- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
วันอังคารที่ 4 กันยายน 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ หนึ่งในโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ดังนี้
เวลา 13.40 น. เสด็จพระราชดำเนินถึง กลุ่มผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” เกิดขึ้นจากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสำรองพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ให้มีคงไว้ ในกรณีที่ประเทศมีภาวะฉุกเฉินหรือประสบภัย ที่ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิประสบปัญหา ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่หาพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีมีคุณภาพมาทดแทนให้เกษตรกรได้ยาก โดยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เกิดอุทกภัยขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักว่า อุทกภัยครั้งนี้ได้ครอบคลุมพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด เป็นระยะเวลายาวนาน และทรงทราบว่าราษฎรในพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับความเดือดร้อน น้ำท่วมบ้านและที่นาเสียหาย ทรงห่วงใยว่าในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราษฎรมีรายได้หลักจากการทำนาข้าว หอมมะลิ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะปลูกได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง เมื่อประสบอุทกภัยราษฎรจึงสูญเสียรายได้หลักทั้งปีของตนไป
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้พระราชทานพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 185.6 ตัน ที่มูลนิธิชัยพัฒนามีสำรองไว้ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ แก่ราษฎรในอำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ ที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 953 ราย พื้นที่เพาะปลูกถูกน้ำท่วมเสียหายรวมทั้งสิ้น 12,373 ไร่ และได้มีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา ชักชวนราษฎร อำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วมโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี สะสมสำรองไว้สำหรับพระราชทานราษฎรในยามวิกฤตราษฎรในชุมชน ตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ในปี 2557 ตั้งคณะกรรมการบริหารงานภายในกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยดูแลกันและกันตั้งแต่เตรียมแปลงนาจนถึงการเก็บเกี่ยว ปลูกโดยวิธีปักดำเท่านั้น เก็บเกี่ยวด้วยมือหรือรถเกี่ยวข้าวที่สะอาด เพื่อป้องกันการปนของข้าวพันธุ์อื่นหรือข้าวเมล็ดแดง กรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ประธานกลุ่ม สมาชิกกลุ่ม และเจ้าของแปลงนา ร่วมกันตรวจแปลงนาและตรวจสอบพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวขึ้นมาจากแปลงนา การตรวจสอบจะสุ่มตัวอย่างข้าว 1 กิโลกรัม เพื่อวัดความชื้นและตรวจสอบหาข้าวปน ทดสอบเช่นนี้ 2 ครั้ง โดยราคาพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานผ่านเกณฑ์เป็นข้าวพันธุ์พระราชทานของมูลนิธิชัยพัฒนา จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวของกรมการค้าภายใน เพื่อเป็นรางวัลในการผลิตข้าวอย่างประณีตและมีคุณภาพ
ในปี 2558 กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ผลิตพันธุ์ข้าวผ่านเกณฑ์เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานได้ 28 ตัน 64 กิโลกรัม และในปี 2559 ผลิตพันธุ์ข้าวผ่านเกณฑ์เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน ได้ 89 ตัน กับ 242 กิโลกรัม ในปี 2560 ผลผลิตพันธุ์ข้าวผ่านเกณฑ์เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานได้ 152.040 ตัน มากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสมาชิกมีความชำนาญและเข้าใจมากขึ้น ในวันนี้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารและมีรับสั่งให้กำลังใจแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการด้วยทรงทราบว่าการผลิตพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความมานะอดทน ต้องมีความละเอียดประณีตในการผลิตทุกขั้นตอน นับแต่การเตรียมดิน การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ การปลูกด้วยการปักดำ การดูแลเอาใจใส่ในการกำจัดวัชพืชและข้าวปน รวมทั้งการใส่ใจในการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เพื่อให้ข้าวมีคุณภาพดี จนกระทั่งขั้นตอนสุดท้ายที่ส่งมอบมายังมูลนิธิชัยพัฒนา จากนั้น ได้เสด็จไปยัง หมู่บ้านสง่างาม ตำบลสะแกซำ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ หมู่บ้านนี้เป็นโครงการนำร่องการขยายผลโครงการทหารพันธุ์ดีออกสู่ชุมชน
โครงการทหารพันธุ์ดีเป็นโครงการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มณฑลทหารบกที่ 26 ดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ทอดพระเนตรการปลูกหน่อไม้ฝรั่งในหมู่บ้านของกำลังพลที่เข้าร่วมโครงการทหารพันธุ์ดี ในมณฑลทหารบกที่ 26 หน่อไม้ฝรั่งที่ปลูกนี้ กำลังพลที่เข้ารับการอบรมการปลูกผักปลอดภัยที่ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย นำกลับมาทดลองปลูกที่แปลงทหารพันธุ์ดี ในมณฑลทหารบกที่ 26 เนื่องจากในบริเวณนี้ ดินเป็นดินภูเขาไฟ หน่อไม้ฝรั่งเจริญเติบโต มีผลผลิตดี และมีตลาดรองรับ จึงได้ส่งเสริมออกสู่หมู่บ้านของตน เสด็จทอดพระเนตรแปลงผักของราษฎรในหมู่บ้าน และกรมชลประทานได้กราบบังคมทูลแนวทางการปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยัง มณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ในปี 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับมณฑลทหารบก ที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จัดตั้ง “โครงการทหารพันธุ์ดี” ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมให้กำลังพลของกองทัพมีความรู้ความสามารถในการปลูกผักปลอดภัย และมีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อบริโภค เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน หากเหลือจากการบริโภคแล้ว สามารถจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย โดยจัดกิจกรรมให้พลทหารกองประจำการในแต่ละผลัดอาสาเข้าร่วมโครงการหลังจากที่ผ่านการฝึกทางการทหารแล้ว พลทหารกองประจำการที่เข้าร่วมโครงการจะเรียนรู้วิธีการปลูกผักปลอดภัยในแปลงเกษตรของมณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตั้งแต่การเตรียมแปลง การหว่านหรือการเพาะกล้า ไปจนกระทั่งการเก็บเกี่ยวทำความสะอาด และจำหน่ายเข้าโรงเลี้ยงของค่าย หรือนำออกจำหน่ายสู่ตลาดในท้องถิ่นใกล้เคียง ในการเริ่มต้นการดำเนินงาน โครงการทหารพันธุ์ดีได้รับพระมหารุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักที่มีคุณภาพ จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธุ์เพ็ญศิริ ที่สามารถเก็บเมล็ดปลูกต่อได้ พระราชทานพันธุ์ไก่พื้นเมืองและพันธุ์ไก่กระดูกดำ จากชุมชนที่เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตและพระราชทานพันธุ์ปลานิลจิตรลดา โครงการทหารพันธุ์ดี จะรับสมัครพลทหารกองประจำการ ผลัดละประมาณ 5-10 นาย ตามความเหมาะสม เข้าประจำแปลงผัก เรียนรู้การปลูกผักปลอดภัยโดยมีครูฝึกที่ได้เข้าฝึกอบรมที่ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย เป็นผู้ถ่ายทอด และมีศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย เป็นพี่เลี้ยง ในอนาคต โครงการทหารพันธุ์ดีมีแผนที่จะติดตามการขยายผลโครงการของพลทหารที่ปลดประจำการไปยังชุมชนบ้านเกิดของตน และมอบรางวัลแก่ผู้ที่มีผลงานขยายผลโครงการไปยังชุมชนบ้านเกิดด้วย ในการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์ไก่พื้นเมืองและพันธุ์ไก่กระดูกดำ และพระราชทานพันธุ์ปลานิลจิตรลดา จำนวน 5,000 ตัว ในสระน้ำภายในกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23 การจัดตั้ง “โครงการทหารพันธุ์ดี” ของมูลนิธิชัยพัฒนากับมณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นับเป็นความร่วมมือและรวมใจเป็นหนึ่งเดียวในการปฎิบัติงานสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทีี่ต้องพระประสงค์ให้ประชาชนชาวไทยปลูกพืชผักที่มีคุณภาพและปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน หากมีผลผลิตเกินความต้องการ ก็สามารถนำมาจำหน่าย เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรของชาวไทย ให้มีความมั่นคงด้านอาหาร นับเป็นการสร้างความมั่นคงภายในประเทศอีกทางหนึ่ง