- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาดังนี้
โครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เวลา 08.30 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงโครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา เลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เพื่อขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎร
กาลครั้งนี้ รัฐบาลประเทศบังคลาเทศได้น้อมเกล้าฯถวายแพะพันธุ์เบล็คเบงกอลจำนวน 3 ตัว ซึ่งได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 เป็นเพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 2 ตัว และกรมปศุสัตว์ได้นำแพะแบล็คเบงกอลดังกล่าว ไปเลี้ยงดูพักฟื้น และกักตรวจโรคเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เป็นแพะที่มีขนาดเล็กสูงประมาณ 40-60 ซม. มีขนสั้นดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เป็นเงา ใบหูมีขนาดเล็กตั้งชี้ไปข้างหน้า ขนสั้น ละเอียดนุ่ม โตเต็มวัยจะมีความสูงที่หัวไหล่ประมาณ 40-46 เซนติเมตร น้ำหนักตัวผู้ 15 กิโลกรัม ตัวเมีย 12 กิโลกรัม ลักษณะไม่เหมือนแพะสายพันธุ์อื่นตรงที่ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเคราและเขา
จุดเด่นของแพะสายพันธุ์นี้ คือมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง เจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วมาก ตั้งท้องเพียง 150 วัน เมื่อตกลูกมักจะออกแฝด 2 ถึง 4 ตัว สามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งปี ให้ลูกครั้งแรกเมื่ออายุ 15-16 เดือน มีลูกเฉลี่ยครอกละ 2 ตัว ข้อเสียคือให้นมน้อยไม่ค่อยเพียงพอต่อลูกที่คลอดครั้งละมากๆ เฉลี่ยให้นม 0.4 กิโลกรัม/วัน หรือประมาณ 44 กิโลกรัมต่อระยะการให้นม 105 วัน
แพะแบล็คเบงกอล เป็นแพะขนาดเล็ก เลี้ยงเพื่อผลิตเนื้อและหนังเป็นหลัก เนื้อมีคุณภาพดี รสชาติดี หนังมีคุณภาพ ราคาแพง แพะพันธุ์นี้เลี้ยงมากในอินเดียและบังคลาเทศ
ต่อมา เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประเทศปากีสถาน เดือนมีนาคม ปี 2555 ได้ทรงนำแพะพันธุ์บาบาร์รีมาพระราชทานโครงการ จำนวน 1 คู่ เป็น เพศเมีย 1ตัว เพศผู้ 1 ตัว และพระราชทานเพิ่มอีก 1 คู่ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
แพะบาร์บารี เป็นแพะกึ่งเนื้อกึ่งนม มีขนสั้น ส่วนมากสีขาวมีจุดด่างสีน้ำตาล รูปร่างเพรียว หัวเล็ก คอยาวเรียว ขาตรง
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าร่วมดำเนินการวิจัยกับมูลนิธิชัยพัฒนา ในการผลิตแพะแบล็คเบงกอลสายพันธุ์แท้ และผลิตแพะลูกผสมขึ้นเพื่อให้แพะมีความแข็งแรง ใช้ประโยชน์ได้ดีทั้งเนื้อ และน้ำนม และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี โดยได้นำแพะพันธุ์ซาเนน และลูกผสมซาเนนพื้นเมือง มาผลิตลูกผสมสามสายพันธุ์
ส่วนแพะบาร์บารี ที่ทรงนำมาจากประเทศปากีสถาน ได้เกิดปัญหาไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ จึงมีกระแสรับสั่งกับอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้เข้าดำเนินการทดสอบการขยายพันธุ์แพะบาร์บารี โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพเชียงใหม่ ร่วมกับนายคมจักร พิชัยรณรงค์สงคราม ผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ มูลนิธิชัยพัฒนา และปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เข้าดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นกับพ่อแพะบาร์บารี ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพเชียงใหม่ได้เสนอความเห็นให้ย้ายแพะบาร์บารีทั้งหมด 4 ตัว ไปดูแลที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์เชียงราย เพื่อเปลี่ยนลักษณะภูมิอากาศ เนื่องจากบริเวณพื้นที่โครงการอาจหนาวเย็นเกินไป และนำแม่แพะที่เคยให้ลูกมาแล้ว 2 ตัวเข้ามาผสมพันธุ์แบบธรรมชาติกับพ่อแพะพันธุ์บาร์บารี ทั้ง 2 ตัว เพื่อติดตามผลการผสมติด การตั้งท้อง และการให้ลูก
ปัจจุบันมีแพะแบล็คเบงกอล จำนวน 67 ตัว เป็น เพศเมีย 35 ตัว เพศผู้ 32 ตัว กำลังตั้งท้องอีก 9 ตัว มีแพะพันธุ์ซาเนน 10 ตัว เป็น เพศเมีย 9 ตัว เพศผู้ 1 ตัว กำลังตั้งท้องอีก 5 ตัว แพะซาเนนพื้นเมือง 22 ตัว เป็นเพศเมีย 20 ตัว เพศผู้ 2 ตัว กำลังตั้งท้องอีก 5 ตัว และมีแพะลูกผสมสามสายพันธุ์แล้ว 4 ตัว นอกจากนี้ก็มีแพะบาร์บารี จำนวน 4 ตัว เป็น เพศเมีย 2 ตัว เพศผู้ 2 ตัว รวมมีแพะทั้งสิ้น 106 ตัว
