- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดโครงการศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรม-ป่าไม้ หนองเต่า แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดโครงการศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรม-ป่าไม้ หนองเต่า แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
วันอังคารที่ 29 เมษายน 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด โครงการศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรม-ป่าไม้ หนองเต่า แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรม-ป่าไม้ หนองเต่า เป็นโครงการที่ ดร.ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว ในขณะนั้น ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานโครงการความร่วมมือด้านการเกษตร เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาและบริการความรู้ทางด้านกสิกรรม ในลักษณะเดียวกับศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน–ห้วยซั้ว ณ กรุงเวียงจันทน์ มาตั้งที่แขวงสะหวันนะเขต เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับท่าน ไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานความร่วมมือตามคำกราบบังคมทูลของรัฐบาล สปป.ลาว และได้ทรงมอบหมายให้มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการดังกล่าว ต่อมาคณะทำงานฝ่ายไทยและ สปป.ลาว ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและได้เลือกพื้นที่บริเวณหนองเต่า บ้านโพนสิม เมืองไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต เป็นสถานที่สำหรับจัดตั้งศูนย์ฯ
ศูนย์พัฒนาและบริการกสิกรรม-ป่าไม้ หนองเต่า มีเนื้อที่ทั้งหมด 263 ไร่ ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการเกษตรโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแบบศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน– ห้วยซั้ว ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อวางศิลาฤกษ์โครงการฯ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา และเสด็จพระราชดำเนินมายังโครงการแห่งนี้อีกครั้งเพื่อทรงเปิดโครงการในวันนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถสรุปได้ดังนี้
การดำเนินงานพัฒนาที่ดิน โดยกรมพัฒนาที่ดิน - เนื่องจากดินในพื้นที่โครงการเป็นดินค่อนข้างเป็นทรายและมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดังนั้นการปรับปรุงบำรุงดินจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อพัฒนาพื้นที่และเพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้สาธิตวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมกับทำแปลงสาธิตการขยายพันธุ์หญ้าแฝก เพื่อเผยแพร่วิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ถั่วบำรุงดิน วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ
การดำเนินงานด้านชลประทาน โดยกรมชลประทาน – ได้ดำเนินการก่อสร้างสระเก็บน้ำ เพื่อการประมง พร้อมทั้งก่อสร้างระบบส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ภายในศูนย์ฯ นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้จัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ แก่สมาชิกผู้ใช้น้ำบ้านโพนสิม จากอ่างเก็บน้ำหนองเต่าเพื่อให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต
การดำเนินงานด้านพืช โดยกรมวิชาการเกษตร – ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 กิจกรรม คือ งานด้านการปลูกพืช เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกด้านต่างๆ โดยให้ความสำคัญในการรวบรวมพืชพันธุ์ดีและพันธุ์พื้นเมืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นหลัก งานการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ เพื่อให้ความรู้ในการเพาะเห็ดเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงงานด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภค เช่น การก่อสร้างอาคารสำนักงาน โรงเรือนเพาะชำ บ้านพัก เป็นต้น
การดำเนินงานด้านข้าว โดยกรมการข้าว –ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี ได้ดำเนินกิจกรรม 3 ด้าน คือ ด้านการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการเพาะปลูกข้าว และด้านการฝึกอบรม โดยได้ปักดำข้าวในแปลงแสดงพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีและข้าวพื้นเมืองของ สปป.ลาว พร้อมทั้งจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่ ท่าสะโน 3 ท่าสะโน 5 ท่าสะโน 6 ท่าสะโน 7 ท่าสะโน 8 และท่าสะโน 9 รวมถึงการฝึกอบรม “เทคนิคการผลิตข้าว” เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่สปป.ลาว และเกษตรกรในพื้นที่รอบโครงการ
การดำเนินงานด้านปศุสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ - กิจกรรมด้านปศุสัตว์ ประกอบด้วยการเลี้ยง สัตว์ปีก ( เป็ด , ไก่ ) การเลี้ยงแพะ และการเลี้ยงสุกร โดยได้ขยายผลสู่ชุมชนโดยการส่งเสริมการเลี้ยงเป็ดเทศ โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายลาว พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรเพื่อเข้าร่วมโครงการนำร่อง ก่อนจะพิจารณาขยายกิจกรรมประเภทอื่นๆ ไปยังราษฎรต่อไป
การดำเนินงานด้านป่าไม้ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช – ได้ดำเนินการสำรวจพืชอาหารท้องถิ่นในป่าธรรมชาติ สำรวจพืชอาหารท้องถิ่นในชุมชน และสำรวจพืชอาหารท้องถิ่น ในเมืองหรือตลาด เพื่อนำมาจัดทำแผนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ รวมถึงการอบรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และจัดทำข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ท้องถิ่น เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาต่อไป
การดำเนินงานด้านประมง โดยกรมประมง – จัดฝึกอบรม “หลักสูตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ให้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรหรือผู้สนใจ อาทิ การเลี้ยงปลาตะเพียนพ่อแม่พันธุ์ในบ่อดิน การเพาะพันธุ์ปลานิลในบ่อดิน โดยได้ให้ความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ เช่น การผลิตปลานิลแปลงเพศ เทคนิคการฉีดฮอร์โมน การเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมถึงการฝึกวิเคราะห์น้ำและตรวจโรคปลาในเบื้องต้น