สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

นอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาดังนี้

โครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

  

เวลา 08.00 น. เสด็จพระราชดำเนินถึงโครงการเลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา เลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เพื่อขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎร

ต้นปีพุทธศักราช 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ว่ามีพระราชประสงค์ที่จะให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา เลี้ยงแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เพื่อขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎร ในครั้งนั้น รัฐบาลประเทศบังคลาเทศได้น้อมเกล้าฯถวายแพะพันธุ์เบล็คเบงกอลจำนวน 3 ตัว ซึ่งได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 เป็นเพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 2 ตัว เมื่อกรมปศุสัตว์ได้นำแพะแบล็คเบงกอลดังกล่าว ไปเลี้ยงดู พักฟื้น และกักตรวจโรคเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อเป็นที่เรียบร้อย  จึงได้นำแพะทั้งสามตัวเข้ามาเลี้ยงในโครงการ

  

ปัจจุบันมีแพะแบล็คเบงกอล จำนวน 115 ตัว เป็น เพศเมีย 60 ตัว เพศผู้ 55 ตัว มีแพะพันธุ์ซาเนน 10 ตัว เป็น เพศเมีย 9 ตัว เพศผู้ 1 ตัว แพะซาเนนพื้นเมือง 22 ตัว เป็น เพศเมีย 20 ตัว เพศผู้ 2 ตัว มีแพะลูกผสมสองสายพันธุ์แบล็คเบงกอล-ซาเนน 38 ตัว เพศเมีย 20 ตัว เพศผู้ 18 ตัว และมีแพะลูกผสมสามสายพันธุ์แบล็คเบงกอล-ซาเนน-พื้นเมือง แล้ว 27 ตัว เพศเมีย 10 ตัว เพศผู้ 17 ตัว นอกจากนี้ก็มีแพะบาร์บารี จำนวน 4 ตัว เป็น เพศเมีย 2 ตัว เพศผู้ 2 ตัว ลูกผสมบาร์บารี -ซาเนน เพศเมีย 1 ตัว  รวมมีแพะทั้งสิ้น 217 ตัว

ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย

  

เวลาประมาณ 9.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อำเภอเม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยได้เสด็จพระราชดำเนินยังบ้านเลขที่ ๑๐๐ หมู่ที่ ๕ บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นของบ้านนางบัวผัด กำแพงแก้ว สมาชิกโครงการบ้านนี้รัก ปลูกผักกินเอง และโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ทำโครงการ ‘บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง’ ขึ้นเพื่อให้ราษฎรปลูกผักบริโภคกันในครัวเรือน หากเหลือสามารถจำหน่ายเป็นรายได้เสริม  และต่อมาทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้จัดทำโครงการ ‘ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน’ ตามคำร้องขอของราษฎร โดยได้พระราชทานกล้าต้นมะรุม กล้าต้นเสี้ยว กล้าต้นขี้เหล็ก เมล็ดแค และกล้าไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ชมพู่ม่าเมี่ยว มะกอก มะขาม ให้ชุมชนนำไปปลูกทั้งในบ้าน ตามริมถนนในหมู่บ้าน และที่สาธารณะในหมู่บ้าน โดยมีพระราชประสงค์ให้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไป สามารถเก็บไปประกอบอาหารรับประทานได้ และราษฎรมีไม้ผลไว้แบ่งปันกันบริโภค

ส่วนโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทานสะสมสำรองไว้ แต่เนื่องจากกพื้นที่โครงการมีจำกัด ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าร่วมถวายงาน และช่วยให้มีเมล็ดพันธุ์ผักสำรองเพียงพอตามพระราชประสงค์

  

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านชุดแรกที่ผลิตโดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช จักรพันธ์เพ็ญศิริ แก่ผู้ประสบอุทกภัยในโครงการฟื้นฟูพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด ในปี 2556  นับจากนั้นได้พระราชทานแก่ผู้ประสบภัยและราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลและ ทุรกันดารเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นได้เสด็จที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 12 บ้านสันทางหลวง ตำบลจันจว้าใต้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ทรงเยี่ยมราษฎร ที่เข้าร่วมโครงการบ้านนี้รัก ปลูกผักกินเอง และโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ อีกแห่งหนึ่ง

  

ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการก่อสร้างอาคารบรรจุผักปลอดภัยของชุมชนบ้านดงป่าสัก ตำบลบ้านด้าย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และการจัดตั้งกลุ่มผู้บรรจุผักปลอดภัยชุมชน โรงคัดบรรจุผักปลอดภัยของชุมชนนี้ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง มูลนิธิชัยพัฒนาโดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านด้าย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกผักพื้นบ้าน สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกผักให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยจากสารเคมี โดยนอกจากจะสร้างโรงคัดบรรจุผักที่ได้มาตรฐานให้แก่กลุ่มเกษตรกรแล้ว ยังไห้ให้ความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีในการคัดและบรรจุผักที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคอีกด้วย

ในเรื่องการส่งเสริมการปลูกผักให้แก่ราษฎร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จัดทำโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP เพื่อให้ราษฎรปลูกผักด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้องและปลอดภัยกับผู้บริโภค และนำจำหน่ายให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ นำมาขายที่ร้านจันกะผัก อันเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน

  

จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินยังศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิ ชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้น ในปีพุทธศักราช 2552 เป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยมีพระราชประสงค์ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ประชาชนทั่วไป และประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า

กิจกรรมหลักของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ คือ ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักที่มีคุณภาพเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ฟักแฟง แคบ้านดอกขาว ถั่วพู มะเขือเปราะเจ้าพระยา มะเขือขาวกรอบ บวบ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว พริก น้ำเต้า เป็นต้น และมีการดำเนินงานปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช ให้เกษตรกรได้มีพืชสายพันธุ์ที่ดี ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรด้านพันธุ์พืช ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดี และมีศักยภาพในการปรับตัวที่เหมาะสม

  

นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชและผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทานให้มีลักษณะที่ดีและมีคุณภาพยิ่งขึ้น

ในปี 2557 ในรอบปีที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชสายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ และได้ผ่านการทดสอบตามหลักวิชาการเรียบร้อยแล้ว ดังนี้

พริกขี้หนูปู่เมธ เบอร์ 1 เป็นพริกขี้หนู ที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นำมาจากสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพุทธศักราช 2554 ได้ผ่านการคัดเลือก และทดลองปลูกจนเป็นผลสำเร็จ โดยในการคัดเลือกนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงคัดเลือกด้วยพระองค์เอง ได้สายพันธุ์ JP 010-5 จากนั้นนักวิจัย ได้ทดสอบต่ออีก 4 รอบ เพื่อให้มีลักษณะคงที่ ลักษณะที่ได้คือ เป็นพริกขี้หนูพุ่มเตี้ย ผลชี้ตั้งขึ้น ผลดกติดกันเป็นช่อ เหมาะสำหรับปลูกใส่กระถาง

ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ เบอร์ 1 เป็นการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์แม่ ที่มีลักษณะฝักสีเขียวให้ผลผลิตจำนวนฝักสูง ออกดอกเร็ว ผสมกับพันธุ์พ่อที่เป็นถั่วฝักยาวพันธุ์พื้นเมืองจากชนเผ่าอาข่า ในจังหวัดเชียงราย มีเอกลักษณ์ คือ ฝักสั้น เนื้อแน่น และมีสีเขียวอ่อนลายสีแดง การปรับปรุงพันธุ์นี้ ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์นานกว่า 6 ปี จึงได้เป็นถั่วฝักยาวลายเสือ สีเขียวสลับม่วง เป็นพันธุ์ใหม่สำหรับเกษตรกรและราษฎรไทย

  

นอกจากนี้ ผลสำเร็จในการผสมถั่วฝักยาวข้ามสายพันธุ์ ที่ใช้สายพันธุ์แม่ ลักษณะเป็นถั่วฝักยาวพันธุ์เนื้อ ฝักสีเขียว ให้ผลผลิตสูง ผสมกับสายพันธุ์พ่อ ซึ่งเป็นถั่วฝักยาว ที่มีฝักสีแดง ยาว แต่มีผลผลิตต่ำ ได้ผ่านช่วงระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์นานกว่า 6 ปี จนกลายเป็นถั่วฝักยาวสีม่วงที่เต็มไปด้วยลักษณะเฉพาะ มีสีสันสะดุดตา รสชาติที่โดดเด่น  และมีคุณค่าทางอาหาร

นับเป็นความความสำเร็จที่ยังความปลาบปลื้มมาสู่ผู้ปฏิบัติงาน เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อถั่วฝักยาวสีม่วงนี้ว่า “ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2557

มูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชทั้ง 3 ชนิด และในวันนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ประกาศนียบัตรรับรอง ถั่วฝักยาวสีม่วง สิรินธรเบอร์ 1   ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์เบอร์ 1 และพริกขี้หนูปู่เมธ เบอร์ 1 ขึ้นทะเบียนพันธุ์ตามพระราชบัญญัติ 2548 ในปีอันเป็นมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา

  

จากการที่ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” ให้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชสะสมสำรองไว้ และต่อยอดถึงการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้เกษตรกรได้มีพันธุ์พืชที่ดีมีมูลค่าและมีคุณภาพ เพื่อเริ่มต้นการเพาะปลูกโดยเชื้อพันธุ์อันเป็นมงคลยิ่ง และเมื่อปลูกเพาะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้แล้ว เกษตรกรจะได้ผลผลิตที่คงคุณภาพและคงลักษณะเด่นได้ครบถ้วน แม้จะปลูกต่อจนเป็นรุ่นลูกและรุ่นหลาน

ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน

  

เวลา 16.30 น. เสด็จฯ ถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในการนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานในปี 2557และแผนการดำเนินงานในปี 2558

ในปี 2557 ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันฯ ได้ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 1 ชนิด คือ น้ำมันเมล็ดงาม้อน ซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อุดมด้วยโอเมก้า 3 (Omega3)  วิตามินบี และมีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ฟอสฟอรัส และแคลเซียม ช่วยบำรุงสมอง ป้องกันโรคความจำเสื่อม และช่วยลดไขมันในเลือดได้

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังสวนสมุนไพร บนพื้นที่ 11 ไร่ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกสมุนไพรที่หายาก มีราคา และสามารถนำไปพัฒนาต่อได้มาปลูกในพื้นที่ อีกทั้งเป็นแหล่งศึกษาและให้ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจด้วย

ในการนี้ ทรงปลูกต้นสิรินธรวัลลี  ชื่อสิรินธรวัลลี นี้ตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เนื้อไม้ของต้นสิรินธรวัลลีใช้รักษาโรคที่ในตำรายาโบราณ เรียกว่า ประดงทั้งสามสิบสองประการ  จากนั้น คณะกรรมการสวนสมุนไพร ถวายรายงานเรื่องสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ที่นำมาปลูกในพื้นที่กว่า 30 ชนิด อาทิ  ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ว่านเพชรกลับ รางจืดเถา สมอไทย มะขามป้อม ฯลฯ

  

จากนั้น ประทับรถกอล์ฟพระที่นั่ง ทอดพระเนตรบริเวณโดยรอบสวนสมุนไพร  แปลงรวบรวมพันธ์ชา และแปลงรวบรวมพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ เช่น งาม้อน มะรุม กระเจี๊ยบ ฯลฯ  แปลงสวนสาธิตแห่งนี้จะปลูกพืชน้ำมันหมุนเวียนกันตามฤดูกาล และมีการศึกษาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และอาหารพืชที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด เพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกรที่สนใจปลูกและศึกษา

จากนั้น เสด็จฯ ส่วนโรงงานผลิตน้ำมัน ทรงผสมน้ำมันผสม 3 ชนิด ได้แก่น้ำมันงาม้อน น้ำมันเมล็ดชา และน้ำมันไนเจอร์ พระราชทานแก่ศูนย์ฯ ภายใต้ชื่อ “น้ำมันพืชสกัดเย็น 3 สหาย” ( Tripple Omega Oil 3-6-9) เพื่อนำไปจำหน่ายทั้งแบบบรรจุขวดและแบบแค๊ปซูล ในการนี้ ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ถวายรายงานเรื่องผลงานวิจัยกากชาน้ำมัน และ GMP ของโรงงานผลิตน้ำมัน จากนั้นทอดพระเนตรร้านขายของที่ระลึกเมล็ดชา และทรงประกอบอาหารเพื่อเป็นเมนูพระราชทานแก่ร้านเมล็ดชา คือสปาเก็ตตี้เมล็ดชา

  

ท้ายนี้ ประทับรถกอล์ฟพระที่นั่งไปยังหมู่บ้านชาติพันธุ์ เพื่อทอดพระเนตรวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ 12 ชาติพันธุ์ ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธ์ไตหย่า กลุ่มดาราอ้าง กลุ่มลาหู่ กลุ่มลั้วะ กลุ่มไทใหญ่ กลุ่มอาข่า กลุ่มจีนหยูนหนาน กลุ่มไทลื้อ กลุ่มไทยวน กลุ่มไทเขิน กลุ่มเมียนมาร์ และกลุ่มลาว พร้อมทั้งพระราชทานของ ที่ระลึกแก่ตัวแทนชาติพันธุ์ทั้ง 12 กลุ่ม

  

ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เริ่มดำเนินการในปี 2554 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาและพืชน้ำมัน ซึ่งโรงงานนี้จะผลิตน้ำมันคุณภาพสูงสำหรับการบริโภคและทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีส่วนผลิตผลิตภัณฑ์จากกากวัตถุดิบที่เหลือ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทุกส่วนของพืชนั้นๆ นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังมีพระราชดำริ  ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน เป็นโรงงานต้นแบบที่สามารถเข้าชมได้ทุกจุดของการดำเนินงาน สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องเต็มประสิทธิภาพตลอดทั้งปี มีขั้นตอนที่เข้าใจง่าย สะอาด และคำนึงถึงระบบสิ่งแวดล้อมแบบธรรมชาติ  รวมถึงมีระบบควบคุมการใช้พลังงาน และรูปแบบที่ทันสมัย สวยงาม และมีสีสัน ในขณะที่บริเวณด้านนอกได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนพักผ่อนสาธารณะ ซึ่งเป็นทั้งจุดท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับพืชน้ำมัน