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย
เวลาประมาณ 9.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย โดยในเวลาประมาณ 09.40 น. ได้เสด็จพระราชดำเนินยังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงคัดบรรจุผักปลอดภัยของชุมชน ตำบลบ้านด้าย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
โรงคัดบรรจุผักปลอดภัยของชุมชนที่จะสร้างขึ้นในบ้านดงป่าสัก ตำบลบ้านด้าย นี้ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง มูลนิธิชัยพัฒนาโดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านด้าย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกผักพื้นบ้าน สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกผักให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยจากสารเคมี โดยนอกจากจะสร้างโรงคัดบรรจุผักที่ได้มาตรฐานให้แก่กลุ่มเกษตรกรแล้ว ยังจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักปลอดสารพิษ กรรมวิธีในการคัดและบรรจุผักที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้น เป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยมีพระราชประสงค์ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ประชาชนทั่วไป และประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า
กิจกรรมหลักของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ คือ ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักที่มีคุณภาพเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ฟักแฟง แคบ้านดอกขาว ถั่วพู มะเขือเปราะเจ้าพระยา มะเขือขาวกรอบ บวบ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว พริก น้ำเต้า เป็นต้น และมีการดำเนินงานปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช ให้เกษตรกรได้มีพืชสายพันธุ์ที่ดี ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรด้านพันธุ์พืช ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดี
นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่โดยรอบ ดังนี้
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ เป็นโครงการที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านเข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก เช่น น้ำเต้า ฟักแฟง ถั่วพู ถั่วแปบ คะน้า กวางตุ้ง ฟักทอง และบวบหอม สะสมไว้เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติและโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ
เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้ปริมาณนั้น ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าร่วมถวายงาน และช่วยให้มีเมล็ดพันธุ์ผักสำรองเพียงพอตามพระราชประสงค์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านชุดแรกที่ผลิตโดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ แก่ผู้ประสบอุทกภัยในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด ในปี 2554 นับจากนั้นได้พระราชทานแก่ผู้ประสบภัยและราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลและทุรกันดารเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์แก่หน่วยงานราชการ 13 แห่ง สถานศึกษา 298 แห่ง ราษฎร 53,605 ครัวเรือน เป็นจำนวน 76,675 ชุด เป็นจำนวนซอง 460,050 ซอง และได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักแก่ราษฎร ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี อีก 19 ชนิด เป็นน้ำหนักเมล็ดพันธุ์รวม 2,884.6 กิโลกรัม
ส่วนโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP เกิดขึ้นจากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ราษฎรปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้าน ในโครงการ ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ เพื่อให้มีผักบริโภคกันในครัวเรือน หากเหลือสามารถจำหน่ายเป็นรายได้เสริม และต่อมาทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้จัดทำโครงการ ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’ ตามคำร้องขอของราษฎร โดยได้พระราชทานกล้าต้นมะรุม กล้าต้นเสี้ยว กล้าต้นขี้เหล็ก เมล็ดแค และกล้าไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ชมพู่ม่าเมี่ยว มะกอก มะขาม ให้ชุมชนนำไปปลูกทั้งในบ้าน ตามริมถนนในหมู่บ้าน และที่สาธารณะในหมู่บ้าน โดยมีพระราชประสงค์ให้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปสามารถเก็บไปประกอบอาหารรับประทานได้ และราษฎรมีไม้ผลไว้แบ่งปันกันบริโภค
ราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกผักสวนครัว เมื่อเข้าโครงการก็ได้ปลูกผักพื้นบ้านที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปลูกพืชอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อบริโภคในครัวเรือน จนกระทั่งมีเหลือสามารถนำมาจำหน่ายให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ นำมาขายที่ร้านจันกะผัก อันเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP เพื่อให้ผักที่นำมาจำหน่ายเป็นผักที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมโครงการ‘บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง’ และ ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’ ทั้งสิ้น 3082 ครัวเรือน จาก 80 หมู่บ้านใน 7 ตำบล 4 อำเภอ คืออำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอเมือง และอำเภอเชียงแสน ในจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนแม่จันวิทยาคมและโรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลโป่งงาม เป็นหน่วยราชการที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย และมีราษฏรที่เข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP จำนวน 288 ครัวเรือน จาก 17 หมู่บ้านใน 5 ตำบล ของอำเภอแม่สาย
นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริยังได้มีการดำเนินงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการปรับปรุงพันธุ์ผัก ถั่วเหลือง และข้าว ดังนี้
โครงการปรับปรุงพันธุ์ผักพระราชทาน ปลูกคัดเลือกพริกสีม่วง ปลูกคัดเลือกพริกช่อผลใหญ่ ปลูกคัดเลือกพริกเผ็ด ดร.สุเมธ และปลูกแคชมพู F2 ปลูกทดสอบพันธุ์ถั่วฝักยาวลายเสือ และมะเขือเปราะลาย ซึ่งทั้งสองพืชนี้ คาดว่าสามารถออกพันธุ์ใหม่ได้ในปี 2557
โครงการทดสอบความเสถียรสายพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสด เพื่อคัดเลือกพันธุ์ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์ไทยที่มีกลิ่นหอม และมีศักยภาพในการปรับตัวที่เหมาะสม
โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวมะลิ 105 ให้ทนแล้ง ไม่ไวแสง และต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนแล้ง ไม่ไวต่อช่วงแสง และต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และยังคงความหอม
ในการนี้ ได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ กับ ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP
ต่อมา ได้ทอดพระเนตรการทดสอบและผลิตเมล็ดพันธุ์ผักที่ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทอดพระเนตรแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ผักต่างๆของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ แปลงผักที่ทรงนำเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศพระราชทานศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริทดลองปลูก และแปลงผักสดปลอดภัยที่นำมาจำหน่ายและใช้ประกอบอาหารในร้านจันกะผัก ภายในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ในตอนบ่าย ได้เสด็จพระราชดำเนินยังสวนของนางจองวอง จันตะคาต บ้านสันบุญเรือง ตำบล เกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นางจองวอง จันตะคาต เป็นราษฎรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” โดยนำกล้าผักลงปลูกระหว่างไม้ผลในสวนของตน นางจองวองฯ ปลูกผลไม้หลากหลายชนิดมีทั้ง ลิ้นจี่ ลองกอง มะยงชิด มะม่วง ฝรั่ง และน้อยโหน่ง ระหว่างต้นไม้เหล่านี้ นางจองวอง ฯจะปลูก น้ำเต้า ถั่วพู กวางตุ้ง ฟักทอง เพื่อเก็บเมล็ดมาส่งยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธุ์เพ็ญศิริ สำหรับผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน และเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้เห็นถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า
จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินยังศาลาอเนกประสงค์ของบ้านสันบุญเรือง หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทอดพระเนตรการรับซื้อเมล็ดพันธุ์ของโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1002 ครัวเรือน จาก 44 หมู่บ้าน ใน 5 ตำบล ของอำเภอแม่สาย และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ อย่างใกล้ชิด
โรงงานกระดาษสาจินดาลักษณ์
เวลา 16.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถึงโรงงานกระดาษสาจินนาลักษณ์ ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมกับโรงงานกระดาษสาจินนาลักษณ์ จัดทำโครงการความร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนากระดาษหญ้าแฝก ซึ่งเป็นการนำหญ้าแฝกที่ปลูกอยู่ภายในบริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยนำมาพัฒนาเป็นกระดาษหญ้าแฝก ในโอกาสนี้ทรงทดลองทำกระดาษหญ้าแฝกด้วยพระองค์เอง
โรงงานกระดาษสาจินนาลักษณ์ เป็นโรงงานผลิตกระดาษสาซึ่งใช้แรงงานหลักจากคนในชุมชน ปัจจุบันนอกจากจะผลิตกระดาษสาแล้วยังได้ผลิตกระดาษซึ่งทำจากหญ้าแฝก ซึ่งผลผลิตที่ได้นั้นจะถูกนำมาจำหน่ายยังร้านภัทรพัฒน์ ร้านเมล็ดชา และร้านจันกับผัก ของมูลนิธิชัยพัฒนา ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาประกอบด้วย กล่องบรรจุภัณฑ์ ถุงหญ้าแฝก กระดาษและซองจดหมาย เป็นต้น
ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน
เวลา 17.00 น. เสด็จฯ ถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในการนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานในปี 2556 โดยปีที่ผ่านมาศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันได้ผลิตน้ำมันหลัก 3 ชนิด คือน้ำมันเมล็ดชา น้ำมันเมล็ดไนเจอร์ น้ำมันเมล็ดมะรุม และจะเริ่มเปิดฤดูกาลผลิตน้ำมันเมล็ดงาม้อนในปีนี้ 2557 นี้ นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ทดลองผลิตสบู่เหลวสูตรธรรมชาติจากน้ำมันเมล็ดชา กลิ่นดอกชาและกลิ่นฮันนี่เบอรี่ รวมถึงตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ น้ำมันบริโภค น้ำดื่มและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตภายในศูนย์ฯ ให้ได้มาตรฐานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค
นอกจากนี้ในด้านของการทดลองและเพาะปลูกต้นชาน้ำมัน ศูนย์ฯ ได้ทดลองขยายพันธุ์กิ่งต้นชาน้ำมันที่ดีด้วยวิธีเสียบต้นโต เสียบต้นกล้าและปักชำ และนำมาขยายพันธุ์ในแปลงปลูกที่ระดับความสูงต่างกัน เพื่อคัดเลือกพันธุ์ชาน้ำมันที่เหมาะสมต่อการปลูกในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสำรวจและเก็บตัวอย่างของเมล็ดชาน้ำมันที่พบในป่าจากแหล่งต่างๆ นำมาวิเคราะห์หาปริมาณน้ำมัน และเพาะเมล็ดเพื่อใช้ในการขยายและปรับปรุงพันธุ์ต่อไป จากนั้นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กราบบังคมทูลรายงานความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ได้ดำเนินการจัดทำสวนสาธิตพืชน้ำมัน ซึ่งได้รวบรวมพืชน้ำมันต่างๆ เพื่อนำมาจัดแสดงในสวนสาธิต ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกร นักเรียน และผู้ที่สนใจทั่วไป จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณต่างๆ ของศูนย์ อาทิ
โรงอาหารพืช อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ถวายรายงานเกี่ยวกับการสร้างโรงอาหารพืช โดยใช้วัสดุเหลือใช้ในพื้นที่เพื่อศึกษาวิจัยอาหารที่เหมาะสมกับพืชน้ำมันแต่ละชนิด และเผยแพร่ให้เกษตรกรได้นำไปใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์
โรงเรือนเพาะชำควบคุมอุณหภูมิ จัดสร้างขึ้นเพื่อเพาะพันธุ์พืชน้ำมันชนิดต่างๆ เช่นชาน้ำมันต้นลาเวนเดอร์จากประเทศต่างๆ รวมถึงพืชเมืองหนาว พืชสมุนไพร และพืชสายพันธุ์คามิเลีย ชนิดต่างๆ และพืชอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ยังได้ทอดพระเนตรแปลงรวบรวมพันธ์ชา ซึ่งรวบรวมไว้ทั้งต้นชาที่ใช้ใบ ที่ใช้ทำชาชงดื่ม ต้นชาประดับ ที่มีดอกสีสันต่างๆ และต้นชาน้ำมัน ที่มีเมล็ดสำหรับบีบน้ำมัน รวมทั้งพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ เช่น ไนเจอร์ งาม้อน มะรุม กระเจี๊ยบ เป็นต้น สวนสาธิตจะปลูกพืชน้ำมันหมุนเวียนกันตามฤดูกาล มีการศึกษาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และอาหารพืชที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด เพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกรที่สนใจปลูก และศึกษา
