- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดยะลา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดยะลา
วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2559 เวลาประมาณ 09.45 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ โรงเรียนศรีฟาริดาบารูวิทยา อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา ในการนี้ ได้พระราชทานสิ่งของแก่ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้แทนนักเรียน และทรงรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่มูลนิธิชัยพัฒนาสนองพระราชดำริ ในการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ และด้านการพัฒนาอาชีพ
ในปี พ.ศ.2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนา สนับสนุนการศึกษาด้านสายอาชีพให้แก่นักเรียน โรงเรียนศรีฟาริดาบารูวิทยา เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในระยะแรกได้ปรับปรุงอาคารเรียนบางส่วน และส่งเสริมอาชีพด้านการทำผ้าบาติก เพื่อให้นักเรียนมีอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
มูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสเพิ่มเติมให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการช่วยเหลือและให้โอกาสแก่นักเรียนที่อยู่ห่างไกลและขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้ประสานกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงเรียน ม.อ. วิทยานุสรณ์ จัดทำโครงการความร่วมมือในการพัฒนาเสริมทักษะความรู้ทางวิชาการให้แก่นักเรียนโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยมีวิชา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และมีโรงเรียนนำร่อง 3 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา โรงเรียนศรีฟาริดาบารูวิทยา จังหวัดยะลา และโรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม จังหวัดพังงา
โครงการความร่วมมือในการพัฒนาเสริมทักษะความรู้ทางวิชาการให้แก่นักเรียนโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคใต้ ดำเนินการโดยใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลแบบสื่อสาร 2 ทาง ซึ่งทำให้นักเรียนในแต่ละโรงเรียนสามารถซักถามและโต้ตอบกับอาจารย์ผู้สอนได้ในทันที อีกทั้งนักเรียนยังสามารถทบทวนการเรียนการสอนในภายหลัง ได้อีกด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดการเรียนการสอนที่เป็นการทบทวนบทเรียนในแต่ละรายวิชา ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 และโรงเรียน ม.อ.วิทยานุสรณ์ ได้จัดตารางเรียนในแต่ละวัน โดยออกอากาศส่งไปยังโรงเรียน ทั้ง 3 แห่ง ซึ่งเรียนไปพร้อมกับโรงเรียน ม.อ.วิทยานุสรณ์ จังหวัดสงขลา ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพและศักยภาพทางการศึกษา จนทำให้นักเรียนจากโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง สามารถสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้เป็นจำนวนมากขึ้น
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรการเรียนการสอนผ่านระบบทางไกลของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ผ่านระบบ Video conference ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ให้ความช่วยเหลือ ในการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย รวมถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ แก่ห้องปฏิบัติการดังกล่าว โดยมีต้นทางถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาจาก โรงเรียน ม.อ. วิทยานุสรณ์ จังหวัดสงขลา การเรียนการสอนวิธีดังกล่าวทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ ทดลอง ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แบบปฏิบัติการจริง ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะและการทดลองแบบต่างๆ อันจะส่งผลให้นักเรียนได้เข้าใจบทเรียนด้านวิทยาศาสตร์ได้ง่ายมากกว่าการท่องจำจากตำราวิชาการ
โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานหลักสูตรการเรียนการสอนทางธุรกิจให้แก่โรงเรียนในจังหวัดยะลา และจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิ ชัยพัฒนา กับ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการถ่ายทอดความรู้ด้านการดำเนินงานธุรกิจให้แก่อาจารย์โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา โรงเรียนศรีฟาริดาบารูวิทยา จังหวัดยะลา และโรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม จังหวัดพังงา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์สามารถนำความรู้ประสบการณ์และเทคนิคด้านธุรกิจไปถ่ายทอดแก่นักเรียน เพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างความสนใจทักษะต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพา โดยคณะพาณิชยศาสตร์และบริหารธุรกิจ มีความชำนาญในศาสตร์บริหารธุรกิจ และมีการสอนในระดับปริญญาโทและเอก จึงสามารถเป็นพี่เลี้ยงในการถ่ายทอดการทำธุรกิจชุมชนในหลากหลายรูปแบบตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยมีเนื้อหาการอบรม ที่น่าสนใจ อาทิ การทำความเข้าใจด้านการดำเนินงานทางธุรกิจ การเสริมสร้างภาพการทำธุรกิจโดยเน้นสินค้าชุมชน สู่การตลาดสากล การสร้างแรงบันดาลใจ การศึกษาดูงานการทำธุรกิจของสินค้าชุมชน การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้และวางแผนร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่ชุมชน เป็นต้น
ทั้งนี้นอกจากการดำเนินงานโครงการดังกล่าวแล้ว มูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยบูรพา ยังมีโครงการความร่วมมือร่วมกันหลากหลายโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนา รวมถึงนำความรู้ด้านวิชาการมาใช้ในการบริหารงานโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา อาทิ โครงการวิจัยและสำรวจตลาดของร้านภัทรพัฒน์ หลักสูตรการจัดการโครงการเชิงบูรณาการโดยไม่หวังผลกำไร ฯลฯ ซึ่งจะทำให้การบริหารงานโครงการมีศักยภาพมากขึ้น