- หน้าแรก
- เอกสารเผยแพร่
- เกร็ดความรู้
- แหลมผักเบี้ย
แหลมผักเบี้ย
ศัพท์ควรรู้ในโครงการพระราชดำริ
เรียบเรียงโดย ศุลีพร บุญบงการ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทฤษฎีการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เน้นความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย และใช้ธรรมชาติบำบัด โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในจังหวัดเพชรบุรี เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเรียบง่าย และการใช้ธรรมชาติบำบัดอย่างเห็นได้ชัด โครงการนี้เรียกสั้นๆ ว่าโครงการแหลมผักเบี้ย ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า The Laem Phak Bia Environmental Study and Development Project ดูแลในเรื่องของการบำบัดน้ำเสีย และกำจัดขยะ โดยยึดตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า ...ให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ใครๆ ก็สามารถทำได้ และมีวัสดุหาได้ในท้องที่...
เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่เรียบง่ายและใช้ธรรมชาตินี้ แบ่งออกเป็น 4 ระบบ ระบบแรกคือ ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Lagoon Treatment คำว่า Lagoon แปลตรงตัวจะหมายความว่าทะเลสาบ หรือจะหมายความว่า ทะเลสาบเล็กๆ บึง บ่อน้ำ ซึ่งคำว่า lagoon ก็แปลว่าทะเสสาบขนาดเล็ก หรือบ่อน้ำได้ด้วยนั่นเอง ส่วนคำว่าบำบัดภาษาอังกฤษใช้คำว่า treatment ซึ่งคำว่า treat แปลได้หลายความหมายแต่อีกความหมายหนึ่งก็คือ รักษา หรือบำบัดก็ได้ ระบบนี้ใช้วิธีการพึ่งพาธรรมชาติ ให้สาหร่ายสังเคราะห์แสงเพื่อเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์หายใจและย่อยสลายสารอินทรีย์ (organic matter) ในน้ำเสีย ซึ่งบ่อบำบัดมีทั้งหมด 5 บ่อ ประกอบไปด้วย บ่อตกตะกอน 1 บ่อ บ่อผึ่ง 3 บ่อ และบ่อปรับสภาพ 1 บ่อ
ระบบที่สองคือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย หรือ Plant and Grass Filtration ซึ่งคำว่า plant และ grass แปลว่าพืชและหญ้า การบัดบัดน้ำเสียแบบนี้ใช้พืชและหญ้าเป็นตัวกรองน้ำเสีย คำว่า filtrate แปลว่ากรอง ดังนั้น คำว่า filtration จึงแปลว่าการกรอง ซึ่งแปลงหรือบ่อจะเก็บกักน้ำเสีย และปลูกธูปฤาษี กกกลม และหญ้าแฝกอินโดนีเซีย หรือปลูกหญ้าอาหารสัตว์ พืชเหล่านี้มีคุณสมบัติกรองและดูดซับของเสียที่อยู่ในน้ำ
สองระบบสุดท้าย เป็นระบบที่อาศัยธรรมชาติในการบำบัด หรือใช้พืชในการบำบัดทั้งสิ้น ระบบที่สามมีชื่อว่า ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม หรือ Constructed Wetland ระบบบำบัดแบบนี้เป็นการจำลองพื้นที่ทางธรรมชาติ จึงใช้คำว่าเทียม ซึ่งสามารถแปลได้แบบไม่ตรงความหมายนักว่า สร้างขึ้นมา คำว่า construct แปลว่าสร้าง ดังนั้นสิ่งที่สร้างขึ้นมาจึงเป็นสิ่งที่ทำจำลองขึ้น ไม่ใช่ของจริง หรือเป็นของเทียมนั่นเอง ส่วนคำว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ นั้น ใช้คำว่า wetland คำว่า wet แปลว่าเปียก หรือชุ่ม ส่วนคำว่า land นั้นแปลได้หลายความหมาย ไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์ อาณาจักร หรือพื้นดิน แต่ในที่นี้แปลว่าพื้นที่ ดังนั้น คำว่า wetland จึงเป็นว่าพื้นที่ที่เปียกชุ่ม หรือพื้นที่ที่มีน้ำขัง การบำบัดน้ำเสียแบบนี้ใช้วิธีการปล่อยน้ำเสียผ่านบ่อดินตื้นๆ ที่ภายในปลูกพืชประเภทกก รากของพืชเหล่านี้จะช่วยดูดซับสารพิษ (toxin) และอินทรีย์สารให้ลดน้อยลง และย่อยสลายให้หมดไปในที่สุด
ระบบสุดท้ายคือ ระบบแปลงพืชป่าชายเลน หรือ Mangrove Forest Filtration คำว่า mangrove แปลว่า ต้นไม้จำพวกโกงกาง แต่เมื่อเติมคำว่า forest แปลว่าป่าชายเลน แต่หลายคนเรียกป่าชายเลนว่าป่าโกงกางด้วยเช่นกัน ระบบนี้ใช้หลักการบำบัดจากการเจือจางระหว่างน้ำทะเลกับน้ำเสีย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับชุมชนหรือกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งที่มีพื้นที่ติดกับป่าชายเลนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสร้างแปลงพืชป่าชายเลน
โครงการแหลมผักเบี้ยนี้นับว่าเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนทั่วประเทศในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นแบบที่เรียบง่าย แล้วยังเข้าใจง่าย จึงสามารถนำไปใช้ปฏิบัติตามได้ง่าย มีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง และใช้เทคโนโลยีที่ไม่สูงนัก ซึ่งความเรียบง่ายนี้เองที่จะนำชุมชนไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด