- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เยี่ยมชมโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดเชียงราย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เยี่ยมชมโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดเชียงราย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2556
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ และศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
เวลา 10.30 น.เสด็จพระราชดำเนินไปยัง บ้านนายสมศรี ใจสูง เลขที่ 36 หมู่ 7 บ้านสันเกล็ดทอง ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อทอดพระเนตรแปลงผักสดของเกษตรกรที่เข้าร่วม โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง และโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำในการปลูกผักอย่างถูกวิธี รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกและการดูแลแปลง และรู้จักการวางแผนการเพาะปลูกจนทำให้เกษตรกรมีผักสดไว้ใช้ ในการบริโภคตลอดทั้งปี และยังสามารถนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคส่งจำหน่ายให้กับศูนย์ฯ ต่อไป
โครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ เป็นโครงการที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริดำเนินการขยายผลการปลูกพืชผักพื้นบ้านออกสู่ราษฎร มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ราษฎรปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้าน เพื่อให้มีผักที่ปลอดภัยจากสารพิษบริโภค หากเหลือสามารถจำหน่ายเป็นรายได้เสริม โดยในเดือนเมษายน 2553 ได้เริ่มโครงการนำร่องร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม ที่มีชุมชนเข้มแข็งมีความต้องการปลูกพืชผักพื้นบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือน เมื่อมีเหลือแล้วนำไปจำหน่ายและสามารถเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปได้อีก
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เริ่มต้นโครงการโดยแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์คะน้า กวางตุ้ง ต้นแคบ้านดอกขาวและมะรุมอินเดีย ให้แก่ราษฎรตำบลโป่งงาม และตำบลโป่งผา จำนวน 1,235 ครัวเรือน และหน่วยราชการ 18 แห่ง ราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกผักสวนครัว เมื่อเข้าโครงการก็ได้ปลูกผักพื้นบ้านที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปลูกพืชอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อบริโภคในครัวเรือนจนกระทั่งมีเหลือสามารถนำมาจำหน่ายให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ นำมาขายที่ร้านจันกะผัก อันเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ปัจจุบันมีราษฎรเข้าร่วมโครงการ 3,767 ครัวเรือน
โครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP GAP มาจาก Good Agricultural Practice แปลว่าการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้จัดโครงการสนับสนุนให้ราษฎรปลูกผักให้เข้ามาตรฐาน GAP เป็นการสนับสนุนให้ราษฎรปฏิบัติตามข้อกำหนดในการปลูกพืชให้ได้ผลผลิต ที่ปลอดภัยปลอดศัตรูพืชและมีคุณภาพที่ดี เนื่องจากราษฎรที่เข้าโครงการเป็นราษฎรในโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ มีพื้นที่ปลูกผักเป็นแปลงเล็กๆภายในบ้าน จึงมีปัญหาในการขอ GAP ที่การตรวจสอบแปลงพืชของกรมวิชาการเกษตรจะต้องตรวจเป็นแปลงใหญ่ ในตอนแรกศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จึงร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม รวบรวมกลุ่มราษฎรเพื่อให้แต่ละกลุ่มมีพื้นที่ปลูกพืชมากพอที่กรมวิชาการเกษตรจะเข้าทำการตรวจสอบได้ จากการรวมกลุ่มนี้ทำให้ราษฎรในกลุ่มจะต้องมีความสามัคคี ดูแลกันและกันให้ปลูกพืชให้ปลอดภัยตามมาตรฐาน เพราะหากมีบ้านใดไม่ผ่านการตรวจสอบจะทำให้ทุกบ้านในกลุ่มไม่ผ่านมาตรฐานทั้งกลุ่ม จากผลของความร่วมแรงร่วมใจ ความมุ่งมั่นตั้งใจ และความสามัคคี ทำให้กลุ่มปลูกพืชของราษฎรตำบลโป่งงามได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นได้ดำเนินตาม ปัจจุบันมีราษฎรเข้าร่วมโครงการ 294 ครัวเรือน
