- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์ พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ และทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน จังหวัดเชียงราย
สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์ พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ และทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน จังหวัดเชียงราย
วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เวลาประมาณ 12.30 น. ได้เสด็จพระราชดำเนินยังบ้านนางปวีณา ปิงเสาร์ ราษฎรบ้านสันเกล็ดทอง ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ได้เข้าร่วมโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
โครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ เป็นโครงการที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริดำเนินการขยายผลการปลูกพืชผักพื้นบ้านออกสู่ราษฎร โดยได้เริ่มโครงการนำร่องร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม ที่มีชุมชนเข้มแข็ง มีความต้องการปลูกพืชผักพื้นบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือน เมื่อมีเหลือแล้วนำไปจำหน่าย และสามารถเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปได้อีก
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์คะน้า กวางตุ้ง ต้นแคบ้านดอกขาว และมะรุมอินเดีย ให้แก่ราษฎรตำบลโป่งงาม และตำบลโป่งผา จำนวน 1,235 ครัวเรือน และหน่วยราชการ 18 แห่ง
ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ นางปวีณา ปิงเสาร์ ไม่ได้ปลูกผักสวนครัว เมื่อเข้าโครงการก็ได้ปลูกผักพื้นบ้านที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปลูกพืชอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อบริโภคในครัวเรือน จนกระทั่งมีเหลือสามารถนำมาจำหน่ายให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิรินำมาขายที่ร้านจันกะผักอันเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานีอนามัยตำบลโป่งงาม เป็นหนึ่งในหน่วยราชการที่เข้าร่วมโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ ที่นำเมล็ดพันธุ์และกล้าพันธุ์จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริมาปลูกในบริเวณโดยรอบ และอนุญาตให้ราษฎรที่มารับการรักษา เก็บกลับไปทำอาหารบริโภคที่บ้านได้ นับเป็นหน่วยราชการที่รับสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะให้ประชาชนได้มีผักที่ปลอดภัยบริโภคกันในครัวเรือน
จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมบ้านนางฉวีวรรณ แซ่หยาง เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานขยายผลให้ราษฎรปลูกผักให้เข้ามาตรฐาน GAP (จีเอพี)
GAP มาจาก Good Agricultural Practice แปลว่าการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริได้จัดโครงการสนับสนุนให้ราษฎรปลูกผักให้เข้ามาตรฐาน GAP เป็นการสนับสนุนให้ราษฎรปฎิบัติตามข้อกำหนดในการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช และมีคุณภาพที่ดี
ราษฎรที่เข้าโครงการนี้ มีพื้นที่ปลูกผักเป็นแปลงเล็กๆ ภายในบ้าน จึงมีปัญหาในการขอ GAP เนื่องจากการตรวจสอบแปลงพืชของกรมวิชาการเกษตรจะต้องตรวจเป็นแปลงใหญ่ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจึงร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม รวบรวมกลุ่มราษฎรเพื่อให้แต่ละกลุ่มมีพื้นที่ปลูกพืชมากพอที่กรมวิชาการเกษตรจะเข้าทำการตรวจสอบได้ จากการรวมกลุ่มนี้ ทำให้ราษฎรในกลุ่มต้องมีความสามัคคี ดูแลกันและกันให้ปลูกพืชให้ปลอดภัยตามมาตรฐาน เพราะหากมีบ้านใดไม่ผ่านการตรวจสอบ จะทำให้ทุกบ้านในกลุ่ม ไม่ผ่านมาตรฐานทั้งกลุ่ม จากผลของความร่วมแรงร่วมใจ ความมุ่งมั่นตั้งใจ และความสามัคคี ทำให้กลุ่มปลูกพืชของราษฎรตำบลโป่งงามได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เป็นตำบลแห่งแรกในประเทศไทย ในการนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ วางแผนที่จะประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นๆ และอำเภอแม่สาย เพื่อขยายผลการผลิตพืชให้ได้มาตรฐาน GAP ทั้งอำเภอ
ระหว่างทางที่เสด็จฯ ไปยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้ทอดพระเนตรโครงการที่ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลโป่งงาม ได้ขอทำโครงการขยาย โดยใช้ชื่อว่า ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’ ขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะปลูกไม้ยืนต้นที่บริโภคได้ตามริมถนนในหมู่บ้าน ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจึงได้จัดหากล้าต้นมะรุม 1,400 กล้า กล้าต้นเสี้ยว 400 กล้า กล้าต้นขี้เหล็ก 400 กล้า และเมล็ดแค 6,500 เมล็ด สนับสนุนโครงการดังกล่าว
