- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการดำเนินงานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการดำเนินงานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลาประมาณ 10.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถึงอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดยมีรายละเอียดดังนี้
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2553 และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ยังได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และเริ่มพัฒนากระบวนการเรียนการสอนร่วมกันตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษา รวมทั้งสิ้น 4 รุ่น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้าง และขับเคลื่อนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ผ่านกระบวนงานวิจัยของนักศึกษา โดยมีปรัชญาของหลักสูตร คือ
“มุ่งผลิตดุษฎีบัณฑิตให้มีทักษะเชิงวิชาการ พร้อมกับมีภาวะผู้นำขั้นสูง สามารถขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสม สร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และภูมิปัญญาสากล”
โดยมีการมีกรอบแนวคิดในการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยใช้ปรัชญาของหลักสูตร เป็นฐานคิดสำคัญ ร่วมกับการประยุกต์หลักการอีก 5 ประการ ประกอบด้วย
1. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. หลักพุทธธรรม
3. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
4. หลักการ แนวคิด และทฤษฎีงานพัฒนาท้องถิ่น
5. หลักการ แนวคิด และทฤษฎีด้านนวัตกรรม
สิ่งสำคัญที่สุด คือ นักศึกษาทุกคนจะต้องนำเอาวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่คิดค้นขึ้นไปใช้ในพื้นที่จริง ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่องภายหลังจบการศึกษาแล้ว
ปัจจุบันหลักสูตรฯ ได้เปิดการเรียนการสอน รวมทั้งสิ้น 4 รุ่น มีนักศึกษารวม 81 คน สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 20 คน
ในการนี้ ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการ และบรรยายสรุปผลการเลี้ยงบำรุงโคพันธุ์ชาโรเล่ส์ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ได้นำมาเลี้ยงไว้ ณ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์มหาสารคาม ตำบลแวงนาง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการบำรุงพันธุ์ และขยายพันธุ์โคชาโรเล่ส์ จากแม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์ที่มีอยู่ เพื่อเป็นแหล่งสำรองพันธุ์โคของมูลนิธิชัยพัฒนาปัจจุบันมีโคพ่อพันธุ์ 7 ตัว โคแม่พันธุ์ 25 ลูกโคพันธุ์ชาร์โรเลส์ 34 ตัว เป็นเพศผู้ 9 ตัว เพศเมีย 25 ตัว ลูกผสมพันธุ์ชาร์โรเลส์ 50% และพันธุ์บรามันห์ 50% จำนวน 31 ตัว เป็นเพศผู้ 17 ตัว เพศเมีย 14 ตัว ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา มีแผนที่จะทำการขยายพันธุ์โคให้มีจำนวนมากขึ้น และขยายพื้นที่การเลี้ยงโคไปสู่โครงการพัฒนาของมูลนิธิชัยพัฒนาอื่นๆ ที่มีความพร้อม และส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร ต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงานมุลนิธิชัยพัฒนายังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏดำเนินการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคชาโรเล่ส์ ให้แก่เกษตรกรเครือข่ายของมหาวิทยาลัยฯ ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ จะพิจารณาเฉพาะเกษตรกรที่มีความพร้อม และมีศักยภาพในการเลี้ยงโคพันธุ์ชาโรเล่ส์ ให้ประสบผลสำเร็จได้เป็นหลัก โดยในปี 2557 จะสนับสนุนโคพันธุ์ชาโรเล่ส์ จากสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์มหาสารคาม จำนวน 10 ตัว ประกอบด้วย โคเพศเมีย จำนวน 5 ตัว และโคเพศผู้ จำนวน 5 ตัว ให้แก่มหาวิทยาลัยฯ เพื่อส่งเสริมให้แก่เกษตรกร ต่อไป
จากนั้น ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ประกอบด้วย มะละกอพันธุ์ศรีราชภัฏ อาหารโคขุนหมัก กฎหมายน่ารู้สู่ชุมชน การจัดการศึกษาระดับปริญญาโทในเรือนจำเห็ดป่า การพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม การเกษตรโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาเครื่องมือให้อาหารปลาอัตโนมัติโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ในการนี้ในช่วงบ่าย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปตรวจเยี่ยมผลสำเร็จจากการศึกษา หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยจัดทำเป็นโครงการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เช่น
เสด็จพระราชดำเนินถึงศูนย์การเรียนรู้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต วิทยาศาสตร์ชุมชน บ้านหนองอิตื้อ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นผลงานการศึกษาของ ดร. พิชชาภรณ์ ปะตังถาโต นักศึกษา สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 1 โดยมีแนวคิดฐานนวัตกรรมคือ “วิทยาศาสตร์ชุมชนเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืนบนฐานศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตความ เป็นไทย” สาระสำคัญคือ ใช้ฐานการเรียนรู้เป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาสู่การบริโภคที่ยั่งยืน ผ่านกิจกรรมอาหาร การรักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม โดยใช้หลักสัปปุริสธรรม 7 เป็นแนวทางสำคัญ ในการนี้ ได้ทอดพระเนตรแปลงผักที่ใช้เมล็ดพันธุ์พระราชทานจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้แทนครอบครัวปะตังถาโต ทูลเกล้าฯถวายเงินสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา
เสด็จพระราชดำเนินถึงศูนย์รวมใจ ทางไท ทางธรรม ทางพอเพียง บ้านหัวงัว หมู่ที่7 อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผลงานการศึกษาของ นายอาทิตย์ บำรุงเอื้อ นักศึกษา สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 2 โดยมีแนวคิดฐานนวัตกรรมคือ “เคารพสิ่งสำคัญร่วมกัน สรรค์สร้างสังคมใจงาม” สาระสำคัญคือ เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ สำหรับผู้คนในชุมชนที่กำลังเผชิญกับภาวะเสื่อมถอยทางศีลธรรม โดยให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การเคารพกันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ รวมทั้งเชื่อมโยงการมีและใช้ความรู้ด้วยคุณธรรม ทั้งนี้ได้ปรับประยุกต์ใช้หลักคารวะตา 6 เป็นแนวทางสำคัญ
เสด็จพระราชดำเนินถึง ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนวิถีอีสาน โรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผลงานการศึกษาของนายสันติ ฤาไชย นักศึกษาสาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 2 โดยมีแนวคิดฐานนวัตกรรมคือ “ปรับวิธีเรียน วิธีสอนให้เชื่อมโยงกับภูมิสังคม” สาระสำคัญคือ พัฒนาให้โรงเรียนวิถีอีสาน มีสถานะเป็นโครงการพัฒนาคุณภาพกาเรียนการสอนของ โรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล ซึ่งรับผิดชอบดูแลนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย ศูนย์ฯ ได้ออกแบบการเรียนรู้ที่บูรณาการสาระสำคัญของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกับประเพณี วัฒนธรรมอีสาน โดยเฉพาะการปรับประยุกต์ใช้ “ฮีต 12” ให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ทุกระดับชั้น ประกอบกับการใช้หลักบุญญสิกขา เป็นแนวทางสำคัญ