- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดยะลา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดยะลา
วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2559 เวลาประมาณ 12.55 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในการนี้ ได้พระราชทานสิ่งของแก่ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้แทนนักเรียน และทรงรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มูลนิธิชัยพัฒนาได้สนองพระราชดำริในการช่วยเหลือด้านวิชาการและด้านการพัฒนาอาชีพ
ในปี พ.ศ.2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนา สนับสนุนการศึกษาด้านสายอาชีพให้แก่นักเรียน โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในระยะแรกได้ส่งเสริมอาชีพด้านการทำเบเกอรี่ และซ่อมเครื่องยนต์ขนาดเล็ก เพื่อให้นักเรียน มีอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสเพิ่มเติมให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการช่วยเหลือและให้โอกาสแก่นักเรียนที่อยู่ห่างไกลและขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ มูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้ประสานกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงเรียน ม.อ. วิทยานุสรณ์ จัดทำโครงการความร่วมมือในการพัฒนาเสริมทักษะความรู้ทางวิชาการให้แก่นักเรียนโรงเรียน ในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยมีวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และมีโรงเรียนนำร่อง 3 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา โรงเรียนศรีฟาริดาบารูวิทยา จังหวัดยะลา และโรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม จังหวัดพังงา
โครงการความร่วมมือในการพัฒนาเสริมทักษะความรู้ทางวิชาการให้แก่นักเรียนโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคใต้ ดำเนินการโดยใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลแบบสื่อสาร 2 ทาง ซึ่งทำให้นักเรียนในแต่ละโรงเรียนสามารถซักถามและโต้ตอบกับอาจารย์ผู้สอนได้ในทันที อีกทั้งนักเรียนยังสามารถทบทวนการเรียนการสอนในภายหลัง ได้อีกด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดการเรียนการสอนที่เป็นการทบทวนบทเรียนในแต่ละรายวิชา ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 และโรงเรียน ม.อ.วิทยานุสรณ์ ได้จัดตารางเรียนในแต่ละวันโดยออกอากาศส่งไปยังโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ซึ่งเรียนไปพร้อมกับโรงเรียน ม.อ.วิทยานุสรณ์ จังหวัดสงขลา ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพและศักยภาพทางการศึกษา จนทำให้นักเรียนจากโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง สามารถสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้เป็นจำนวนมากขึ้น
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรการเรียนการสอนผ่านระบบทางไกลของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ผ่านระบบ Video conference ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ให้ความช่วยเหลือ ในการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย รวมถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ แก่ห้องปฏิบัติการดังกล่าว โดยมีต้นทางถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาจาก โรงเรียน ม.อ. วิทยานุสรณ์ จังหวัดสงขลา การเรียนการสอนวิธีดังกล่าวทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ ทดลอง ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แบบปฏิบัติการจริง ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะและการทดลองแบบต่างๆ อันจะส่งผลให้นักเรียนได้เข้าใจบทเรียนด้านวิทยาศาสตร์ได้ง่ายมากกว่าการท่องจำจากตำราวิชาการ
ด้านการพัฒนาอาชีพ โครงการภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ส่งเสริมงานผ้าบาติกของนักเรียนโรงเรียน อุดมศาสน์วิทยา เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ โดยส่งผ้าบาติกไปตัดเย็บ ณ ศูนย์คาทอลิกพระวิสุทธิวงศ์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นศูนย์อุปการะเด็กชนเผ่าอาข่าทั้งเด็กเล็กและเด็กโต และใช้เวลาว่างจากการเรียนทำงานหัตถกรรมเพื่อเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้ยังได้นำผ้าบาติกมาตกแต่งกระเป๋าจากกระจูด เพื่อเป็นการ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โครงการภัทรพัฒน์ ยังจัดส่งเด็กนักเรียนที่ทำผ้าบาติก ไปศึกษาดูงานเพิ่มเติมที่กลุ่มแม่บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเรียนรู้การใช้สีธรรมชาติ จากวัสดุท้องถิ่นที่มี เช่น สีจากใบหูกวาง เพกา และเปลือกมังคุด เป็นต้น และยังได้รับความร่วมมือจาก นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์งานบาติกศรียะลา ในการเป็นพี่เลี้ยงช่วยสอนเทคนิคการทำผ้าบาติกลายต่างๆ เพื่อเป็นอาชีพเสริมให้เด็กนักเรียนอีกทางหนึ่งด้วย
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์พืชจาก ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ แก่ผู้แทนกลุ่มยุวเกษตรโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา ผู้แทนกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 และผู้แทนกลุ่มเกษตรบ้านบุดี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการศูนย์เรียนรู้พระราชกรณียกิจและขยายผลพระราชดำริในสถานศึกษา ซึ่งโครงการดังกล่าวได้มีการขยายผลไปสู่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนด้วย