- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร จังหวัดลพบุรี ในระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2556
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร จังหวัดลพบุรี ในระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2556
วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร ของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอ บางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
ทรงรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ และทรงเพาะกล้าข้าวนาโยน ที่ใช้ในการขยายข้าวพันธุ์ดี ณ จุดเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวของศูนย์ฯ ซึ่งแปลงดังกล่าว เป็นแปลงที่เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกข้าวภายในโครงการฯ
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน และ วิสาหกิจชุมชนงิ้วลาย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เพื่อทอดพระเนตรผลการดำเนินงาน ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้ถือเป็นจุดขยายผลการเรียนรู้ของศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธร ฯ
ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน บ้านบึงประดู่ หมู่ที่ ๕ ตำบลทับหมัน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
ชุมชนแห่งนี้เดิมประกอบอาชีพทำนาโดยใช้พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงและพันธุ์ข้าวอายุสั้น(75 – 90 วัน) เพื่อเพิ่มจำนวนรอบในการปลูกข้าวให้มากขึ้น ซึ่งผลของการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวอายุสั้นจากร้านค้าที่ไม่ทราบคุณภาพมาเพาะปลูกทำให้ข้าววัชพืชขยายวงกว้างออกไปเกือบทุกพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวในพื้นที่นี้ตกต่ำ นอกจากนี้เกษตรกรยังใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูข้าวกันอย่างกว้างขวาง เพราะพันธุ์ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่ไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคข้าวที่สำคัญ ทำให้ต้นทุนการทำนาสูง ผลตอบแทนต่อไร่ต่ำแทบจะขาดทุนในปีที่ข้าวราคาต่ำ
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตพันธุ์ข้าวและปุ๋ยอินทรีย์ ตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
จากการที่เกษตรกรในพื้นที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรในการเพาะปลูกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางสภาพแวดล้อมและด้านการเพาะปลูก เกษตรกรภายในชุมชนจึงได้คิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการผลิตข้าวละปุ๋ยอินทรีย์ ณ “ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร” จนทำให้ปัจจุบันวิสาหิกจชุมชนกลุ่มผลิตและขยายพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลงิ้วราย สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด น้ำหมักชีวภาพ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้เป็นไปตามหลักวิชาการได้มากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตทำให้มีรายได้มากขึ้น สภาพดินและสิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์มากขึ้น และเป็นแหล่งเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนฯ มีสมาชิกเพิ่มขึ้น รวม 152 ราย
วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการผลิตข้าวพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ และโครงการ “รวมกันสู้อยู่อย่างพร้อม” ที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความสำคัญของพืชอาหารอันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของประชากรโลก และหนึ่งในพระราชกรณียกิจนานัปการ คือทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินงานการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหาร เพื่อเป็นฐานให้เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพ
เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมแปลงนาของ นางสาวสีดา นร-สิงห์ ราษฎรตำบลพุคา จังหวัดลพบุรี และแปลงนาของนางรัตนาพร ประลามุข ราษฎรตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ที่มีความตั้งใจผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทานได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแปลงทดลองการผลิตข้าวพันธุ์พระราชทานโดยการเพาะจากข้าวกล้อง ของว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ฤทธิ์ ทองดี กำนันตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
เสด็จพระราชดำเนินไปยัง โครงการ ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ เกิดขึ้นเนื่องจากที่ในปีพ.ศ.2554 ประเทศไทยได้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ราษฎรได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน บ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูกทำกินถูกน้ำท่วมจนราษฎรไม่สามารถใช้ชีวิต ประจำวันได้ดังปกติ มูลนิธิชัยพัฒนาได้เริ่มทำโครงการนำร่อง ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ ที่ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลพุคา และกำนันตำบลพุคา เนื่องจากชุมชนดังกล่าวประสบอุทกภัยในปี 2551-2554 มีน้ำท่วมขังนาน 1-3 เดือน เป็นระยะเวลา 4 ปีติดต่อกัน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินยังพื้นที่ดำเนินงาน “โครงการแก้มลิงโคกสำโรง” ตำบลโคกสำโรง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ผู้แทนกรมชลประทาน และคณะผู้บริหารจากบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงราษฎรในพื้นที่ เฝ้ารับเสด็จฯ
จากนั้น ทรงรับฟังรายงานเกี่ยวกับสภาพโครงการฯ และความก้าวหน้าในการก่อสร้าง จากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแหล่งน้ำของมูลนิธิชัยพัฒนา และผู้แทนจากกรมชลประทาน พร้อมกันนี้ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุน “เคียงข้างไทยภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย” กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการแก้มลิงโคกสำโรง ในการนี้ได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกแก่ผู้ทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดิน จากนั้นทอดพระเนตรความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการฯ และทรงเยี่ยมกลุ่มผู้ใช้น้ำรวมถึงราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรวมตัวกันเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยกันอนุรักษ์น้ำให้ยั่งยืนสืบไป
เสด็จพระราชดำเนินถึงพื้นที่ดำเนินงาน “โครงการแก้มลิงหนองสมอใส” ตำบลบางคู้ และตำบลบางลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ทรงรับฟังบรรยายสรุปความเป็นมาของโครงการจากเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และทรงประกอบพิธีเปิดป้ายโครงการฯ พร้อมทรงรับฟังรายงานสภาพโครงการฯ กิจกรรม และผลการดำเนินงาน จากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแหล่งน้ำของมูลนิธิชัยพัฒนา และผู้แทนจากกรมชลประทาน พร้อมทรงรับฟังวิธีการบริหารจัดการน้ำในบ่อและการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจากหัวหน้ากลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรบางรายได้ปรับเปลี่ยนลักษณะการทำนามาเป็นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า จำนวน 120 ไร่ จากนั้นทอดพระเนตรผลการดำเนินงาน พร้อมทรงเยี่ยมกลุ่มผู้ใช้น้ำรวมถึงราษฎรในพื้นที่
โครงการแก้มลิงหนองสมอใส เป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการแก้มลิงของมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 4 แห่ง โดยมีโครงการแก้มลิงหนองสมอใสรวมอยู่ด้วย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด
หนองสมอใส เป็นหนองน้ำธรรมชาติ ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกระเทียม ช่วยรองรับน้ำส่วนที่เกินความต้องการของพื้นที่เพาะปลูก และระบายน้ำจากพื้นที่นาก่อนการเก็บเกี่ยว แต่ด้วยสภาพของหนองน้ำที่ตื้นเขินทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นแก้มลิงที่สมบูรณ์ เพื่อสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงฤดูฝน บรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังและอุทกภัยในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำ รวมถึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนด้วย