- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรม บนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรม บนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรม บนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรม ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการผลิตพืชในระบบอินทรีย์แบบครบวงจร สำหรับผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาดูงาน ตั้งแต่การผลิต ปัจจัยการผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรภายในโครงการ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการผลิตสารชีวภัณฑ์ป้องกัโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งปัจจัยการผลิตเหล่านี้ จะนำมาใช้ในการผลิตพืชชนิดต่าง ๆ ภายใต้ระบบการผลิตพืชอินทรีย์ของโครงการ ได้แก่ ข้าว พืชไร่หลังนา พืชผักสวนครัว เห็ด ไม้ผล และไม้สมุนไพรต่าง ๆ โดยในปี 2560 โครงการ ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอบข่ายการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ ประเภทแหล่งผลิต จำนวน 80 ชนิดพืช และประเภทการคัดบรรจุ จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาตรฐานการผลิตอาหาร CODEX GMP สำหรับชาสมุนไพรและการบรรจุผัก จาก Global GROUP
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานตราสัญลักษณ์ "ทรัพย์-ปัน" เพื่อใช้สำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ของโครงการ และผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายของโครงการ ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและรับรองความปลอดภัยของผลผลิตทางการเกษตรให้แก่ผู้บริโภคและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร
คำว่า "ทรัพย์-ปัน" เป็นชื่อเรียกของ ต้นฝาง ในภาษาอังกฤษ (Sappan) คำว่า "ทรัพย์-ปัน" ในภาษาไทยหมายถึง การแบ่งปันทรัพย์ในดินสินในน้ำ อันเป็นความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จากโครงการที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำสู่ประชาชนในพื้นที่ปลายน้ำผ่านการดำเนินงานโครงการ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โอกาสนี้ ได้ทอดพระเนตรการดำเนินงานการบริหารจัดการสินค้าทรัพย์-ปัน ซึ่งโครงการได้นำผลผลิตทางการเกษตรของโครงการและกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายของโครงการไปจำหน่ายตามช่องทางการจำหน่ายต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่อำเภอฝาง เป็นการสร้างรายได้ให้แก่โครงการและกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายของโครงการ ปัจจุบัน ผลผลิตทางการเกษตรภายใต้ตราสินค้า "ทรัพย์-ปัน" มีวางจำหน่ายที่โรงพยาบาลฝาง ท๊อป มาร์เก็ต และริมปิง ซุปเปอร์มาร์เก็ตสาขาต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ มูลนิธิชัยพัฒนา และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการโครงการ (GMIS) ในรูปแบบแผนที่ออนไลน์ เพื่อติดตามตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานโครงการผ่านระบบจัดการเชิงพื้นที่ (Area Based) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและตัดสินใจ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้และขยายผลความสำเร็จไปสู่โครงการอื่น ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงสีข้าว ทรงฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายผู้ผลิตข้าว GAP ของโครงการ ในเขตพื้นที่อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ ซึ่งได้จัดการฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความรู้และขอรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว (GAP ข้าว) ให้แก่กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายของโครงการ อีกทั้งมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นโรงสีข้าวชุมชนซึ่งบริหารจัดการโดยกลุ่มสมาชิกโรงสีข้าวของโครงการ เพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรที่ไม่ต้องการอิงราคา หรือพึ่งพาโรงสีข้าวทั่วไป โดยสามารถแบ่งการใช้ประโยชน์จากโรงสีข้าวของโครงการได้เป็น 3 วัตถุประสงค์ ได้แก่ การสีข้าวเพื่อบริโภค การสีข้าวเพื่อผลิตข้าวถุงจำหน่ายโดยกลุ่มเกษตรกร และการสีข้าวเพื่อผลิตข้าวถุงจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าทรัพย์-ปัน นอกจากนี้ โครงการยังได้นำเสนอข้าวพันธุ์พิษณุโลก 80 ให้แก่ กลุ่มสมาชิกโรงสีข้าวของโครงการ ได้ทดลองปลูกในฤดูนาปีที่จะถึงนี้ เนื่องจากข้าวพันธุ์พิษณุโลก 80 เป็นข้าวพันธุ์ที่มีอมิโลสต่ำ คุณภาพการหุงต้มดี เหนียวนุ่ม รับประทานอร่อย แต่มีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและผู้ที่ห่วงใยสุขภาพเพื่อลดปริมาณน้ำตาล ผลผลิตที่ได้จะเป็นผลผลิตข้าวคุณภาพ หรือข้าวสาร Q ที่แท้จริง ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค การปลูกในแปลงนาที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และผ่านกระบวนการแปรรูปในโรงสีข้าวได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ซึ่งโครงการจะเริ่มวางจำหน่ายข้าวสารพันธุ์พิษณุโลก 80 คุณภาพ Q ภายใต้ตราสินค้าทรัพย์-ปันในช่วงต้นปี 2562 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ได้ทอดพระเนตรการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้กวาดดอกหญ้าบ้านเปียงกอก ซึ่งได้ให้การสนับสนุนพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการสำหรับปลูกต้นดอกหญ้าไม้กวาด ซึ่งเป็นวัสดุหลัก คิดเป็นร้อยละ 60 ของวัสดุที่ใช้ในการผลิตไม้กวาดดอกหญ้า โดยที่ผ่านมากลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้องซื้อดอกหญ้าไม้กวาดจากพ่อค้าคนกลาง กิจกรรมนี้ จึงช่วยลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกและลดต้นทุนการผลิตไม้กวาดดอกหญ้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ ยังสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมกับโครงการให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนในพื้นที่ผ่านการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของโครงการเพื่อประโยชน์ของประชาชน