- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดสุรินทร์ และงานขยายผลของโครงการฯ ณ โรงเรียนบ้านหนองกา (ประชารัฐพิทยา)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดสุรินทร์ และงานขยายผลของโครงการฯ ณ โรงเรียนบ้านหนองกา (ประชารัฐพิทยา)
วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2558
เวลาประมาณ 08.40 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถึงพื้นที่งานขยายผลของโครงการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานของมูลนิธิ ชัยพัฒนา จ.สุรินทร์ ซึ่งโครงการได้เข้าไปขยายผลสำเร็จทางวิชาการและเทคโนโลยีออกสู่ชุมชนโดยรอบ โดยโรงเรียนบ้านหนองกา (ประชารัฐพิทยา) หมู่ 3 บ้านหนองกา ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่หนึ่งในงานขยายผลของโครงการดังกล่าว
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้จัดทำฐานการเรียนรู้ ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการขยายพันธุ์พืช การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงปลาดุก การเลี้ยงหมูหลุม การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ การเพาะเห็ด และพืชสมุนไพร เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่นักเรียนในโรงเรียนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติจริง ในชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการจัดทำแปลงเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ประกอบด้วยพันธุ์ผักชนิดต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้นำมาใช้ในการประกอบอาหาร ให้ทั้งครูและนักเรียนสำหรับบริโภคภายในโรงเรียนอีกด้วย
จากนั้นเวลา 09.50 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงโครงการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ของมูลนิธิ ชัยพัฒนา อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของโครงการฯ โครงการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานแห่งนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้รับโอนที่ดินของนางบุษรีรัตน์ เชื้ออินทร์ ที่ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย รวมเนื้อที่ 11 ไร่ 65 ตารางวา และได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินเป็นโครงการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน
ปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตรหลายกิจกรรม อาทิ ด้านการปศุสัตว์ ด้านการประมง การปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ผล การทำนาข้าว โดยมีรายได้นำมาใช้หมุนเวียนในการบริหารโครงการ ปัจจุบัน โครงการแห่งนี้ได้ดำเนินการขายผลความสำเร็จออกสู่ประชาชนโดยรอบโครงการ โดยมีเครือข่าย ที่เป็นเกษตรกรหลายกลุ่ม ประกอบด้วย เครือข่ายด้านปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เครือข่ายด้านบริเวณรอบโครงการและเกษตรผู้ใช้น้ำ เครือข่ายด้านโครงการเกษตรผสมผสานระดับตำบล พร้อมทั้งมีวัตถุประสงค์ที่จะขยายผลออกสู่โรงเรียนและชุมชน นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรและผู้ที่สนใจ เข้ามาศึกษาดูงาน ภายในโครงการเป็นจำนวนมาก