- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการผลิตข้าวพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ และ โครงการ รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการผลิตข้าวพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ และ โครงการ รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม อำเภอบ้านหมี่ จังหว ...
วันพุธที่ 19 กันยายน 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการผลิตข้าวพันธุ์พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ และโครงการ รวมกันสู้อยู่อย่างพร้อม ที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความสำคัญของพืชอาหารอันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของประชากรโลก และหนึ่งในพระราชกรณียกิจนานัปการคือ ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินงานการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหาร เพื่อเป็นฐานให้เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพ เมื่อเกษตรกรเริ่มต้นการปลูกพืชด้วยเมล็ดพันธุ์ที่ดี ย่อมส่งผลถึงพสกนิกรชาวไทย ได้บริโภคพืชอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ
ในปี 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ มูลนิธิชัยพัฒนาก่อตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย ขึ้น เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านสำหรับพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ ต่อมา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ได้มีรับสั่งกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิ ชัยพัฒนาให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการผลิตพันธุ์พืชไร่ เพื่อพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสระบุรี ขึ้นบนที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลเขาดินพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี และในปีถัดมาทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติม ให้มูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสระบุรี ผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทานที่มีคุณภาพ เพื่อพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัย
ในเดือนเมษายน 2555 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราษฎรในตำบลพุคาและตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสระบุรี เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวพระราชทานที่ดีมีคุณภาพ ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ของมูลนิธิชัยพัฒนาทุกกลุ่มจะต้องตั้งคณะกรรมการบริหารงานภายในกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ดูแลกันตั้งแต่เตรียมแปลงนาจนถึงการเก็บเกี่ยว การปลูกให้ปลูกโดยวิธีปักดำเพื่อให้ตรวจสอบวัชพืชและข้าวเรื้อได้ง่าย มีการแตกกอดี มีการกำจัดข้าวปน ข้าวดีด และวัชพืช ออกเป็นระยะ และต้องเก็บเกี่ยวด้วยมือหรือรถเกี่ยวข้าวที่สะอาด เพื่อป้องกันการปนของข้าวพันธุ์อื่นหรือข้าวเมล็ดแดง
มูลนิธิชัยพัฒนาจะมีการตรวจแปลงนาและตรวจสอบพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวขึ้นมาจากแปลงนา มีกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว คือ มีเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ประธานกลุ่ม สมาชิกกลุ่ม และเจ้าของแปลงนาร่วมกันตรวจสอบ การตรวจสอบจะสุ่มตัวอย่างข้าว 1 กิโลกรัม เพื่อวัดความชื้นและตรวจสอบหาข้าวปน ทดสอบเช่นนี้ 2 ครั้ง โดยราคาพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานเข้าเกณฑ์เป็นข้าวพันธุ์พระราชทานของมูลนิธิชัยพัฒนาจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวของกรมการค้าภายใน เพื่อเป็นรางวัลในการผลิตข้าวอย่างประณีตและมีคุณภาพ ปัจจุบันมีราษฎรตำบลพุคาและตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เข้าร่วมโครงการผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ทั้งสิ้น 30 ราย ในพื้นที่ประมาณ 574 ไร่
ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดบ้านคลอง เพื่อทอดพระเนตรบ่อบาดาลพระราชทาน ทดแทนบ่อเดิม สำหรับวัดและราษฎรตำบลบ้านคลองใช้อุปโภคและบริโภค ทรงเยี่ยมกลุ่มพัฒนาสตรีและครอบครัวบ้านคลอง ที่สมาชิกส่วนมากร่วมโครงการผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรีด้วย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรการส่งเสริมการผลิตกระเป๋าผ้าของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่เข้าพัฒนาการเลือกใช้ผ้าฝ้ายทอมือ พัฒนาแบบ การวางลายผ้า การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ และช่วยเหลือในการเพิ่มช่องทางการตลาดในอนาคตต่อไป ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมแปลงนาของนางสาวสีดา นรสิงห์ ราษฎรตำบลพุคา และแปลงนาของว่าที่ร้อยตรีณรงค์ฤทธิ์ ทองดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ที่มีความตั้งใจผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทานได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี จากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการ ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ โครงการ ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ เกิดขึ้นเนื่องจากที่ในปีพ.ศ.2554 ประเทศไทยได้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ราษฎรได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน บ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูกทำกินถูกน้ำท่วมจนราษฎรไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดังปกติ
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินงานโครงการ ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ เพื่อเตรียมการตั้งรับอุทกภัยให้กับชุมชนที่ประสบภัย โดยมีรับสั่งให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นผู้ดำเนินงานโครงการดังกล่าว หลักการของโครงการ ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ คือจะสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง จัดหาพื้นที่อพยพให้กับผู้ประสบภัยในชุมชน เตรียมเสบียงอาหารและน้ำดื่ม เพื่อให้ราษฎรพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ มูลนิธิชัยพัฒนาได้เริ่มทำโครงการนำร่อง ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ ที่ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลพุคาและกำนันตำบลพุคา เนื่องจากชุมชนดังกล่าวประสบอุทกภัยในปี 2551-2554 มีน้ำท่วมขังนาน 1-3 เดือน เป็นระยะเวลา 4 ปีติดต่อกัน
ในครั้งนั้น ตำบลพุคามี 4 หมู่บ้าน ราษฎร 636 ครัวเรือน ในปี 2554 น้ำท่วม 3 หมู่บ้าน มีราษฎรประสบอุทกภัย 482 ครัวเรือน ชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยเหลือกันเอง เตรียมพร้อมก่อนที่น้ำท่วม จนเหลือผู้ที่ต้องอพยพเพียง 30 ครอบครัว ในขณะที่เกิดอุทกภัยผู้นำชุมชนได้หาพื้นที่ว่างเปล่าที่น้ำท่วมไม่ถึงบริเวณคันคลองชลประทานเป็นสำนักงานชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัย ราษฎรตำบลพุคามีความต้องการที่จะเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยให้มากขึ้น ต้องการจัดพื้นที่ที่จะสามารถดูแลตนเองและสามารถพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดในเวลาที่ประสบอุทกภัย มูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้สนันสนุนชุมชนให้มีการเตรียมพร้อมรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจัดตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็ก สร้างยุ้งข้าวชุมชน แบ่งพื้นที่โครงการเพื่อเลี้ยงปลานิลจิตรลดาและประสานงานกับโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะกา จังหวัดนครนายก เพื่อสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ปลานิลจิตรลดา และได้อบรมเทคนิควิธีการเลี้ยงปลานิลแก่ชุมชน ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริเข้าช่วยเหลือสนับสนุนพันธุ์ผักและให้คำปรึกษาในการปลูกผักสวนครัว ให้ชุมชนปลูกผักเพื่อเป็นเสบียงของชุมชนพร้อมรับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในเรื่องน้ำดื่มที่สะอาด ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตของผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั้น มูลนิธิชัยพัฒนาได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งเครื่องผลิตน้ำดื่มที่เหมาะสมให้แก่ชุมชน และฝึกให้ชุมชนสามารถดำเนินการผลิตน้ำสะอาดเพื่อบริโภค พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในครั้งนั้น เป็นการสร้างต้นแบบสำหรับราษฎรที่เสียสละเป็นพื้นที่แก้มลิง ประสบภัยน้ำท่วมขัง ยอมให้น้ำเข้าท่วม ทุ่งนา และบางปีน้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือนนับเดือน ราษฎรจะมี ข้าว ปลา ผัก และน้ำดื่มที่สะอาด บริโภคตลอดช่วงเวลาวิกฤต นับว่า โครงการนำร่อง ‘รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม’ ของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นการวางแผนเชิงรุกให้ชุมชนเตรียมพร้อม สามารถอยู่รอดได้ในวิกฤตอุทกภัยที่กินเวลาแรมเดือน เป็นการสนับสนุนให้ราษฎรร่วมมือร่วมใจ สร้างความสามัคคี ช่วยเหลือและแบ่งปันกัน สามารถนำไปเผยแพร่แก่ชุมชนอื่นๆที่ประสบอุทกภัยในลักษณะเดียวกันต่อไป พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อให้เกิดกระบวนการการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหารที่มีคุณภาพดี มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ สะสมไว้เพื่อประโยชน์แก่ราษฎร ทั้งในชีวิตประจำวันและยามที่บ้านเมืองประสบภัยวิกฤต พระมหากรุณาธิคุณนี้ ได้สร้างความแข็งแรงมั่นคงทางด้านอาหารให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน นับเป็นการสร้างความมั่นคงของประเทศได้อีกทางหนึ่ง