เวลา 11.20 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโป่งงาม อำเภอ แม่สาย จังหวัดเชียงราย ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ ในหน่วยงานราชการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลโป่งงาม เป็นหนึ่งในหน่วยราชการที่เข้าร่วมโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ นำเมล็ดพันธุ์และกล้าพันธุ์จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มาปลูกในบริเวณโดยรอบและอนุญาตให้ราษฎรที่มารับการรักษาเก็บกลับไปทำอาหารบริโภคที่บ้านได้ นับเป็นหน่วยราชการที่รับสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะให้ประชาชนได้มีผักที่ปลอดภัยบริโภคกันในครัวเรือน
ในช่วงบ่าย เวลา 12.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ถึงร้าน จันกะผัก ของ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนำคณะเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ฯ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไปและราษฎรในพื้นที่ประสบภัยพิบัตินับเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552
กิจกรรมหลักของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ คือ ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักที่ดีเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ฟักแฟง แคบ้านดอกขาว ถั่วพู มะเขือเปราะเจ้าพระยา มะเขือขาวกรอบ บวบ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว น้ำเต้า เป็นต้น และมีการดำเนินงานปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชให้เกษตรกรได้มีพืชสายพันธุ์ที่ดี ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรด้าน พันธุ์พืชทนทานต่อโรคและแมลงได้ผลผลิตที่ดี
การผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้ปริมาณนั้น ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าร่วมถวายงาน และช่วยให้มีเมล็ดพันธุ์ผักสำรองเพียงพอตามพระราชประสงค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เริ่มพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านชุดแรกของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ แก่ผู้ประสบอุทกภัยในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด ในปี 2556 และจากนั้นได้พระราชทานแก่ผู้ประสบภัยเรื่อยมา
ในด้านการบริการสังคม ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ได้จัดตั้งโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โครงการ “ ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน” และโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรปลูกผักที่ปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน หากเหลือสามารถจำหน่ายเป็นรายได้ให้แก่ครัวเรือน เป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จากการปลูกผัก และทำให้ราษฎรมีสุขภาพดีจากการบริโภคผักที่ปลอดภัย
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ผักและได้มีการดำเนินงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการปรับปรุงพันธุ์ผัก ข้าว ถั่วเหลือง และการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ในดิน
โครงการปรับปรุงพันธุ์ผักพระราชทาน ปลูกคัดเลือกพริกสีม่วง ปลูกคัดเลือกพริกช่อผลใหญ่ ปลูกคัดเลือกพริกเผ็ด ดร.สุเมธ และปลูกแคชมพู F2 ปลูกทดสอบพันธุ์ถั่วฝักยาวลายเสือ และมะเขือเปราะลาย ซึ่งทั้งสองพืชนี้ คาดว่าสามารถออกพันธุ์ใหม่ได้ในปี 2557
โครงการทดสอบความเสถียรสายพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสด คัดเลือกพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดที่มีกลิ่นหอม พันธุ์ไทย ที่มีศักยภาพในการปรับตัวที่เหมาะสม
โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวมะลิ 105 ให้ทนแล้ง ไม่ไวแสง และต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนแล้ง ไม่ไวต่อช่วงแสง และต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และยังคงความหอม
โครงการศึกษาประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์ต่อการปลดปล่อยธาตุอาหาร และเพิ่มสมดุลของความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นการศึกษาชนิดของวัสดุที่เหมาะสมต่อการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่สะดวกต่อการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ศึกษาประสิทธิภาพการต้านทานโรคพืชของจุลินทรีย์ในพืชจากแปลงทดลองที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ จังหวัดเชียงราย และฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯให้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช และลดสาเหตุการก่อโรค
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรวบรวมพันธุ์พืชจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพระราชทานเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริทดลองปลูกอีกด้วย
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มีนโยบายที่จะพัฒนาพันธุ์พืชอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน รวบรวมและสะสมเพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์พืชที่ดี แม้ไม่ใช่พันธุ์ที่ดีที่สุดในเชิงการค้า แต่จะเป็นพันธุ์ที่ดีพอสมควร สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้กับครัวเรือน สร้างความแข็งแรงมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน เป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังพระราชดำรัสที่รับสั่ง ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 ความว่า
“ปัจจัยสำคัญของการเกษตร นอกจากจะเป็นเรื่องน้ำและดินแล้ว การมีพันธุ์พืชที่ดีให้เกษตรกรปลูก เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ทำเองจัดเองทำให้เราได้ศึกษาวิธีการว่า พันธุ์ต่างๆนอกจากจะทำให้มีปริมาณมากขึ้นแล้ว คุณภาพที่จะเหมาะสมในแต่ละแห่งจะทำอย่างไร เพราะถ้าเราทำเองจะทราบว่าตรงไหนต้องทำอย่างไร เป็นความรู้ของพวกเราทุกคนด้วย”
เวลา 14.15 น. เสด็จฯ ถึงศูนย์พัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ทรงรับฟังการบรรยายเรื่องแนวพระราชดำริและความเป็นมาของศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน พร้อมทั้งทอดพระเนตรส่วนนิทรรศการและกระบวนการผลิตน้ำมัน จากนั้นเสด็จพระดำเนินไปส่วนโรงงานทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องจักรขนาดเล็ก และการบีบน้ำมันเมล็ดชาน้ำมันและ เมล็ดงาม้อน และก่อนเสด็จกลับได้พระดำเนินไปยังร้าน “เมล็ดชา” เพื่อพระราชทานของที่ระลึกให้กับคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
ชาน้ำมัน ได้ชื่อว่าเป็นน้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก แม้น้ำมันเมล็ดชาจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พบและได้ลองใช้น้ำมันเมล็ดชาด้วยพระองค์เอง และทรงพบว่าน้ำมันเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่มีประโยชน์สูงต่อร่างกายในหลายด้าน จึงได้ทรงมีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้ดำเนินการศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์ Camellia Oleifera ที่ได้รับมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนบนดอยสูงทางภาคเหนือของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 (คศ.2004) ในรูปแบบของการปลูกป่า เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้มีมากขึ้น และราษฏรสามารถใช้ประโยชน์จากป่าในลักษณะเกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน หลังจากนั้นจึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน เพื่อใช้เป็นโรงงานหีบน้ำมันจากเมล็ดชาและพืชน้ำมันอื่นๆ และยังเป็นสถานที่วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับพืชน้ำมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายไม่ว่าจะเป็นน้ำมันจากเมล็ดชา ทานตะวัน มะรุม และพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการจะให้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยรวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดต่างๆ ได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้แก่ประชาชนทั่วไป จากแนวพระราชดำริดังกล่าว สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้จัดสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาชาและพืชน้ำมันขึ้นบนเนื้อที่กว่า 150 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมันได้เริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี พ.ศ. 2554 ได้ทำการวิจัยและพัฒนาในการนำน้ำมันจากเมล็ดชาไปใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ซึ่งศูนย์ฯ ก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สบู่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าประจำและลูกค้าผู้เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์ นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังจัดให้มีบริการอื่นอีกเช่น สวนพัก ผ่อน ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า ลานนิทรรศการ และลานกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้มาเยี่ยมชมเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันชาและพืชน้ำมันในหลายๆ โอกาส
โรงงานผลิตชาน้ำมันและพืชน้ำมัน - เป็นโรงหีบน้ำมันชาแห่งแรกและเป็นโรงหีบน้ำมันชาที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เครื่องจักรทุกชิ้นที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบและผลิตภายในประเทศ จากการต่อยอดเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซลของโครงการในพระราชดำริ การดำเนินการจัดสร้างและติดตั้งเครื่องจักรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ รศ. สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โรงงานยังได้รับเครื่องหมายมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยโรงงานต้นแบบที่จัดสร้างขึ้นนั้นสามารถผลิตน้ำมันชาและน้ำมันจากพืชชนิดอื่นๆ สำหรับการบริโภคได้เฉลี่ยเดือนละ 5,000 ลิตร มีห้องเก็บวัตถุดิบและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำมัน โดยสามารถเปิดให้ผู้สนใจเข้าศึกษากระบวนการผลิตน้ำมันได้ในทุกขั้นตอน
ส่วนนิทรรศการ - เป็นส่วนเชื่อมต่อกับส่วนอาคารสำนักงาน พื้นที่เป็นโถงโล่งโปร่งใช้สำหรับจัดงานนิทรรศการให้ความรู้เรื่องน้ำมันชาและพืชน้ำมันชนิดต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ ได้ทำการผลิตและนำออกจัดจำหน่าย หรือที่กำลังทดลองปลูกและนำมาสกัดน้ำมัน พื้นที่ส่วนนิทรรศการมีพื้นที่เชื่อมต่อกับโรงหีบน้ำมัน เมื่อได้เข้าชมนิทรรศการแล้วผู้เข้าชมสามารถเดินตามระเบียงทางเดินลาดลงที่จะนำไปสู่พื้นที่ของโรงหีบ เพื่อที่จะไปชมการสกัดและผลิตน้ำมันชา หรือพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ นอกจากนี้พื้นที่ส่วนนิทรรศการในบางโอกาสก็ยังใช้เป็นพื้นที่ในการจัดงานประเพณีหรือจัดกิจกรรมต่างๆ เสริมความรู้ให้ผู้มาเยี่ยมชมร้านอาหารเมล็ดชา
ร้านอาหารเมล็ดชา (Maletcha) - เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีโลโก้เป็นรูปดอกชาสีขาวที่กำลังเบ่งบานรับแสงอย่างเต็มที่ แนวคิดของร้านมาจากการผสานความเป็นธรรมชาติเข้ากับความทันสมัยที่เจือด้วยเสน่ห์กลิ่นอายของการจัดวางร้านแบบเมืองเหนือ บนพื้นที่เปิดโล่งขนาด 80 ที่นั่งริมสระน้ำขนาดใหญ่ที่จะสร้างประสบการณ์การรับประทานอาหารในด้านรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส จากอาหารที่ปรุงขึ้นอย่างพิถีพิถันได้อย่างครบถ้วน ภายใต้บรรยากาศที่มีความเป็นส่วนตัว แฝงด้วยความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย โดยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเมนูพิเศษให้กับทางร้านคือ เมนูโครเก็ตเบคอน และเมนูซุปมะเขือเทศ นอกจากนี้ทางร้านยังมีเมนูอาหารอร่อยอื่นๆ อีกที่ใช้น้ำมันชามาเป็นส่วนผสมในการปรุงมาให้บริการ
ร้านขายสินค้าที่ระลึก - ร้านขายสินค้าที่ระลึกเป็นสถานที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตราเมล็ดชาและตราภัทรพัฒน์มากกว่า 400 รายการ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผลผลิตที่ได้จากการหีบน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันเช่น น้ำมันชา น้ำมันทานตะวัน น้ำมันมะรุม น้ำมันไนเจอร์ซีด หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้น้ำมันชาเป็นส่วนผสมเช่น บอดี้โลชั่น บอดี้ออยล์ เซรั่ม ครีมกันแดด กลุ่มผลิตภัณฑ์สบู่ เช่น สบู่สูตรสครับใบชา สบู่กลิ่นลีลาวดี และสบู่ใยไหมทองคำ นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์จากผลผลิตชาน้ำมันแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ ตราภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ทางศูนย์นำมาจัดจำหน่ายเช่น เสื้อโปโล ถ้วยน้ำ สมุดโน๊ต พวงกุญแจรูปต่างๆ และผลิต ภัณฑ์ติดดาวของท้องถิ่นเช่นผลิตภัณฑ์ กระดาษสาในรูปแบบต่างๆ