- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารศูนย์บริการวิชาการ และทรงติดตามการดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารศูนย์บริการวิชาการ และทรงติดตามการดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเ ...
วันอังคารที่ 27 มีนาคม 2555 เวลา 9.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารศูนย์บริการวิชาการ และทรงติดตามการดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงห่วงใยในปัญหาน้ำเน่าเสียและปริมาณขยะที่มีจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม จึงทรงมีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาพิจารณาจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ พร้อมทั้งการกำจัดขยะด้วยวิธีการเรียบง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นมาใช้ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมชลประทาน เทศบาลเมืองเพชรบุรี และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามแนวพระราชดำริ โดยเลือกพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาวิจัย ณ บริเวณแหลมผักเบี้ย ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ผลของการศึกษาทดลองของโครงการ ซึ่งได้ค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีด้านการกำจัดขยะ และการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติช่วยธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ สามารถสรุปความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมได้ 4 แนวทาง คือ การกำจัดขยะในกล่องคอนกรีต การกำจัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัด การกำจัดน้ำเสียด้วยระบบหญ้ากรอง การกำจัดน้ำเสียด้วยระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และการกำจัดน้ำเสียด้วยระบบป่าชายเลน อีกทั้งได้บริการวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้เทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริให้แก่ชุมชนและหน่วยงานที่สนใจ
โครงการมีพื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ สามารถรองรับน้ำเสียได้ 2.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และรองรับขยะ 18 ตันต่อปี ซึ่งวิธีการบำบัดน้ำเสีย ประกอบด้วย ระบบบ่อบำบัดและพืชบำบัด สำหรับระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ นำน้ำเสียจากเมืองมาปล่อยลงบ่อซึ่งเรียงต่อกันหลายบ่อ ปล่อยให้น้ำไหลล้นจากบ่อหนึ่งไปสู่อีกบ่อหนึ่ง ตะกอนและโลหะหนักที่อยู่ในน้ำจะตกลงไปอยู่ก้นบ่อ น้ำที่ไหลผ่านบ่อต่างๆ จะได้รับการบำบัดผ่านกระบวนการทางธรรมชาติ Natural Oxidation อาศัยแสงแดด ลม และออกซิเจนในอากาศ จากบ่อหนึ่งไปสู่อีกบ่อหนึ่งคุณภาพน้ำจะสะอาดขึ้นเป็นลำดับ และมีปริมาณออกซิเจนเพิ่มขึ้นในน้ำ จนถึงบ่อสุดท้าย น้ำมีความสะอาดเพียงพอที่จะเลี้ยงปลาได้และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและพืชน้ำทั้งหลาย สำหรับระบบพืชบำบัดนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ปลูกพืชและหญ้าชนิดต่างๆ ที่สามารถขึ้นได้ในบ่อที่มีน้ำเสีย โดยอาศัยหลักการเดียวกันในการปล่อยให้น้ำไหลล้นจากบ่อหนึ่งไปสู่บ่อหนึ่ง พืชจะดูดซับโลหะหนักและอินทรีย์วัตถุ น้ำที่ได้ผ่านการบำบัดทั้ง 2 แบบ เมื่อถึงบ่อสุดท้ายน้ำจะมีคุณภาพดี สะอาดตามมาตรฐาน คือ ได้ค่า BOD ต่ำกว่า 20 มิลลิกรัมต่อลิตร และสามารถปล่อยลงสู่ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลต่อไป เท่ากับคืนชีวิตกลับสู่ทะเล
ผลจากการดำเนินโครงการมาตลอดระยะเวลา 20 ปี นอกจากการบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแล้ว ผลพลอยได้จากการคืนชีวิตสู่แผ่นดิน คือ การเกิดแผ่นดินงอกในบริเวณแหลมผักเบี้ย ประมาณ 300 ไร่ และเป็นแหล่งพักอาศัยของนกอพยพต่างถิ่นมากกว่า 240 สายพันธุ์ เช่น วงศ์นกเป็ดน้ำ วงศ์นกฟลามิงโก้ วงศ์นกกรีดน้ำ วงศ์นกกระทุง วงศ์นกโจรสลัด เป็นต้น ถือเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ประเภทและปริมาณของสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีเพิ่มมากขึ้น เช่น ปลา กุ้ง หอย สัตว์ประเภทตะกวด
การดำเนินงานในปัจจุบัน เน้นการส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียมากขึ้น โดยการจัดตั้งศูนย์ฯ ต้นแบบที่จังหวัดเพชรบุรี และมีโครงการนำร่องเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีของโครงการ 5 ศูนย์ คือ ภาคเหนือ (จังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัย) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดอุบลราชธานี) ภาคตะวันตก (จังหวัดสุพรรณบุรี) ภาคตะวันออก (จังหวัดจันทบุรี) และภาคใต้ (จังหวัดตรัง)
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีส่วนราชการ หน่วยงานเอกชน และประชาชนให้ความสนใจเข้าศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการฯ จำนวนกว่าหนึ่งล้านคน และได้บริการวิชาการ ตลอดจนให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งการบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะ แก่สมาชิกชุมชนกว่าหนึ่งหมื่นราย
จากการที่มีประชาชนเข้าศึกษาดูงานโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนาสร้างอาคารศูนย์บริการวิชาการและปรับปรุงพื้นที่โดยรอบ เพื่อรองรับผู้สนใจศึกษาดูงานในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทานและกรมการทหารช่าง
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้จัดกิจกรรมการบริการวิชาการ ได้แก่ การบรรยายเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ การเที่ยวชมพื้นที่โครงการฯ การศึกษาระบบนิเวศน์ป่าชายเลนตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ และกิจกรรมพิเศษในการดูนกในพื้นที่ป่าชายเลนในช่วงฤดูหนาว โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอเข้าชมโครงการ ได้ที่ www.lerd.in.th หรือ โทร 032-441-265