นับเป็นเวลา 6 เดือนที่ โครงการ ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’ ดำเนินงานมา ต้นต้นมะรุม ต้นเสี้ยว ต้นขี้เหล็ก ต้นแค ได้เจริญเติบโต และเป็นพืชผักที่เป็นอาหารให้ทั้งผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านและผู้ที่สัญจรไปมา
เวลา 14:00 น. ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” ขึ้น เป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช ให้เกษตรกรได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ที่ดี ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดี โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจะรวบรวมและพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้าน เก็บรักษาพันธุ์พืชผักพื้นบ้านให้เกษตรกรได้มีพันธุ์พืชที่ดีไว้ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน จำหน่าย และสามารถเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปได้ ผลิตและสะสมเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ที่นอกจากจะพระราชทานแก่ราษฎรที่สนใจแล้ว ยังจะเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรประสบภัยพิบัติอีกด้วย
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดสื่อสร้างสรรค์ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจในการผลิตสื่อด้านต่างๆ ส่งการ์ตูนสั้น (วาดภาพ) และคลิปวิดีโอ เข้าประกวด เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เยาวชนและประชาชน สนใจการปลูกผัก ศึกษาและได้รับรู้ถึงวิธีการปลูกผักที่ปลอดภัย ประโยชน์ของการบริโภคผัก ผลดีของการปลูกผักสวนครัวเพื่อบริโภคเอง
จากนั้น เสด็จฯ ไปยังแปลงผักของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทอดพระเนตรแปลงผักพื้นบ้าน และพืชผักที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรวบรวมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพระราชทานเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริทดลองปลูก รวมทั้งได้ทอดพระเนตรแปลงสับปะรดพันธุ์ใหม่ที่พระราชทานชื่อว่า ‘ภูชวา’
สับปะรดภูชวา เป็นสับปะรดลูกผสมระหว่างสับปะรดภูเก็ตและสับปะรดปัตตาเวีย ที่นายสมาน ศิริภัทร เป็นผู้รวบรวมพันธุ์ ร่วมกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับพนักงานฝ่ายเกษตรบริษัทสยามอุตสาหกรรมการเกษตรสับปะรดและอื่นๆ จำกัด (มหาชน) สับปะรดภูชวาเป็นสับปะรดรับประทานผลสด มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีความหวาน (brix) 17.5 หน่วย น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.360 กรัม ลักษณะผลเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 ซม. จุกค่อนข้างใหญ่ เนื้อแน่น ละเอียดไม่เป็นโพรง สีเหลืองอ่อน มีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวจากเริ่มปลูกประมาณ 1 ปี กล้าพันธุ์ที่นำมาปลูกนี้ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริได้รับกล้าพันธุ์สับปะรดภูชวามาจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อทำการทดสอบปลูกเพื่อทดสอบพันธุ์ ก่อนส่งเสริมเกษตรกรต่อไป
ทรงพระดำเนินไปยังทอดพระเนตรห้องเย็นเก็บเมล็ดพันธุ์ ที่เป็นที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านพระราชทาน โดยที่ นอกจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจะปลูกพืชผักเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์เองแล้ว ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริได้ส่งเสริมราษฎรในพื้นที่ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านร่วมกับโครงการ เพื่อนำมาสะสมไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานราษฎรทั่วไปและราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้แล้ว เช่น คะน้า กวางตุ้ง ฟักแฟง แคบ้านดอกขาว ถั่วพู มะเขือเปราะขาวกรอบ บวบ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว น้ำเต้า มะระขี้นก เป็นต้น
ทั้งนี้ ในคราวที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย ปี 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านชุดแรกของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ แก่ผู้ประสบอุทกภัยในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด ของมูลนิธิชัยพัฒนาแล้ว
