- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตจังหวัดพังงา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตจังหวัดพังงา
วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปจังหวัดพังงา เพื่อทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ดังนี้
เวลา 13.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ถึง โครงการชัยพัฒนา-กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน
สนองพระราชดำริในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาอาชีพ เพื่อป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพประมงให้ราษฎรสามารถดำเนินการได้อย่างครบวงจร ได้แก่ โรงแปรรูปสัตว์น้ำ โรงผลิตอาหารเม็ด และการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นต้น ส่วนด้านการศึกษา ประกอบด้วย การจัดทำหลักสูตรอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นสำหรับนักเรียน ได้แก่ หลักสูตรการเลี้ยงสัตว์และเกษตรกรรม หลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และหลักสูตรการท่องเที่ยวและโรงแรม เพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์ ความรู้ และฝึกทักษะเพิ่มเติมจากการศึกษาในสายสามัญ และสามารถนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้อย่างมั่นคง
โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการชัยพัฒนา-กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก และพระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียนทุนพระราชทานในโครงการความร่วมมือการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขและการเกษตร รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายผลการเรียนและรับพระราชทานพระราโชวาท
การเสด็จฯ ไปยังโครงการชัยพัฒนา-กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) ในครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตร โรงซ่อมเรือ และ โครงการอุตสาหกรรมประมงพื้นบ้าน ซึ่งสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริในด้านการพัฒนาอาชีพ
การทดลองจัดสร้างเรือก่าบางชัยพัฒนาไฟเบอร์กลาส ซึ่งเป็นเรือที่ชาวมอแกนใช้ในการดำเนินชีวิต คือเป็นทั้งที่พักอาศัยของครอบครัวและเป็นอุปกรณ์ช่วยในการจับปลา โดยได้จัดจ้างแรงงานจากราษฎรในพื้นที่โครงการชัยพัฒนา – กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) เป็นช่างฝีมือ นอกจากนี้ ยังมีการให้เช่าคานเรือและเรือพีทท้องแบนให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในราคาถูก เพื่อเป็นค่าสาธารณูปโภคและค่าบำรุงรักษาในโครงการ
โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเรือก่าบางชัยพัฒนาไฟเบอร์กลาส แก่ครอบครัวชาวมอแกนจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เพื่อให้ชาวมอแกนใช้สำหรับการดำเนินชีวิตตามแบบแผนที่เคยเป็นมา และทรงปล่อยเรือก่าบางไฟเบอร์กลาสลงสู่คลองหน้าท่าเทียบเรือโครงการอุตสาหกรรมประมงพื้นบ้าน
โอกาสนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องอบกุ้งรมควันขนาดเล็ก 1 เครื่อง และทรงประกอบอาหารรมควันที่ผลิตในโรงงานโรงผลิตอาหารเม็ด รับผิดชอบโดยกรมประมง มีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ การผลิตอาหารเม็ด สำหรับปลาขนาดเล็กและปลาขนาดใหญ่ เพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มเลี้ยงปลากะพงในกระชัง ได้จัดให้มีการทดลองผลิตอาหารเม็ดสูตรโปรตีนสูงสำหรับปลาขนาดเล็กและจัดจำหน่ายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังของโครงการ
สำหรับด้านการพัฒนาการศึกษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริเพิ่มเติมในปี 2551 เมื่อครั้งเสด็จฯ มาทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ โดยให้มูลนิธิชัยพัฒนาให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักเรียนที่ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ โดยเน้นการเรียนการสอนในเรื่องของอาชีพและการให้การศึกษาทางตรง โดยการเรียนรู้ทางด้านอาชีพให้ใช้สิ่งที่มีอยู่รอบตัวประกอบการเรียนการสอน เน้นทางด้านการเกษตรและการประมง การใช้เทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์นำมาใช้ประกอบการเรียนการสอน เช่น การหาความรู้ หาข้อมูล ให้รู้จักการปิด เปิดเครื่องและพิมพ์ดีดได้ รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสุขอนามัยให้แก่เด็ก โดยให้ชุมชนและส่วนราชการ เช่น สาธารณสุข เกษตร และประมง เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียน เป็นต้น
เวลา 14.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ถึง โครงการทดลองเพาะปลูกปาล์มน้ำมันและเกษตรผสมผสาน ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เพื่อทรงเปิดแพรป้ายชื่อ ”โครงการทดลองเพาะปลูกปาล์มน้ำมันและเกษตรผสมผสาน” และทรงติดตามความ ก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรรูปแบบต่างๆ เช่น การปลูกต้นปาล์มน้ำมัน ต้นสบู่ดำ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพการเกษตร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิให้ดียิ่งขึ้นโอกาสนี้ ทรงปลูกต้นปาล์ม
การทดลองเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ดำเนินการโดย กรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน เมื่อปี 2549 ในพื้นที่ 440 ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมันสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี และพันธุ์คอมแพคกานา โดยได้จัดแบ่งแปลงทดลองเพาะปลูกปาล์มน้ำมันเป็น 6 แปลง สำหรับผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันในพื้นที่โครงการ ตั้งแต่เดือนมกราคม–เดือนธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นการเก็บเกี่ยวเป็นครั้งแรก คิดเป็นผลผลิต จำนวน 32,155 กิโลกรัม คิดเป็นรายได้ จำนวน 115,656 บาท
การจัดสร้างระบบจัดส่งน้ำ ดำเนินการโดย กรมชลประทาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน การจัดสร้างอาคารอำนวยการและถนนลำลองในพื้นที่โครงการ ดำเนินการโดย กรมการทหารช่าง
โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตัดทะลายปาล์มน้ำมัน พันธุ์สุราษฎร์ธานี 1 ที่ทรงปลูกไว้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2549 และทรงเปิดระบบส่งน้ำ เพื่อส่งน้ำเข้าแปลงทดลองปลูกปาล์มน้ำมัน