- หน้าแรก
- แนวคิดทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องดิน
- แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องดิน
แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องดิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อการเกษตรกรรมไว้หลายประการ ทั้งนี้รวมถึง "การใช้หญ้าแฝก" เพื่ออนุรักษ์และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน จนประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการใช้เทคนิคและวิชาการหญ้าแฝกที่ประสบผลสำเร็จและมีความก้าวหน้ามากที่สุดในโลกปัจจุบันนี้ด้วย
แนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวกับดินนั้นที่สมควรยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปในส่วนนี้มีดังต่อไปนี้
วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวด้วย "การแกล้งดิน" ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า สภาพพื้นที่ดินทางภาคใต้มีสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำการเพาะปลูกไม่ได้เนื่องจากมีกรดกำมะถันอันเป็นสาเหตุของดินเปรี้ยวอยู่เป็นอันมาก วิธีการแก้ไขก็คือ ใช้กรรมวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินให้มีกรดจัดมากขึ้นจนถึงที่สุด
จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่างๆ เช่น โดยการควบคุมระบบน้ำใต้ดินเพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน การใช้วัสดุปูนผสมประมาณ 1-4 ตันต่อไร่ การใช้น้ำชะล้างจนถึงการเลือกใช้พืชที่จะเพาะปลูกในบริเวณนั้น "การแกล้งดิน" โดยวิธีการที่ได้พระราชทานไว้นั้น สามารถทำให้บริเวณพื้นที่ดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถทำอะไรได้ กลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่งด้วยวิธีการอันเกิดจากพระปรีชาสามารถโดยแท้
การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์และปรับปรุงบำรุงดิน ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้นวิธีการใช้และดัดแปลงจากวิธีการสมัยเก่าที่ใช้กันมาแต่ครั้งโบราณ โดยพระราชทานแนวคิดและทฤษฎีการใช้หญ้าแฝกให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตามลักษณะและสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน เช่น
- การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางตามความลาดของเขา
- การปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาการพังทลายของดินที่เป็นร่องน้ำลึก
- การปลูกในพื้นที่ลาดชัน
- การปลูกเพื่อการอนุรักษ์ความชุ่มชื้นในดิน
ซึ่งผลสำเร็จจากการนี้ส่วนหนึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือจากนานาประเทศ จนกระทั่งสมาคมด้านการป้องกันการพังทลายของดินระหว่างประเทศได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลอันทรงเกียรติแด่พระองค์ในฐานะ ที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและสภาพแวดล้อมที่มีผลงานยอดเยี่ยมในเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ปรับปรุงบำรุงดินนั้นได้พระราชทานแนวคิดว่า ...การปรับปรุง พัฒนาที่ดินที่สำคัญคือ ต้องอนุรักษ์ผิวดินซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ได้ ไม่ลอกหน้าดินทิ้งไป ต้องสงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผืนดินไว้...