- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2558 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2558 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2558 ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนา นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ทั้งนี้ได้ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะนักศึกษาปริญญาโทโดยทุนพระราชทานมูลนิธิชัยพัฒนาในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โอกาสนี้ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะ กรรมการมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และผู้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ จำนวน 56 คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานเข็มที่ระลึกของมูลนิธิ
จากนั้นทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีพุทธศักราช 2558 ของมูลนิธิฯ เพื่อพิจารณาแผนงานและโครงการสำคัญต่างๆ เช่น แผนงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้ราษฎรในปีนี้ ซึ่งได้ร่วมกับกองทัพบกและหน่วยงานท้องถิ่น ขุดลอกคลองเพื่อเชื่อมต่อบึงสีไฟเข้ากับแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแก้มลิงแม่น้ำน่าน แม่น้ำยม ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ
ผลดำเนินงานที่สำคัญของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ คือ การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชุนตาม แนวพระราช ดำริ ซึ่งแต่เดิมมีเพียง 50 ชุมชน ปัจจุบันขยายเพิ่มเป็น 236 ชุมชน ราษฎรในชุมชนร่วม 3,000 คน ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ เกิดเป็นเครือข่ายเยาวชน 54 กลุ่ม เกิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ 2 แห่ง คือที่ วังบัวแดง ตำบลเวียงคุก อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย และบ้านศาลาดิน ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีการดำเนินงานด้านวนเกษตรจำนวน 9 แห่งในพื้นที่ 350 ไร่ 491 ครัวเรือน ทำการเกษตรเสริมในพื้นที่ป่า ปลูกไม้ท้องถิ่นและไม้เศรษฐกิจ เพิ่มอาหารและรายได้ และด้านทฤษฎีใหม่ จำนวน 32 แห่ง ในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ 129 ครัวเรือน จัดรูปที่ดินและจัดการน้ำอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ สร้างความมั่นคงในเรื่องอาหาร สามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยสำหรับชุมชนวนเกษตรปีละประมาณ 3,600 บาทต่อครัวเรือน และชุมชนทฤษฎีใหม่ปีละ ประมาณ 16,700 บาทต่อครัวเรือน