- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสารทั่วไป
- โครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบภัยของมูลนิธิชัยพัฒนา
โครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบภัยของมูลนิธิชัยพัฒนา
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553
นายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในงานเปิดโครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย ซึ่งมูลนิธิ ชัยพัฒนาได้ดำเนินการตามพระราชกระแสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยการพิจารณาฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการ ณ ตำบลหนองไผ่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นลำดับแรก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา พิจิตร ชัยภูมิ และกาญจนบุรี เพื่อพิจารณาจัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกกภัย โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้
1. จัดตั้งหน่วยฟื้นฟูเคลื่อนที่
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจะจัดตั้งหน่วยฟื้นฟูเคลื่อนที่ เข้ายังพื้นที่ประสบภัยที่ระดับน้ำลดลงแล้ว เข้าช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วม ช่วยปรับพื้นที่เกษตรกรรม นำเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชผักพระราชทานไปให้ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบอาชีพ โดยมูลนิธิชัยพัฒนาจะหาพันธมิตรเข้าร่วมดำเนินการ โดยจะประสานความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน
2. จัดตั้งศูนย์ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า
บ้านเรือนราษฎรที่ถูกน้ำท่วม จะประสบปัญหาเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายเป็นจำนวนมาก สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจะจัดตั้งศูนย์กลางซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ในหมู่บ้านที่ประสบปัญหา โดยจะหาพันธมิตรเข้าร่วมซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าว
สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ในตำบลหนองไผ่ และตำบลด่านมะขามเตี้ย อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี น้ำได้ลดลงแล้ว
ตำบลหนองไผ่ มีราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้รับความเสียหายด้านพืช จำนวน 1,745 ไร่ จำนวนเกษตรกร 186 ราย พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย คือ น้ำกัดเซาะพื้นที่เป็นหลุมลึก รวมประมาณ 200 ไร่ จำนวนเกษตรกร 26 ราย
ตำบลด่านมะขามเตี้ย มีราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้รับความเสียหายด้านพืช จำนวน 2,938 ไร่ จำนวนเกษตรกร 294 ราย พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย คือ น้ำกัดเซาะพื้นที่เป็นหลุมลึก รวมประมาณ 200 ไร่ จำนวนเกษตรกร 26 ราย
น้ำหลากจากลำน้ำภาชี มีต้นน้ำมาจากอำเภอสวนผึ้ง น้ำหลากมา 3 ทาง คือ จาก บ้านกล้วย บ้านคา และชัดป่าหวาย การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณนี้ ต้องพิจารณาทั้งลุ่มน้ำภาชี โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าที่ต้นน้ำ และหาวิธีการชะลอน้ำในช่วงกลางลุ่มน้ำ เช่น การทำแก้มลิง ส่วนความต้องการเร่งด่วนของเกษตรกร คือความต้องการในการปรับพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากกระแสน้ำได้ปั่นวนจนดินเป็นหลุมๆ กระแสน้ำได้เปลี่ยนทางน้ำ บางแห่งน้ำได้เซาะพื้นที่การเกษตรจนเนื้อดินหายไปลึกประมาณ 1 เมตร เป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรต่อไปได้
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจึงประสานงานกับอำเภอด่านมะขามเตี้ย และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไผ่ เข้าดำเนินการปรับที่ดินโดยเร่งด่วน โดยเริ่มที่ตำบลหนองไผ่ เป็นพื้นที่แรก เมื่อปรับที่ดินเสร็จแล้ว จะนำเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทานมอบให้ราษฎรต่อไป
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา