- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
วันที่ 9 ธันวาคม 2558
เวลาประมาณ 08.20 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ในโอกาสนี้ทรงปลูกต้นกันเกราและต้นโสม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่โครงการฯ พร้อมทั้งทรงรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานจากหน่วยงานต่างๆ จากนั้น ทอดพระเนตรพื้นที่โครงการฯ และกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ และทรงเปิดระบบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ภายในแปลงเกษตร ทรงเก็บผักสลัด และทรงปล่อยพันธุ์ปลากินพืช ตามลำดับ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องและเชื่อมโยง กับโครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน มหาวิทยาลัยจำปาสัก โดยในการจัดทำโครงการศูนย์ศึกษา การพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูงฯ นี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแนวทาง การดำเนินงานให้ มูลนิธิชัยพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยจำปาสัก ให้ความร่วมมือ ทางวิชาการร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง เมืองปากซอง มีเนื้อที่ประมาณ 283 ไร่ ตั้งอยู่บนความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นโครงการที่ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัยพันธุ์พืช ในสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างจากโครงการ แปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน มหาวิทยาลัยจำปาสัก โดยในพื้นที่นี้จะเน้นการทดสอบพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่หนาว เย็นตลอด ทั้งปี อาทิ พลับหวาน อาโวคาโด มะคาเดเมีย สตรอเบอรี่ เกาลัด ลิ้นจี่ เป็นต้น และพันธุ์ผัก อาทิ เบบี้คอส โอ๊คลีฟเขียวและแดง เรดโครอล บัตเทอร์เฮด เป็นต้น และนอกจากโครงการแห่งนี้จะเป็นสถานที่ทดลองการปลูกพืช เมืองหนาวแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยจำปาสักและเกษตรกร ได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาเรียนรู้ ทดลอง และวิจัยการเกษตรด้านพืชที่หลากหลายและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรที่มีภูมิลำเนาตั้ง อยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต คุณภาพผลผลิตด้านการเกษตร ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สูงได้ต่อไป