สึนามิ
ศัพท์ควรรู้ในโครงการพระราชดำริ
โดย ศุลีพร บุญบงการ
โลกมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในแต่ละ
ครั้งก่อให้เกิดผลสืบเนื่องที่ตามมา ที่มนุษย์เรียกว่า ภัยธรรมชาติ ความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะของการเกิด และสภาวะแวดล้อม คลื่นยักษ์สึนามิ ถือเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ได้คร่าชีวิตของผู้คน และสร้างความเสียหายไว้อย่างมากมายมหาศาล
โดยเฉพาะเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้สร้างความ
สูญเสีย และสะเทือนขวัญครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกไว้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย มูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้ลงไปให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูภาคใต้ที่ผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคกันเข้ามาอย่างไม่อย่างขาดสาย นับเป็นภารกิจสำคัญภารกิจหนึ่งของมูลนิธิที่นอกจากจะพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่แล้ว ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย
Tsunami หรือ สึนามิ เป็นคำมาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า
harbor wave หรือ คลื่นที่เข้าสู่อ่าว ฝั่ง หรือท่าเรือ ซึ่งคำว่า harbor แปลว่าท่าเรือ harbor สะกดแบบไม่มีตัว u เป็นการสะกดแบบอเมริกัน ส่วน harbour เป็นการสะกดแบบอังกฤษ โดยคำว่า Tsu หมายถึง อ่าว ฝั่ง หรือท่าเรือ และ Nami หมายถึง คลื่น
สึนามิจึงเป็นชื่อคลื่นชนิดหนึ่งที่มีความยาวของคลื่นค่อนข้างมาก และช่วงห่างระยะเวลาของแต่ละลูกคลื่นยาวนาน ซึ่งคำว่า ขนาดของคลื่น นั้น ใช้คำว่า amplitude คือระยะทางระหว่างยอดคลื่นเทียบกับค่าเฉลี่ย คลื่นสึนามินี้มักสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหว ดังนั้นคลื่นสึนามิจึงสามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า seismic sea wave ซึ่ง seismic แปลว่า ที่เกี่ยวกับ หรือเกิดจากแผ่นดินไหว ส่วนสาเหตุการเกิดอื่นๆ มีอีกหลายประการ เช่น
- เกิดจากการระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟ เช่นเหตุการณ์ที่การากัว เมื่อปี 2426 การระเบิดของภูเขาไฟ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า volcanic eruption คำว่า volcano แปลว่าภูเขาไฟ ส่วนคำว่า eruption แปลว่า การระเบิดอย่างรุนแรง
- เกิดจากแผ่นดินถล่ม เช่นเหตุการณ์ที่อ่าวซากามิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2476 ซึ่ง แผ่นดินถล่ม ภาษาอังกฤษใช้คำว่า landslide ซึ่งมีอีกความหมายหนึ่งคือ ชัยชนะที่ถล่มทลายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
- เกิดจากการที่ก้อนหินตกลงในอ่าวหรือมหาสมุทร เช่นเหตุการณ์ที่อ่าวลิทูยา อลาสกา เมื่อปี 2476
- เกิดจาก การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ด้วยแรง tectonics ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหว เช่นเหตุการณ์อลาสกันซูนาม ที่อลาสกาในปี 2507 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย คำว่า แผ่นเปลือกโลก ภาษาอังกฤษใช้คำว่า plate คำว่า plate นี้มีความหมายหลายอย่าง เช่น จานอาหาร หรือป้ายทะเบียนรถยนต์ แต่สามารถแปลว่าแผ่นเปลือกโลกได้เช่นเดียวกัน ส่วนคำว่า เปลือกโลก นั้นใช้คำว่า crust
- เกิดจากการระเบิดใต้น้ำจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ และการจากการพุ่งลงของ
อุกาบาต แต่เกิดขึ้นน้อยครั้งมาก
ขอเพิ่มคำว่า ภัยธรรมชาติ อีกคำหนึ่ง ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า natural disaster
คำว่า natural มาจากคำว่า nature ที่แปลว่า ธรรมชาติ และคำว่า disaster แปลว่า ภัยพิบัติ ซึ่งสามารถใช้คำว่า catastrophe ได้เช่นเดียวกัน
แม้ว่าภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิจะมีความรุนแรงใหญ่หลวงนัก แต่นับว่าไม่ได้เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักในประเทศไทย แต่ถ้าเถึงธรรมชาติของมหันตภัยนี้ รวมทั้งวิธีการระวังป้องกัน ความเสียหายและสูญเสียอาจไม่รุนแรงใหญ่หลวงดังเช่นในอดีต
สนับสนุนข้อมูลโดย อาจารย์วรเวชช์ อ่อนน้อม นักภูมิศาสตร์
ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
และหนังสือ คลื่นยักษ์สึนามิ คลื่นอภิมหาภัย ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิชัยพัฒนา