- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา
การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา (โครงการแก้ไขปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ พื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม) ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา การอนุรักษ์ระบบนิเวศต้นน้ำ การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม และโครงการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาการเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ พื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
ในการนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมกับจังหวัดพะเยา หน่วยงานราชการต่างๆ และชุมชนโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยไฟ บ้านทุ่งกระเทียม พิจารณากำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือปัญหาราคากระเทียมตกต่ำอย่างยั่งยืน โดยกำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์กระเทียมที่เหมาะสม การบำรุงดิน การเพิ่มผลผลิต การป้องกันโรคแมลง ที่มีเป้าหมายในการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี การแปรรูปผลผลิต และการส่งเสริมการตลาด นอกจากนี้ ยังให้การส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตรรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าว ซึ่งเป็นกิจกรรมการเกษตรหลักของพื้นที่ และการส่งเสริมด้านการประมง และปศุสัตว์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ ในการดำเนินงานได้ให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มเกษตรกร และการขยายผลการพัฒนาไปยังกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ในระยะต่อไป
การพัฒนาในพื้นที่ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยานี้ เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ระบบนิเวศต้นน้ำ การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาด้านการเกษตร และการขยายผลการพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นระบบโดยใช้แนวทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกร และชุมชนในพื้นที่ ประกอบด้วยการพัฒนาด้านต่างๆ ดังนี้
การฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศต้นน้ำแบบมีส่วนร่วม
ก่อนปี พ.ศ. 2525 พื้นที่ป่าต้นน้ำบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยไฟ ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา โดยเฉพาะบริเวณห้วยต้นยางสภาพป่าถูกบุกรุกทำไร่ ปลูกข้าวโพด และข้าวไร่โดยชาวเขา ในขณะนั้น ราษฎรบ้านทุ่งกระเทียมได้ตระหนักว่าหากปล่อยให้มีการบุกรุกเปิดพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ป่าจะหมดสภาพความเป็นต้นน้ำลำธาร และราษฎรบ้านทุ่งกระเทียม และหมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่ท้ายน้ำจะเดือดร้อนเป็นอันมาก จึงได้ร่วมกันขอร้องให้ชาวเขาย้ายไปทำกินที่บริเวณที่ลุ่มบ้านนาหนุน ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยไฟ จนป่าเริ่มมีไม้เบิกนำ เช่น ไผ่ หญ้าแขม และลูกไม้ต่างๆ ขึ้นปกคลุม และยังสามารถรักษากลุ่มไม้ยาง และไม้ประดู่ที่มีค่าไว้ ชุมชนได้ร่วมกันสร้างฝายทดน้ำ เพื่อนำน้ำไปใช้ที่หมู่บ้านแทนการสูบน้ำจากบ่อ ทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมกันอนุรักษ์น้ำ ดิน และป่า ช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับคืนสภาพอุดมสมบูรณ์ได้อย่างมีประสิทธิผลตามแนวพระราชดำริ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 อุทยานแห่งชาติภูซาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และราษฎรกลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านทุ่งกระเทียม ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการชลประทานพะเยา รวมทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โทมัสสุ ไชยยศ จำกัด ได้ร่วมกันสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามโครงการสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบรอบ 80 พรรษา จำนวน 80 แห่ง ในเขตอุทยานแห่งชาติภูซางบริเวณห้วยต้นยาง อันเป็นสาขาหนึ่งของต้นน้ำห้วยไฟ ซึ่งอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำห้วยไฟ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านทุ่งกระเทียม หมู่ที่ 11 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
ในปี 2552 อุทยานแห่งชาติภูซางได้ร่วมกับราษฎรบ้านทุ่งกระเทียมภายใต้ชื่อ กลุ่มผู้ใช้น้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านทุ่งกระเทียม ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารเพิ่มเติมอีกจำนวน 150 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โทมัสสุ ไชยยศ จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการ 80 ปี 880 ฝาย ปูนอินทรีสร้างถวายในหลวง ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา นอกจากนี้ ได้จัดสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำ รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
การบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยไฟ ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไฟเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานพะเยา กรมชลประทาน มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างทั้งปี 6,300,000 ลบ.ม. มีความจุที่ระดับเก็บกัก 700,000 ลบ.ม. ที่ระดับน้ำสูงสุด 825,000 ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานรวม 3,000 ไร่ เพื่อการอุปโภค บริโภค 8 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลภูซาง ประกอบด้วย บ้านทุ่งกระเทียม หมู่ที่ 11 บ้านทุ่งติ้ว หมู่ที่ 6 บ้านสถาน หมู่ที่ 1 และ2 และบ้านห้วยไฟวัฒนา หมู่ที่ 13 ตำบลป่าสัก ประกอบด้วย บ้านแก หมู่ที่ 1 และ 2 และบ้านแกใหม่ หมู่ที่ 6 มีจำนวนครัวเรือนรวม 893 ครัวเรือน ประชากร 3,949 คน
ลักษณะของอ่างเก็บน้ำห้วยไฟ แต่เดิมมีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปี แต่หลังจากมีการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้น้ำที่เคยไหลตลอดทั้งปีเกิดแห้งแล้งขึ้นในบางช่วงเช่น ระหว่าง เดือน มีนาคม - พฤษภาคม แต่ในช่วงปลายฤดูฝนมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก ในขณะที่อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักได้เพียง 11%`ของปริมาณน้ำไหลลงอ่างทั้งปี จึงไม่สามารถที่จะช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งได้อย่างทั่วถึง แต่หลังจากปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา โครงการชลประทานพะเยาได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำโดยอาศัยหลักการของการเชื่อมโยงน้ำด้วยระบบอ่างพวง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก จากอ่างเล็กเติมเข้าสระขนาดต่างๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2532 ได้ดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายขึ้น และสามารถเชื่อมโยงน้ำไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยจำตอง ตามพระราชดำริที่มีความจุเพียง 30,000 ลบ.ม.ได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้ดำเนินการก่อสร้างสระเก็บน้ำ(หนองห่าน) ความจุ 17,400 ลบ.ม.ขึ้นในบริเวณกลางหมู่บ้านทุ่งกระเทียม เพื่อแก้ไขปัญหา การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภค บริโภค และ ใช้ลำน้ำห้วยไฟเป็นแหล่งกักเก็บน้ำช่วงปลายฤดูฝน โดยอาศัยฝายเดิมของเกษตรกรที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำ จำนวน 15 แห่ง ตลอดลำน้ำห้วยไฟ ซึ่งมีความยาวถึง 6.12 กม.เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และในปี พ.ศ. 2551 ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำที่สามารถเชื่อมโยงน้ำไปเก็บกักยังหนองจิระ ที่มีความจุ 70,400 ลบ.ม. และสระเก็บน้ำหมู่ 5 ที่มีความจุ 32,000 ลบ.ม. และด้านฝั่งซ้ายทำการเชื่อมโยงน้ำด้วยระบบท่อ มาเก็บกักน้ำไว้ในถัง คสล. ขนาดความจุ 150 ลบ.ม.บริเวณภายในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้ก่อสร้างสระเก็บน้ำบ้านทุ่งกระเทียม ขนาดความจุ 13,500 ลบ.ม. ไว้เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำภายในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยไฟ มีความได้เปรียบของสภาพเชิงภูมิสัณฐานของพื้นที่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำใต้ดินที่สามารถนำมาใช้เสริมในการเกษตร และสภาพพื้นที่การเกษตรสองข้างลำน้ำห้วยไฟมีระดับความสูงมากกว่าลำน้ำห้วยไฟ และมีความลาดเทเข้าสู่ลำน้ำห้วยไฟทั้งสองด้าน เมื่อมีการทดน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำด้วยฝายเดิมแต่ละฝายแล้ว น้ำที่เหลือจะไหลกลับสู่ลำน้ำห้วยไฟอย่างเดิม ทำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยไฟ โครงการชลประทานพะเยาใช้การวางแผนอย่างเป็นระบบเหมืองฝายเดิม โดยให้เกษตรกรในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในรูปแบบของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้งในช่วงฤดูฝน และช่วงฤดูแล้ง มีการกำหนดรูปแบบในการบริหารจัดการการปิด-เปิดประตูน้ำในช่วงฤดูฝน และการตกลงแบ่งปันน้ำในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งมีระบบการจัดสรรน้ำในระดับเหมืองฝาย ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำจะร่วมกันประชุมวางแผนการปลูกพืช และการส่งน้ำก่อนฤดูการเพาะปลูก เพื่อให้การบริหารจัดการ และการใช้น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยไฟ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ประเภทการบริหารจัดการน้ำ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549
อย่างไรก็ดี ช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนมีนาคม พฤษภาคม ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างมีปริมาณน้อย ทำให้ขาดแคลนน้ำ ปริมาณน้ำใต้ดินก็ลดลง ทำให้ปริมาณน้ำที่เคยไหลลงอ่างตลอดทั้งปีเริ่มมีปริมาณลดลง โดยมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ต้นน้ำของห้วยไฟ ดังนั้น จึงได้มีการร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีการกำหนดเกณฑ์การใช้น้ำอย่างประหยัด ให้คณะกรรมการของทุกฝายช่วยกันกำกับดูแลให้สมาชิกผู้ใช้น้ำปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และข้อตกลงในการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และการจัดทำฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในบริเวณป่าต้นน้ำ รวมทั้งวางแผนการเชื่อมโยงน้ำด้วยระบบอ่างพวง เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักในระยะต่อไป
โครงการแก้ไขปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ พื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา และศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานพระราชานุมัติแผนงาน และงบประมาณการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาราคากระเทียมตกต่ำ พื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นการประสานบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการเกษตร ในพื้นที่บ้านทุ่งกระเทียม และพื้นที่บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมกับจังหวัดพะเยา และหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ โครงการชลประทานพะเยา กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง การโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการพิจารณากำหนดแนวทางการส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือกิจกรรมด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบ ครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือก และการพัฒนาพันธุ์พืช การบำรุงดิน การเพิ่มผลผลิต การลด ละ เลิกสารเคมี การแปรรูปผลผลิต การส่งเสริมการตลาด และการพัฒนาด้านการเกษตรรูปแบบต่างๆ ตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นทางเลือก และเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างในการเผยแพร่ขยายผลการพัฒนาไปยังพื้นที่ต่างๆ ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้พัฒนาการเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ประมาณ 57 ไร่ ของบ้านทุ่งกระเทียม ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการในการบูรณาการ และพัฒนาองค์ความรู้ สำหรับใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตร โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรเมื่อเดือนกรกฎาคม 2514 และได้ทรงปลูกต้นขนุนไว้ 2 ต้น ซึ่งในขณะนั้นเป็นพื้นที่ของกองชาวเขาอาสาสมัครที่ 11 และต่อมาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ของค่ายกองร้อยทหารพรานที่ 3106 และเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์รกร้างว่างเปล่ามาจนถึงในปัจจุบัน
การดำเนินกิจกรรมส่งเสริมด้านการเกษตรภายในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเกษตรอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรม 3 กลุ่ม ได้แก่
- กิจกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยการผลิต ได้แก่ การก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ การก่อสร้างโรงเก็บผลผลิต ลานตากผลผลิต ยุ้ยฉางข้าว และเครื่องสีข้าว การก่อสร้างโรงเพาะเห็ด การก่อสร้างสระเก็บน้ำสนับสนุนกิจกรรมภายในศูนย์เรียนรู้ การจัดสร้างถนนเชื่อมโยงการขนส่ง และการก่อสร้างโรงผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และลานตาก เป็นต้น
- กิจกรรมวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ทางการเกษตร ได้แก่ การทดสอบพันธุ์พืชและเทคโนโลยีปลูกพืชหลังนา เช่น กระเทียม ถั่วลิสง และถั่วเหลือง การรณรงค์การปุ๋ยหมัก และการบริหารศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุนการผลิต การแปรรูปผลผลิตการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า การส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และการบริหารแปลงเครือข่ายการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การสาธิตการเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์ การสาธิตการเลี้ยงปลานิล ปลากดหลวง และปลาดุกลูกผสมในบ่อดิน และการจัดทำสวนป่าชุมชน และพืชสมุนไพร เป็นต้น
- กิจกรรมส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ฯ ได้แก่ การขยายผลการพัฒนาไปยังพื้นที่ต่างๆ การส่งเสริมกิจกรรมการรวมกลุ่มเกษตรกร และการประสานดูแลการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นต้น