- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ครั้งที่ 1/2553
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ครั้งที่ 1/2553
วันที่ 5 มกราคม 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ครั้งที่ 1/2553 ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โดยสรุปสาระการประชุม ดังนี้
ในปี พ.ศ. 2553 มูลนิธิชัยพัฒนาได้รับบริจาคที่ดินจากผู้มีจิตศรัทธาน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 8 แปลง เนื้อที่รวม 57 ไร่ 2 งาน 95.9 ตารางวา สรุปกรรมสิทธิ์ที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 424 แปลง ในพื้นที่ 49 จังหวัด เนื้อที่รวมประมาณ 9,053 ไร่ โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้นำที่ดินดังกล่าวไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงานทดแทน ด้านการศึกษาและศาสนา รวมทั้งได้ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้โดยเร็ว ปัจจุบันมูลนิธิชัยพัฒนา มีโครงการในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 209 โครงการ อาทิ
โครงการพิเศษตามพระราชกระแส
โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยราษฎรผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ อันเป็นผลมาจากสภาวะฝนตกหนักในช่วงเดือนตุลาคม 2553 จึงได้มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาประสานความร่วมมือกับส่วนราชการและองค์กรเอกชน ดำเนินการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรผู้ประสบภัยในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถดำรงชีวิตประจำวันและสามารถประกอบอาชีพได้เป็นปกติภายหลังน้ำลดลง โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่1 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กองทัพบกและสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน ประกอบด้วย บริษัทไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลทางการเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตปกติโดยเร็ว
ระยะที่ 2 ฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่การเกษตร โดยร่วมกับกองงานส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามยรมราชกุมารี กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชและ เมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน เพื่อให้เกษตรกรผู้ประสบภัยได้มีเมล็ดพันธุ์ดีนำไปเพาะปลูกหลังน้ำลด
โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดทำแปลงสาธิตการเกษตรรูปแบบต่างๆ เพื่อถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ ด้านเทคโนโลยีการเกษตรรวมทั้งให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
โครงการและศูนย์บริการและสาธิตการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์ในการปลูกพืชผักพื้นบ้านเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ และรับซื้อเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านจากชุมชนที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ นำมาสะสมไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานให้แก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติและราษฎรทั่วไป โดยพืชผักพื้นบ้านชุดแรกของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธุ์เพ็ญศิริ ได้นำไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบอุทกภัย ในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัยของมูลนิธิชัยพัฒนา 17 จังหวัด ทั่วประเทศ
โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมัน และพืชน้ำมันอื่น ๆ จังหวัดเชียงราย เป็นโรงงานต้นแบบในการผลิตน้ำมันชาและพืชน้ำมันอื่นๆ ซึ่งเป็นน้ำมันคุณภาพสูงสำหรับการบริโภค และผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่นๆ ที่เพิ่มมูลค่า ได้แก่ เครื่องสำอาง และยารักษาโรค รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์จากกากวัตถุดิบ ที่เหลือเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากทุกส่วนของพืช
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จังหวัดสระแก้ว เป็นโรงเรียนสำหรับฝึกกระบือให้สามารถไถนาและทำงานด้านการเกษตรกรรม และสอนผู้ที่ต้องการใช้กระบือทำการเกษตรให้สามารถทำงานร่วมกับกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลกระบือให้มีสุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้จะเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านที่เรียบง่าย และการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การดำเนินงานที่ผ่านมาได้เปิดอบรมหลักสูตรโครงการเกษตรกรกาสรกสิกรรม สอนให้เกษตรกรสามารถใช้กระบือทำการเกษตร และเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว 19 รุ่น จำนวนเกษตรกร 140 คน กระบือ 132 ตัว และอบรมหลักสูตรยุวเกษตรกรกาสรกสิวิทย์ ให้แก่เยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ให้เกิดความคุ้นเคยกับกระบือในการทำการเกษตร และได้สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 17 รุ่น จำนวนนักเรียน 199 คน จากสถานศึกษา 32 แห่ง
โครงการศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ได้ให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าโดยมีผลิตภัณฑ์แปรรูป ที่ดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากการถนอมอาหาร และเครื่องสำอาง โดยจัดจำหน่ายผลผลิตต่างๆ ภายในร้านค้าบริเวณศูนย์บริการวิชาการฯ และจำหน่ายภายใต้ตราผลิตภัณฑ์ ภัทรพัฒน์ ของมูลนิธิชัยพัฒนา
โครงการแปลงสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานทดแทนจากข้าวครบวงจร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการส่งเสริม และถ่ายทอดความรู้กระบวนการผลิตข้าวปลอดภัยจากสารพิษ ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก ทั้งในพื้นที่แปลงสาธิตของมูลนิธิชัยพัฒนา และแปลงเรียนรู้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในแปลงนา ลดต้นทุนการผลิต และความเสี่ยงอันตรายต่อตนเอง และผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมตัวในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อผลิตและจำหน่ายข้าว ปัจจุบันมีการดำเนินการในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดลพบุรี และจังหวัดพิษณุโลก
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และเครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินการโครงการศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานทดแทนจากข้าวครบวงจร ในบริเวณพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจัดตั้งระบบโรงสีข้าวชุมชน เพื่อรองรับกิจกรรมการส่งเสริมการผลิตข้าวแบบลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ในพื้นที่สาธิตการทำนาของมูลนิธิชัยพัฒนา รวมทั้ง เป็นตัวอย่างพร้อมถ่ายทอดความรู้ในการแปรรูปข้าว และการบริหารจัดการธุรกิจข้าวของชุมชนอย่างเป็นระบบ การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น แกลบจากโรงสีข้าวไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และการผลิตน้ำมันรำ เป็นต้น
โครงการด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงานทดแทน
โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยกังหันน้ำชัยพัฒนา และเครื่องกลเติมอากาศ แบบอัดอากาศและดูดน้ำ ในปี 2553 มีหน่วยงานขอความอนุเคราะห์ในการติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศมายังสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 32 แห่ง และดำเนินการติดตั้งเครื่องให้แก่หน่วยงานไปแล้ว จำนวน 98 เครื่อง ประกอบด้วย เครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา จำนวน 9 เครื่อง และเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX – 5C จำนวน 89 เครื่อง ทั้งนี้ มูลนิธิชัยัฒนาและกรมชลประทานได้ทำการวิจัยการใช้เครื่องกลเติมอากาศร่วมกับรางพืชปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ เพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ร่วมกับการจัดสร้างรางพืชปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยพืชแช่น้ำ ให้รากพืชดูดแร่ธาตุ และของเสียที่ปนมากับน้ำ เพื่อลดปริมาณความเขียว และปรับปรุงคุณภาพน้ำ พืชน้ำที่ใช้ ได้แก่ พังพวยน้ำ พุทธรักษา กก หญ้าพองลม เตย เป็นต้น ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต จดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศแล้ว และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ในปี 2553 ได้ดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ เช่น จัดทำถังบำบัดน้ำเสีย เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ ให้สามารถใช้ได้ในระดับครัวเรือน โดยจัดทำถังบำบัดน้ำเสีย จำนวน 700 ถัง แจกจ่ายให้แก่ราษฎร และชุมชนที่เป็นเครือข่ายของโครงการฯ ทั่วประเทศ โดยในเบื้องต้น พบว่าวัสดุพลาสติกที่ใช้ผลิตมีความเหนียว แต่บางเกินไป อาจแตกหักระหว่างการประกอบได้ จึงอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนวัสดุพลาสติก และแก้ไขระบบหมุนเกลียวของท่อน้ำให้ประกอบได้สะดวกยิ่งขึ้น
ด้านการศึกษา
โครงการผลิตพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และการเกษตร จังหวัดพังงา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามความร่วมมือโครงการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และการเกษตร โดยการสนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณ โดยได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนจั้งแต่ปี 2552-2553 จำนวนรวม 14 ทุน ได้แก่ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ และสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ และคณะอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น
ภัทรพัฒน์ (Pat Pat)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนาม “ภัทรพัฒน์” ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อใช้เป็นตราผลิตภัณฑ์ของผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมไปถึงผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุน และส่งเสริมของมูลนิธิชัยพัฒนาที่มีต่อราษฎรในเรื่องต่างๆ โดยตราผลิตภัณฑ์ “ภัทรพัฒน์” ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางด้านการตลาดให้กับสินค้าเกษตรและผลผลิตที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่นำสินค้าออกมาวางจำหน่าย และ เผยแพร่ต่อผู้บริโภคด้วยวิธีการ และผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม
“ภัทรพัฒน์” ได้ดำเนินการเผยแพร่ตราผลิตภัณฑ์ และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าภัทรพัฒน์แก่ผู้บริโภค และสาธารณชนโดยทั่วไป สร้างโอกาสในการจำหน่ายให้แก่สินค้าของโครงการ และกลุ่มราษฎรที่ได้รับการสนับสนุน รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลเพื่อให้เกิดการพัฒนาในเรื่องของผลผลิตบุคลากรและประสิทธิภาพในการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง
สำนักประชาสัมพันธ์
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทร/โทรสาร 02-2829881