- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโครงการพัฒนาป่าชุมชน บ้านอ่างเอ็ด (มูลนิธิชัยพัฒนา) ต.ตกพรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโครงการพัฒนาป่าชุมชน บ้านอ่างเอ็ด (มูลนิธิชัยพัฒนา) ต.ตกพรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี
วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด โครงการพัฒนาป่าชุมชน บ้านอ่างเอ็ด (มูลนิธิชัยพัฒนา) ตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร เทศบาลตำบลตกพรม ดำเนินงานสนองพระราชดำริในการนำที่ดินที่ครอบครัวลักคุณะประสิทธิ์ น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวนประมาณ 160 ไร่ บริเวณตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเดิมเคยเป็นป่ายางรกร้าง
มาพัฒนาและจัดทำเป็นป่าชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าไม้ รวมทั้งสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้าใจในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
จากนั้น เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายกเทศมนตรีตำบลตกพรม กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้า โดยโครงการฯ ได้จัดแบ่งพื้นที่เป็นแปลงหลักๆ ประกอบด้วย การพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเดิมเคยเป็นผืนป่ายางที่มีสภาพรกร้างแต่ยังคงความอุดมสมบูรณ์มาพัฒนาเป็น ป่าชุมชน ซึ่งกรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจจัดทำแนวเขตของโครงการ ศึกษาสำรวจพันธุ์ไม้ จัดทำเส้นทางเดินและป้ายชื่อความหมาย พร้อมกับได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเยาวชนในพื้นที่เพื่อปลูกฝังเยาวชนและราษฎรได้เกิดความสำนึกในคุณค่าของป่าไม้ในชุมชน นอกจากนี้ ได้ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการศึกษาวิจัยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ เช่น สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ตลอดจนเห็ดชนิดต่างๆ เป็นต้น
ในส่วนที่อยู่นอกเขตป่าชุมชนได้จัดทำ แปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานและแปลงทดสอบพันธุ์ปาล์ม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่และเกษตรกรใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ และยังเป็นการเสริมรายได้ให้แก่โครงการอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาและปรับปรุงสภาพพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจเข้าชมโครงการ อาทิ การจัดสร้างอาคารเอนกประสงค์สำหรับใช้ฝึกอบรม การจัดสร้างบ้านพักพนักงาน และเส้นทางเข้าไปยังโครงการฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักสารสนเทศ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กราบบังคมทูลถึงแผนการดำเนินงานในการเชื่อมโยงข้อมูลในพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องของความหลากหลายในธรรมชาติของผืนป่า โดยได้จัดทำโครงการ “เยาวชนไืทยร่วมใจชัยพัฒนา” เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมและรู้จักการสังเกตสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง และเมื่อมีปัญหาหรือข้อซักถามสามารถสื่อสารได้โดยตรงกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ชัยพัฒนาโดยผ่านระบบ IT รวมทั้งชุมชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลต่างๆ ที่พบในโครงการฯ อาทิ ข้อมูลทางด้านพันธุ์พืช สัตว์ ป่า แมลง ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์และยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคน ในพื้นที่ให้ตระหนักถึงความสำคัญและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ อันจะเป็นกระบวนการซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรกิจกรรมในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ภายในบริเวณโครงการฯ ประกอบด้วย ประวัติความเป็นมาของโครงการ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของยางพารา ซึ่งเป็นต้นไม้เดิมในพื้นที่ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ อาทิ ลักษณะของราก พูพอน ไทร ระกำ หอยทาก เห็ดรา ไลเคน เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มปราชญ์ชาวบ้านและกลุ่มนักวิจัย ได้ถวายรายงานเกี่ยวกับพืชสมุนไพรต่างๆ รวมถึงรายงานเกี่ยวกับสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกและสัตว์หายากในพื้นที่
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา