- หน้าแรก
- โครงการพระราชดำริ (จำแนกตามวัตถุประสงค์ของโครงการ)
- โครงการตามพระราชกระแส
- โครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน สิงหนคร จังหวัดสงขลา
โครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน สิงหนคร จังหวัดสงขลา
โครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนบ้านหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ความเป็นมา/ พระราชดำริ
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้มีพระราชดำริพระราชทานป่าไม้ให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เป็นแกนกลางในการปลูกป่าพระราชทาน และให้มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมูลนิธิต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษา เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จึงได้มีนโยบายที่จัดทำโครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนขึ้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี โดยให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการในครั้งนี้เป็นเงิน 5 ล้านบาท ต่อมา มูลนิธิโททาลแห่งประเทศไทย ได้ขอเข้าร่วมโครงการและให้การสนับสนุนงบประมาณสมทบเพิ่มเติม จำนวน 5 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 10 ล้านบาท
หน่วยงานรับผิดชอบ
สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเทศบาลตำบลหัวเขา
การดำเนินงานสนองพระราชดำริ
การดำเนินโครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนในเขตพื้นที่เป้าหมาย คือ จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี มูลนิธิชัยพัฒนาได้มอบหมายให้ สถาบันทรัพยากรชายฝั่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ
- เพื่อปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าชายเลนเป็นแนวกันชนสีเขียว และให้เป็นเครื่องมือกำหนดเขตกิจกรรม ให้อยู่เป็นระยะห่างที่เหมาะสมจากขอบทะเลสาบสงขลา
- เพื่อปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าชายเลนไว้เป็นป่าอนุรักษ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยและจัดเป็นรูปแบบทัศนานิเวศน์
- เพื่อปลูกสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และรู้จักการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนอย่างมีคุณค่า
ผลการดำเนินงาน
สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง ได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2538 ด้วยการเตรียมความพร้อมของชุมชนและองค์กร โดยการจัดตั้งกลุ่มประสานงานหรือชมรมฟื้นฟูอนุรักษ์ป่า ชายเลนขึ้น จากตัวแทนราษฎรตำบลหัวเขา รวม 8 หมู่บ้าน เพื่อเป็นแกนกลางในการดำเนินกิจกรรมของชมรมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
ราษฎรให้การตอบรับที่ดีต่อโครงการมากขึ้น จนส่งผลให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดีต่อระบบนิเวศน์ มีการร่วมกันปลูกป่าเพิ่มเติมและช่วยกันดูและรักษาป่าชายเลน ในพื้นที่ประมาณ 312 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีการขยายกิจกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ กิจกรรมการเพาะกล้าไม้และขยายพื้นที่ปลูกป่า กิจกรรมการพัฒนาพื้นที่โครงการฯ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดสงขลา เนื่องจากพื้นที่โครงการฯ อยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม กิจกรรมการขยายผลโครงการฯ ไปสู่กลุ่มแม่บ้านและเยาวชน
การดำเนินงานในระยะต่อไป
1. พิจารณาให้การสนับสนุนชุมชนเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาพื้นที่โครงการฯ เช่น สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำทางเดินศึกษาธรรมชาติ อาคารฝึกอบรมดูงาน เป็นต้น
2. ดำเนินการประสานงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลตำบล หัวเขา) เพื่อมอบหมายให้องค์กรดังกล่าวรับผิดชอบการดำเนินโครงการฯ ต่อไป
โครงการศึกษา ทดลอง วิจัย ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน
ทะเลสาบสงขลา ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ความเป็นมา / พระราชดำริ
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับที่ดินของนายเถกิง กาญจนะ บ้านเลขที่ 87/1 ถนนกาญจนวนิช ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3ก.) เลขที่ 824 และ 825 ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ 30ไร่ เพื่อให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนานำไปจัดทำแปลงสาธิตทางการเกษตรในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในบริเวณใกล้เคียง
2. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่โครงการฯ ดังกล่าว และได้พระราชทานแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ให้เป็นแปลงศึกษา ทดลอง วิจัย ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา
หน่วยงานที่รับผิดชอบ คณะทำงานดำเนินการโครงการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง
ผลการดำเนินงาน
1. ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในการดำเนินงานโดยสำรวจข้อมูลทางกายภาพ ด้านดิน น้ำ และวิถีชีวิตชุมชน พบว่า สภาพที่ดิน เป็นดินเค็มที่มีความเป็นกรดแฝง มีระดับความเค็มจัด และดินเปรี้ยวจัด
2. กำหนดภูมิทัศน์พื้นที่โครงการฯ โดยจัดทำแผนที่ระดับภูมิประเทศ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ตามระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อการจัดหาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่เหมาะสม
3. ปรับสภาพพื้นที่ตามแบบพร้อมจัดทำระบบโครงสร้างคัน คู เพื่อควบคุมระดับน้ำในพื้นที่โครงการฯ พร้อมทั้งจัดทำป้ายโครงการชั่วคราว และล้อมรั้ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยง
4. จัดหาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่เหมาะสม และดำเนินการปลูกพันธุ์ไม้ที่จัดหาไว้ จำนวน 7,668 ต้น (33 พันธุ์ไม้) ในแต่ละระดับพื้นที่ พร้อมดูแลรักษา
5. จัดเก็บตัวอย่างน้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อประเมินชนิดและปริมาณสัตว์น้ำตามธรรมชาติในคูน้ำทั้งใน และโดยรอบพื้นที่โครงการฯ พบพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 19 ชนิด ประกอบด้วย สัตว์น้ำจืด และสัตว์น้ำกร่อย ในพื้นที่โครงการฯ และพบสัตว์น้ำเค็ม ในพื้นที่รอบนอกโครงการฯ
7. ทดสอบชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสม ได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปลาหมอ ปลากดเหลือง และปลาดุกอุย พบว่า กุ้งแชบ๊วย ไม่เหมาะสมในการนำมาปล่อยบริเวณนี้ เนื่องจากพื้นที่ภายในโครงการฯ มีความเค็มค่อนข้างต่ำ
8. ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้แก่ กุ้งกุลาดำ ปลาหมอ ปลากดเหลือง และปลาดุกอุย
การดำเนินงานในระยะต่อไป
คณะทำงานโครงการฯ ประกอบด้วย กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมประมง ได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำแนวทางการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รับผิดชอบโดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ การก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ ป้ายโครงการถาวร และการควบคุมระบบน้ำในพื้นที่โครงการฯ
2. การปลูกป่าชายเลน รับผิดชอบโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ การปลูกซ่อมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน และการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดิน และน้ำ บริเวณพื้นที่ปลูกป่าชายเล
3. การประมง รับผิดชอบโดยกรมประมง ได้แก่ การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสมเพื่อปล่อย และการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของสัตว์น้ำ บริเวณพื้นที่ป่าชายเลน
4. คณะทำงานโครงการฯ ได้เสนอแนะให้ดำเนินการขยายผลโครงการฯ โดยการจัดหาพื้นที่เสื่อมโทรม ในบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา เพื่อดำเนินการฟื้นฟูป่าชายเลนตามแนวทางการดำเนินงานของโครงการฯ โดยอาจขอความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลสิงหนคร และในชุมชนใกล้เคียง