ต่อมา ทอดพระเนตรความก้าวหน้าของงานวิจัยวิธีการผลิตและใช้น้ำจุลินทรีย์จากปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากมูลกระบือเพื่อใช้ในการเกษตรระดับครัวเรือน ซึ่งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศึกษาวิจัยวิธีการผลิตและใช้น้ำจุลินทรีย์จากปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากมูลกระบือและเศษพืชต่างๆ เพื่อใช้ในการเกษตรระดับครัวเรือน และศึกษาความเป็นไปได้ในการคัดเลือกชนิดสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในน้ำจุลินทรีย์จากปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากมูลกระบือ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
จากนั้น เสด็จไปยังโรงคัดแยกเมล็ดพันธุ์ ทอดพระเนตรการคัดแยกเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว คะน้า กวางตุ้ง และทรงแยกผลสดมะเขือเปราะขาวกรอบ ทรงรับฟังคำกราบบังคมทูลรายงานผลการทดสอบพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสด ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริร่วมกับภาควิชาพืชไร่ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปลูกถั่วเหลืองฝักสดเพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่มีกลิ่นหอม มีศักยภาพในการปรับตัวที่เหมาะสม เพื่อคัดหาสายพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดที่มีศักยภาพและมีเสถียรภาพในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ทดสอบได้ดีแล้ว จึงจะผลิตเมล็ดพันธุ์หลักของสายพันธุ์ดีไว้ และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ราษฎรและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้รับโปรตีนจากพืชเพิ่มมากขึ้น และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทานกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ราษฎรที่เข้าเฝ้าฯในครั้งนี้ เป็นราษฎรบ้านสันยาว อำเภอห้วยไคร้ จังหวัดเชียงราย ที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราขทาน สะสมไว้เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติหรือราษฎรโดยทั่วไป
ประทับรถพ่วงในฟาร์ม ทอดพระเนตรแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นายกสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานการผลิตเมล็ดพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ประทับรถพ่วงพระที่นั่ง ทอดพระเนตรแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์และแปลงผลิตผักสดของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ที่กำลังรวบรวมพันธุ์ ผักกาดกวางตุ้ง คะน้า มะเขือยาว และผักสลัดชนิดต่างๆ ในการดำเนินงานผลิตเมล็ดพันธุ์ผักนี้ ได้มีอาจารย์จากภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นที่ปรึกษา ในการคัดเลือกพันธุ์ เพิ่มจำนวนเมล็ด โดยจะเก็บเมล็ดพันธุ์ในห้องที่ปรับอุณหภูมิ เก็บรักษาตามกำหนด จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินยังร้านจันกะผัก
ร้าน ‘จันกะผัก’ เป็นร้านที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริตั้งขึ้น เพื่อจำหน่ายพืชผักที่เหลือจากการทดสอบและพัฒนาพันธุ์ ขายสลัด ส้มตำ และอาหารซึ่งใช้พืชผักที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ผลิตเอง ขายกาแฟ ไอศครีม และของที่ระลึก นอกจากนี้ ร้านจันกะผักยังมีแผนงานในการส่งเสริมด้านการตลาดแก่ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของชุมชนท้องถิ่น โดยจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนามาจำหน่ายในร้านในระยะต่อไป
มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมกันดำเนินงานศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เพื่อที่จะพัฒนาพันธุ์พืชอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน รวบรวมและสะสมเพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์พืชที่ดี แม้ไม่ใช่พันธุ์ที่ดีที่สุดในเชิงเศรษฐกิจ แต่จะเป็นพันธุ์ที่ดีพอสมควร สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้ครัวเรือน สร้างความแข็งแรงมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน เป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังพระราชดำรัสที่รับสั่ง ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 ความว่า
“ปัจจัยสำคัญของการเกษตร นอกจากจะเป็นเรื่องน้ำและดินแล้ว การมีพันธุ์พืชที่ดีให้เกษตรกรปลูก เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ทำเองจัดเองทำให้เราได้ศึกษาวิธีการว่า พันธุ์ต่างๆนอกจากจะทำให้มีปริมาณมากขึ้นแล้ว คุณภาพที่จะเหมาะสมในแต่ละแห่งจะทำอย่างไร เพราะถ้าเราทำเองจะทราบว่าตรงไหนต้องทำอย่างไร เป็นความรู้ของพวกเราทุกคนด้วย”
เมื่อได้เวลาอันสมควร จึงได้เสด็จพระราชดำเนินจาก ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน.
จากนั้น เวลา 16.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมรับเสด็จฯ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังโถงนิทรรศการ โดยมี เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน และทรงทรงประกอบพิธีเปิด ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรส่วนนิทรรศการ ผังภาพรวมศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันฯ เรื่องชาน้ำมัน ประวัติความเป็นมาและประโยชน์ของชาน้ำมัน และทอดพระเนตรส่วนแสดงการทำงานของเครื่องจักร เริ่มจากการกรอกเมล็ด จนถึงการบรรจุขวดผลิตภัณฑ์ เสด็จพระราชดำเนินเข้าห้องควบคุมคุณภาพ เพื่อทอดพระเนตรอุปกรณ์การทดสอบคุณภาพน้ำมันและอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ และเสด็จพระราชดำเนินมายังด้านในโรงงาน เพื่อทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องจักร ทรงนำเมล็ดชาใส่ลงใน Hopper ทอดพระเนตรเมล็ดชาผ่านเกลียวลำเลียงไปสู่เครื่องหีบน้ำมัน และทอดพระเนตรเครื่องหีบ เครื่องกรองน้ำมัน ถังลดกรด ถังฟอกสี ถังดูดกลิ่น ตามลำดับ
ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินด้านในโรงงาน เพื่อทอดพระเนตรส่วนกากเมล็ดชา และการใช้ประโยชน์จากกาก และทรงกรอกน้ำมันชาใส่ขวดปิดฝาและนำใส่เครื่องปิดฝา และทรงรับฟังรายงานแผนการดำเนินงาน การสร้างเครื่องจักรชุดที่ 2
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินออกทางประตูด้านหน้าโรงงาน เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรจากอำเภอแม่สาย และพื้นที่ใกล้เคียงที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ และเสด็จพระราชดำเนินไปยังร้านขายของที่ระลึก “เมล็ดชา” เพื่อทอดพระเนตรสินค้าภายในร้านเมล็ดชา และทรงปรุงน้ำสลัดจากน้ำมันชาและทรงปรุงมันฝรั่งก้อนปรุงรส ทอดด้วยน้ำมันชา เป็นสูตรพระราชทานเพื่อใช้ในร้านเมล็ดชา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน จัดขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อดำเนินการศึกษาและทดลองปลูก ต้นชาน้ำมันสายพันธุ์ Camellia Oleifera จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผลิตชาน้ำมันในประเทศไทย โดยสถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนนาน ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ต้นชาน้ำมัน เพื่อทดลองปลูกในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านชาน้ำมันจากสถาบันวิจัย ป่าไม้กวางสี มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อถ่ายทอดความรู้ ศึกษาพื้นที่และสภาพภูมิประเทศทางภาคเหนือของประเทศไทย รวมทั้งจัดหาชาน้ำมันสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและ ให้ผลผลิตน้ำมันมากกว่าเดิม โดยได้นำเมล็ดพันธุ์ต้นชาน้ำมันและต้นอ่อนจากเมืองหูหนาน มาทดลองปลูกและขยายพันธุ์ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และบริเวณใกล้เคียง
