- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลาอเนกประสงค์ โครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อติดตามผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ที่พระราชทานให้ไว้แก่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่ที่ดินสาธารณะประโยชน์ป่าโคกดงน้อย ตำบลบ้านเดิ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ให้เป็นแหล่งผลิตพันธุ์สัตว์พระราชทาน เพื่อพระราชทานให้แก่ ราษฎร และโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการศึกษาวิจัยด้านการปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทาน โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
1. กองพันทหารช่างที่ 3 กองพลทหารราบที่ 3 กองทัพภาคที่ 2 ดำเนินการปรับสภาพพื้นที่สำหรับใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ก่อสร้างถนนในพื้นที่ ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ และอาคารประกอบ เพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการ
2. โครงการชลประทานเลย กรมชลประทาน ดำเนินการสำรวจ และพิจารณาแนวทางการก่อสร้างฝายหินก่อในห้วยน้ำอุ่นและห้วยศอก รวม 5 แห่ง เพื่อส่งน้ำสนับสนุนให้แก่ราษฎรบริเวณบ้านเดิ่น และใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการ
สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจะได้ร่วมกับศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ ดำเนินการสนองพระราชดำริ ดังนี้
1. ผลิตพันธุ์ไก่ไข่และเป็ดไข่พระราชทาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่ราษฎร และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยใน ปี 2558 มีเป้าหมายการผลิต ไก่ไข่ จำนวน 4,000 ตัว และเป็ดไข่จำนวน 2,000 ตัว
2. งานทดสอบพันธุ์ไก่เล็กฮอร์น ซึ่งดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี ปัจจุบันสายพันธุ์ดังกล่าวเริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้แล้ว โดยมีลักษณะเด่น คือ เป็นไก่ไข่ที่ให้ไข่เร็ว ที่อายุประมาณ 142 วัน ไข่ดก ประมาณ 270 ฟองต่อปี มีเปลือกหนา เก็บไว้ได้นาน ลดความเสียหายจากการเลี้ยงและการขนส่ง นอกจากนี้ ยังสามารถแปรรูปเป็นไข่เค็มได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์เป็นการถนอมอาหารให้เก็บไว้บริโภคได้นานขึ้น ปัจจุบันได้มีการทดสอบพันธุ์ในโรงเรียน และหน่วยราชการต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบผลผลิตกับการเลี้ยงในศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ
3. ขยายพันธุ์โคชาร์โรเล่ส์พันธุ์แท้ และส่งเสริมให้แก่เกษตรกร รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนน้ำเชื้อโคชาร์โรเล่ส์ให้แก่เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรผู้สนใจ
4. การอนุรักษ์ป่าไม้ การปลูกพืชพื้นถิ่นและพืชสมุนไพร
จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังพื้นที่เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดินสาธารณะประโยชน์ป่าโคกดงน้อย ตำบลบ้านเดิ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทรงรับฟังบรรยายสรุป และทอดพระเนตรกิจกรรมด้านการศึกษาวิจัยด้านการผลิตพันธุ์สัตว์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ก่อนจะนำไปส่งเสริม และสนับสนุนให้แก่ราษฎร ประกอบด้วย
1. การเลี้ยงเป็ดไข่ พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ ซึ่งเป็นเป็ดที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี สามารถเลี้ยงได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถใช้วัตถุดิบและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่น เช่น เศษผักเศษอาหาร นำมาเป็นอาหารได้
2. ไก่ไข่พันธุ์โรดไอแลนด์เรด เป็นไก่พันธุ์แท้กึ่งเนื้อกึ่งไข่ สามารถใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ เกษตรกรและโรงเรียนที่นำไปเลี้ยงสามารถขยายพันธุ์ได้เอง ซึ่งเป็นการสนองพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ต้องการให้ราษฎรและโรงเรียนนำไปเลี้ยงสามารถขยายพันธุ์ไก่ไข่ได้เอง
3. ไก่ไข่พันธุ์เล็กฮอร์น เป็นไก่ที่มีลักษณะตัวเล็ก แต่ให้ไข่ดกและไข่ฟองใหญ่ แต่เปลือกไข่สีขาว ปัจจุบันกำลังทำการทดสอบพันธุ์ในโรงเรียนและเกษตรกร และจะนำไปผลิตเป็นไก่ไข่พระราชทาน ต่อไป
4. การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย เป็นการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ตามพระราชดำริ แบบ Happy Chicken เพื่อลดความเครียด และไม่เป็นการทรมานสัตว์ ง่ายต่อการเลี้ยง และการดูแล สามารถกินอาหารที่ผลิตขึ้นจากวัสดุในท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ จากผลการศึกษาพบว่า ไข่ไก่ที่ได้จากการเลี้ยงแบบปล่อยมี กรดไขมันโอเมก้า วิตามิน A และ E สูงกว่าการเลี้ยงแบบขัง
5. โคทรงเลี้ยงพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ เป็นโคที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนานำมาเลี้ยงไว้ที่ศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อทดสอบความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่จังหวัดเลย และทดสอบการเลี้ยงโค โดยใช้ระบบการจัดการพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ปลูกน้อย แต่ให้ผลผลิตสูง เหมาะสมกับจำนวนโคที่เลี้ยง เนื่องจากสภาพภูมิสังคมในปัจจุบันมีพื้นที่สำหรับการเลี้ยงโคลดลง โดยโครงการจะได้พัฒนาเป็นจุดเรียนรู้ และฝึกอบรมการเลี้ยงโคตามแนวทางดังกล่าวให้แก่เกษตรกร ต่อไป
จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังอาคารห้องประชุม โครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการ และรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริในการปฏิบัติงานส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเลย ที่ให้ศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นศูนย์กลางการผลิตสัตว์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพันธุ์สัตว์ให้กับราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงให้สามารถเลี้ยงสัตว์ใช้เป็นอาหารโปรตีนอย่างง่ายในครัวเรือน
ในการดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้สนับสนุนงบประมาณ ร่วมกับโครงการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานส่งเสริมและขยายผลการพัฒนาทั้งด้านการปศุสัตว์ และการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน ควบคู่ไปกับงานฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ พร้อมทั้งส่งเสริมขยายพันธุ์สัตว์ให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และผู้ปกครองนักเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดเลย 7 โรงเรียน และโรงเรียนในเขตพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รวม 134 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ 21 จังหวัด นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาพื้นที่ภายในศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
1. กรมชลประทาน ได้ดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยศอก เพื่อเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมภายในศูนย์ฯ
2. กรมประมง จัดจุดเรียนรู้และสาธิตความรู้ด้านประมง เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมให้กับเกษตรกรในการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน รวมไปถึงปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
3. กรมวิชาการเกษตร มีการจัดแปลงสาธิตกิจกรรมไม้ผล ประกอบด้วย ลิ้นจี่ มะคาเดเมีย และแปลงทดสอบการปลูกกาแฟอาราบีก้า พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจ
4. กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการจัดแปลงสาธิตการผลิตพืชผักและการเพาะเห็ด ให้แก่ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา ตลอดจนส่งเสริมและขยายผลไปสู่เกษตรกร จนสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังได้จำหน่ายผลผลิตให้แก่คนในชุมชนในราคาที่ไม่แพง ทำให้คนในชุมชนได้บริโภคพืชผัก และเห็ดที่มีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษ ในราคาย่อมเยา อันเป็นการดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี