์ของป่าพรุทั้งหมด โดยมีกรมป่าไม้เป็หน่วยงานหลัก
2.2 ศึกษาพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกป่าทดแทน และศึกษาวิธีการจัดการเพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดีมีกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลัก
2.3 ประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกันมิให้มีการบุกรุกทำลายป่าพรุอีกต่อไปดำเนินการโดยกรมป่าไม้และนิคมสหกรณ์
2.4 ในกรณีที่มีการจัดทำโครงการพัฒนาในเขตนี้ให้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยทุกโครงการ
3. เขตพัฒนาเป็นเขตที่กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานร่วมกันพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดย
3.1 ค้นคว้าวิจัยเพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขสภาพดินและน้ำที่มีปัญหาสำหรับใช้กำหนดเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาต่อไปดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.2 ดำเนินการพัฒนาพื้นที่พรุแบบครบวงจร โดยประกอบด้วยการควบคุมน้ำในพื้นที่ การปรับปรุงดิน การเลือกชนิดพืชที่ปลูก การสหกรณ์และการตลาด
3.3 เลือกพื้นที่ดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการของราษฎร โดยพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ เช่น สภาพดิน สภาพน้ำ และสภาพภูมิประเทศ
3.4 รัฐเป็นผู้ดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจนแล้วเสร็จ และในระยะแรกรัฐจะจัดหาวัสดุปรับปรุงดินและพันธุ์พืชต่างๆ ให้แก่ราษฎร
3.5 รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ และบริหารโครงการพัฒนาที่ดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว
การค้นคว้าวิจัยป่าพรุตามพระราชดำริก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับคณะผู้ดำเนินงานสนองพระราชดำริมีความเห็นว่า เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่พรุเป็นไปอย่างสอดคล้องผสมผสานกันทั้งในเรื่องอนุรักษ์และการพัฒนาพื้นที่เขตต่างๆ ในป่าพรุได้ดำเนินการไปพร้อมดันอย่างได้ผลดียิ่ง ส่วนราชการอันประกอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)ร่วมกับกรมป่าไม้ได้รับสนองพระราชดำริโดยจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับป่าพรุขึ้นบริเวณคลองโต๊ะแดงฝั่งขวา บริเวณบ้านโต๊ะแดง หมู่ที่ 8 ตำบลปูโต๊ะอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาวิจัยและธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา ซึ่งศูนย์แห่งนี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมของป่าพรุอย่างละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์ในลักษณะของเส้นทางเดินธรรมชาติ (Nature Tralil) และนิทรรศการความรู้ต่างๆ
บัดนี้ป่าพรุได้รับการใช้ประโยชน์อย่างอเนกประสงค์ควบคู่กับการสร้างสมดุลแห่งระบบนิเวศน์ ตามพระราชดำริแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานเพื่อความผาสุขนิรันดร์ของอาณาประชาราษฎร์