ในส่วนของการดำเนินโรงงานชาน้ำมันและพืชน้ำมัน เพื่อเป็นการผลิตน้ำมันคุณภาพสูงสำหรับการบริโภคและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ รวมถึงเป็นโรงงานต้นแบบที่สามารถเข้าชมได้ทุกจุดของการดำเนินงาน สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องเต็มประสิทธิภาพตลอดทั้งปี มีขั้นตอนที่เข้าใจง่าย สะอาด และคำนึงถึงระบบสิ่งแวดล้อมแบบธรรมชาติ รวมถึงมีระบบควบคุมการใช้พลังงาน และรูปแบบที่ทันสมัย สวยงาม และมีสีสัน ในขณะที่บริเวณด้านนอกได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนพักผ่อนสาธารณะ ซึ่งเป็นทั้งจุดท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับพืชน้ำมัน อีกด้วย
น้ำมันจากเมล็ดชา มีประโยชน์มากมายจนได้ชื่อว่าเป็น น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี และเคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดตีบตัน โรคอัมพาต โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการอักเสบของเนื้อเยื่อ จึงดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ
นอกจากจะใช้น้ำมันชาในการบริโภคและ ประกอบอาหารแล้ว น้ำมันชายังสามารถนำไปผลิตเป็นเวชภัณฑ์และเครื่องสำอางค์บำรุงเส้นผมและผิว พรรณต่างๆ เช่น ครีมและโลชั่นบำรุงผิว ครีมกันแดด สบู่ ยาสระผม หรือผสมกับน้ำมันหอมระเหย จากการวิจัยน้ำมันจากเมล็ดชาเพื่อประโยชน์ทางเครื่องสำอางค์ พบว่า โลชั่นที่ผสมน้ำมันชา 5% และ 10% ช่วยปรับสภาพผิวให้เรียบเนียนขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่น รวมถึงลดความหยาบกร้านและริ้วรอยบนผิว นอกจากนี้ น้ำมันชายังใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันกันสนิม สีที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม สารที่เหลือจากอุตสาหกรรม แยกน้ำมันเมล็ดชาสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นอาหารสัตว์และส่วนประกอบของปุ๋ย
กากเมล็ดชา (Tea seed meal) ที่ได้จากการหีบน้ำมันออกแล้วจะมีลักษณะเป็นก้อนแบน (Tea seed cake) ทั้งแบบที่มีและไม่มีฟางหุ้ม มีสารซาโปนินส์ประมาณ 11 ถึง 18% เป็นส่วนประกอบ สารตัวนี้สามารถนำไปใช้เป็นสารลดแรงตึงผิว เคลือบกันการขูดขีด และทำให้เกิดฟอง ใช้ในการผลิตน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ
รวม ถึงน้ำยากำจัดศัตรูพืช หอยเชอรี่ในนาข้าว และปลาในบ่อกุ้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการนำเข้ากากเมล็ดชาจากประเทศจีนที่สูงอยู่ในปัจจุบันได้
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกต้นชา น้ำมันส่งผลต่อชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ดังนี้ ทำให้ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับบริเวณที่ ปลูก ต้นชาน้ำมันมีรายได้โดยไม่ต้องออกไปรับจ้างภายนอกและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ ดีขึ้น ช่วยลดภาวะการเกิดไฟไหม้ป่าซ้ำซากในพื้นที่โครงการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มแหล่งต้นน้ำและแหล่งกำเนิดสัตว์ป่า เกิดป่าเศรษฐกิจแบบผสมผสานร่วมกับป่าไม้ตามธรรมชาติเดิมที่เหลืออยู่จากไฟ ไหม้ป่าครั้งที่ผ่านมา และเป็นการป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินบริเวณเชิงเขา
สำนักประชาสัมพันธ์
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา