น้ำ
ศัพท์ควรรู้ในโครงการพระราชดำริ
เรียบเรียงโดย ศุลีพร บุญบงการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญเรื่องน้ำอย่างมาก และ UN-HABITAT ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพระราชกรณียกิจ โดยเฉพาะในเรื่องนี้ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลอันเป็นเกียรติสูงสุดขององค์กร ฉะนั้นวารสารฉบับนี้จึงได้นำคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านน้ำทั้งหลายมาฝากค่ะ
น้ำ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ความเพียงพอของแหล่งทรัพยากรน้ำของประเทศไทยที่มีอยู่ปัจจุบัน ยังห่างไกลจากระดับความต้องการของประชาชนอยู่มาก อาจนับได้ว่าฝนเป็นแหล่งน้ำหลักในการใช้น้ำของทั้งราษฎรทั่วไป และเกษตรกร
ภาษาอังกฤษของคำว่า ฝน ที่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปคือ Rain ยังมีอีกคำหนึ่งซึ่งแปลว่าฝนเช่นกันคือ Precipitation ที่นอกจากจะแปลว่าฝนแล้ว ยังหมายถึงหิมะ หรือลูกเห็บได้เช่นกัน ความหมายจริงๆ ของ precipitation ก็คือสิ่งที่ตกลงมาจากเมฆ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษา Latin Praecipitatio ที่มีความหมายว่าสิ่งที่โยนลง
ในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงพบเห็นภาวะแห้งแล้งที่รุนแรง อันเนื่องมาจากภาวะฝนแล้ง แต่ก็ทรงสังเกตเห็นอีกว่าบริเวณดังกล่าวมีเมฆมาก จึงพระราชทานพระราชดำริเพื่อหาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้การก่อตัวของเมฆทำให้เกิด ฝน ได้ อันเป็นที่มาของ ฝนหลวง หรือ ฝนเทียม นั่นเอง คำว่าฝนหลวง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Royal Rain ส่วน ฝนเทียมนั้นเรียกว่า Artificial Rain ซึ่งคำว่า artificial นั้นก็แปลว่า เทียม หรือไม่ใช่ของธรรมชาตินั่นเอง
น้ำที่สามารถนำมาบริโภคได้จำเป็นต้องเป็นน้ำที่ดี หรือน้ำที่สะอาด การบำบัดน้ำเสียจึงเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญ น้ำเสีย นั้นภาษาอังกฤษสามารถใช้ได้หลายคำ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า Waste Water ซึ่งคำว่า waste แปลว่าใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ กาก หรือเดน Filthy และ Dirty Water ก็แปลว่าน้ำเสียเช่นกัน filthy มาจากคำว่า filth ที่มีความหมายว่าของสกปรก หรือปฏิกูล filthy จึงหมายความว่าสกปรก dirty ก็เช่นเดียวกัน มาจากคำว่า dirt ซึ่งแปลว่า ของสกปรก dirty จึงมีความหายว่า สกปรกนั่นเอง นอกจากนี้น้ำเสียยังใช้คำว่า Polluted Water ได้ด้วย pollute แปลว่า ทำให้เสียหรือเหม็นเน่า polluted water จึงแปลว่า น้ำเสียได้เช่นเดียวกัน
คำว่า การบำบัดน้ำเสีย สามารถใช้คำว่า Treatment ซึ่งแปลว่าการทำให้คืนสภาพ ได้ เช่น waste water treatment เป็นต้น อีกคำหนึ่งที่ใช้ได้คือคำว่า Management ที่แปลว่าการจัดการ หรือคำว่า Improvement ที่แปลว่า การทำให้ดีขึ้น ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน
วิธีการบำบัดน้ำเสียที่เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศนั้นก็คือ กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งหลายคนคิดว่ามีอยู่แบบเดียวคือแบบที่มีรูปร่างเหมือนกับกังหันน้ำ แต่ที่จริงนั้นเครื่องบำบัดน้ำเสียที่ว่านี้มีถึง 9 ประเภทด้วยกัน และทั้ง 9 ประเภทนี้มีชื่อเรียกว่า เครื่องกลเติมอากาศ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Aerator ซึ่งมาจากคำว่า aerate ที่แปลว่า ทำให้อากาศผ่านเข้าไปได้ ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งของการทำงานของเครื่อง คือ การเติมอากาศ หรือออกซิเจนเข้าไปในน้ำนั่นเอง
ถึงแม้ในบางพื้นที่ปริมาณฝนที่ตกลงมามีไม่มากพอต่อความต้องการในการอุปโภคบริโภค แต่บางพื้นที่นั้นมีฝนตกชุกและปริมาณน้ำฝนสูง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ คำว่าน้ำท่วมภาษาอังกฤษแปลว่า Flood ส่วนคำอื่นๆ ที่ใช้ได้เช่นเดียวกันได้แก่ Inundation ที่แปลว่าการท่วม หรือคำว่า Overflow ที่แปลว่าไหลล้น และคำว่า Deluge ที่หมายถึงอุทกภัย หรือน้ำท่วมหนัก
วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือการสร้าง คันกั้นน้ำ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Dike คือคันดินซึ่งสร้างขึ้นเป็นแนวไปตามทางน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่ หรือสร้าง ฝาย ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Weir ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขวางทางน้ำ ทำให้น้ำยกระดับสูงขึ้นและไหลล้นข้ามไปทำหน้าที่ผันน้ำ ควบคุมการไหลของน้ำ หรือวัดอัตราไหลของน้ำ เขื่อน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Dam เขื่อนเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขวางทางน้ำไหลในระหว่างช่องเขา เมื่อน้ำไม่สามารถไหลลงสู่พื้นที่ต่ำได้ ก็จะรวมตัวเป็นอ่างขึ้น อีกเครื่องมือหนึ่งที่มีประสิทธิภาพยิ่งคือ ฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Check Dam ฝายชะลอความชุ่มชื้นนี้เป็นสิ่งก่อสร้างขวางทางเดินน้ำที่เป็นต้นน้ำลำธาร หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ทั้งช่วยชะลอการไหลลงของน้ำยังพื้นที่ทางตอนล่าง เป็นการลดปัญหาน้ำท่วม และยังก็เป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดินได้อีกทางหนึ่ง
ปัญหาภัยแล้ง น้ำเสีย และน้ำท่วมล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยทั้งสิ้น เพราะประชาชนต้องการใช้น้ำในการดำเนินกิจกรรมในการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการอุปโภค บริโภค การทำการเกษตร ไปจนถึงการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ดังพระราชดำรัสที่ว่า น้ำ คือ ชีวิต การแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นงานหนัก ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการแก้ไข แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ได้ทุเลาลงก็เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่รักยิ่งของประชาชนชาวไทยนั่นเอง