โรงทำน้ำดื่มตราเมล็ดชา ปรับปรุงใหม่ตามมาตรฐาน อ.ย
โรงงานผลิตน้ำมัน ทรงเปิดฤดูกาลหีบน้ำมันงาม้อน โดยทรงกรอกเมล็ดงาม้อน ลงในเครื่องหีบน้ำมันขนาดกลาง ซึ่งปรับปรุงซ่อมแซมโดย คณะอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเกษตรกำแพงแสน เมล็ดงาม้อนเป็นพืชน้ำมัน ที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อุดมด้วยโอเมก้า 3 (Omega3) วิตตามินบี และมีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ฟอสฟอรัส และแคลเซียม ช่วยบำรุงสมอง ป้องกันโรคความจำเสื่อม และช่วยลดไขมันในเลือดได้ เป็นต้น
ท้ายนี้ได้ทอดพระเนตรร้านขายของที่ระลึกเมล็ดชา และทรงประกอบอาหารเพื่อเป็นเมนูพระราชทานแก่ร้านเมล็ดชา คือไอศกรีมงาม้อน และน้ำพริกใบชางาม้อน
วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากพระตำหนักดอยตุงยังโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงศึกษาและทดลองปลูกชาน้ำมัน โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา นับเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้น เพื่อทำงานพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อันเป็นมูลนิธิในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชนกลุ่มน้อยและชาวไทยภูเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีในการดำรงชีวิต และให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้
ชาน้ำมัน เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Theaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia oleifera Abel. เป็นไม้พุ่มสูง ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีมากทางจีนตอนใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณป่าดิบ ไหล่เขา และริมลำธาร ที่ระดับความสูง 500 – 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล น้ำมันที่ได้จากเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง เทียบเท่าหรือดีกว่าน้ำมันมะกอก เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงและมีสัดส่วนของกรดไขมันชนิดต่างๆใกล้เคียงกัน น้ำมันชามีสรรพคุณทางการแพทย์ นอกจากนี้ ในน้ำมันชามีสารประกอบที่ทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ชุ่มชื้น จึงสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ได้อีกด้วย
ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันชามานานกว่า 1,000 ปี ปัจจุบันพบว่ามีการปลูกอยู่ถึง 105 เขต โดยเฉพาะที่เมืองหูหนานและเมืองกวางสี คนจีนใช้เป็นน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร ประมาณการได้ว่าประชากรจีนหนึ่งในเจ็ดครอบครัวใช้น้ำมันชาในการปรุงอาหาร และความต้องการใช้น้ำมันชาในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสูงถึง ๔๘๕,๐๐๐ - ๕๕๑,๐๐๐ ตันต่อปี
การดำเนินงานโครงการนี้ เริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้มีมีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงทดลองปลูกชาน้ำมัน เพื่อผลิตน้ำมันชาสำหรับบริโภค มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจึงเริ่มสนองพระราชดำริ โดยได้ติดต่อกับสถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนชาน้ำมัน มาทดลองปลูกในประเทศไทย
เดือนพฤศจิกายน 2547 สถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนาน ส่งเมล็ดพันธุ์ประเภทดอกสีแดง และดอกสีขาวรวม 10 กิโลกรัม และต้นอ่อนชาน้ำมันประเภทดอกสีแดง และสีขาว รวม 61 ต้น เพื่อทดลองปลูกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ต่อมาในปี 2549 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและมูลนิธิชัยพัฒนาได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาปลูกในประเทศไทยในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย พื้นที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ พื้นที่แปลงชาน้ำมันของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่บริเวณสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จังหวัดเชียงใหม่
นอกเหนือจากพื้นที่ที่กล่าวมาข้างต้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและมูลนิธิชัยพัฒนาได้เริ่มโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันในพื้นที่บ้านปางมะหัน บ้านปูนะ และพื้นที่ใกล้เคียง ในตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ทำการปลูกชาน้ำมันไปแล้ว ในพื้นที่ 3,418 ไร่ โดยปลูกในพื้นที่บ้านปางมะหัน 1,408 ไร่ ดำเนินงานโดยโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันเอง และร่วมกับราษฎรในหมู่บ้านปูนะ บ้านแม่หม้อ บ้านจะตี และพื้นที่ข้างเคียงรวม 13 หมู่บ้าน ปลูกชาน้ำมันอีกจำนวน 2,010 ไร่
การศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันเน้นการศึกษาในเรื่องของวิธีการปลูก การดูแลรักษา การป้องกันศัตรูและโรคต่างๆของต้นชาน้ำมัน การศึกษาคัดเลือกพันธุ์ชาน้ำมันที่เหมาะกับสมกับสภาพภูมิอากาศในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการดูแลหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำเมล็ดชาที่ได้ป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำมันชา ในศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงร่วมกันตั้งขึ้นที่ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
การดำเนินงานวิจัยในรอบปีที่ผ่านมา นักวิจัยของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้คัดเลือกต้นชาน้ำมันที่มีความแข็งแรงและให้ผลผลิตสูงในพื้นที่แปลงปลูก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อนำผลการวิจัยที่ได้จากการทดลองในแปลงทดลองปลูกชาน้ำมันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาขยายผล เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผลผลิตชาน้ำมันมีคุณภาพดี
ปัจจุบัน ต้นชาน้ำมันสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ๑๗ ตัน ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาที่ผลิตได้ ๑๕ ตัน สามารถนำมาหีบเป็นน้ำมันบริโภคเพื่อสุขภาพ และสามารถแปรรูปเป็นสินค้านานาประเภท เช่น เครื่องสำอาง และกากชาสำหรับฆ่าหอยเชอรี่ในนาข้าว เป็นต้น และรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังได้นำกลับมาพัฒนาชุมชนต่อไป
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ในการปลูกชาน้ำมันเพื่อผลิตน้ำมันเพื่อบริโภคแล้ว ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้สมบูรณ์ขึ้น โดยโครงการฯได้ทำงานร่วมกับชุมชน มีราษฎรในตำบลเทอดไท เข้าร่วมโครงการ นอกจากปลูกชาน้ำมัน แล้วราษฎรจะดูแลพื้นที่ป่าในลักษณะปลูกป่าแบบไม่ปลูกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการปลูกชาน้ำมันทุกคนจะได้รับความรู้ในการอยู่ร่วมกับป่า โดยมีหลักสำคัญในการดูแลรักษาป่า คือ ไม่บุกรุกป่า ไม่เข้าถากถางทำกินในบริเวณป่าต้นน้ำลำธาร ระวังและควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่า โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีการตั้งกรรมการหมู่บ้านขึ้นเองเพื่อดูแลและรักษาป่า มีการตั้งเวรยามเพื่อระวังไฟป่า มีกฎกติกาในหมู่บ้านและมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
จากความร่วมใจของราษฎรในหมู่บ้านเหล่านี้ ไฟป่าที่เคยเกิดขึ้นทุกปี ได้ห่างหายมาเป็นเวลากว่าห้าปี จากภูเขาที่ไหม้เกรียมเหลือแต่ผืนดินสีน้ำตาล บัดนี้ปกคลุมด้วยไม้ป่าและลูกไม้ที่ทะยอยขึ้นคลุมพื้นที่นำความชุ่มชื้นกลับคืนมาสู่แผ่นดิน นับว่าเป็นการบริหารจัดการชุมชนที่เข้มแข็งโดยชุมชน อันเป็นการน้อมนำพระราชดำริ ‘การปลูกป่าแบบไม่ปลูก’ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง
การปลูกต้นชาน้ำมันในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวงนี้ นอกจากจะได้ผลผลิตเพื่อนำมาหีบน้ำมันชาแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรที่อาศัยทำมาหากินอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยราษฎรเหล่านี้จะช่วยรักษาดูแลและรู้จักการใช้ประโยชน์จากต้นชาน้ำมันอย่างยั่งยืน ที่สำคัญต้นชาน้ำมันนี้จะกลายเป็นป่าที่เกิดขึ้นเพื่อทดแทนผืนป่าเดิมที่เคยถูกทำลายในอดีตให้ฟื้นคืนกลับมา ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำที่ถูกทำลาย เป็นตัวอย่างที่ดีของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมามีสภาพอุดมสมบูรณ์และยังประโยชน์แก่ลูกหลานต่อไปในอนาคต