- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชม “โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” จังหวัดสมุทรสงคราม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชม “โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” จังหวัดสมุทรสงคราม
วันอังคารที่ 2 ตุลาคม 2561 เวลา 10.05 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายัง “โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ทรงนำคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาจุฬาลงกรณ์ ที่เคยถวายการรักษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เยี่ยมชมวิถีชุมชนอัมพวาและกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และพัฒนาของโครงการฯ อันได้แก่ การเที่ยวชมบรรยากาศในสวนผสมแบบดั้งเดิมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ 3 น้ำ ได้แก่ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย กิจกรรมการปล่อยแตนเบียน เพื่อกำจัดแมลงดำหนามศัตรูสำคัญของมะพร้าว และเยี่ยมชมกิจกรรมสาธิตจากเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร ที่สะท้อนสภาพวิธีชุมชนเกษตรของอัมพวา ได้แก่ โรงเรียนนาเกลือ การผลิตกะปิเคยตาดำ ส้มโอและผลผลิตจากส้มโอ กิจกรรมการเพาะเลี้ยงชันโรงเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตในสวน การแปรรูปน้ำตาลมะพร้าว กิจกรรมจักสานก้านมะพร้าว การผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และการจัดการมะพร้าวครบวงจร
ในการนี้ได้ทอดพระเนตรการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว ใน “เตาตาล – อัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” และสินค้าชุมชน รวมทั้งเยี่ยมชมการแสดงดนตรีวงสุนทราภรณ์ และการแสดงหุ่นสายของนักเรียนวัดเขายี่สาร เยี่ยมชมร้านค้าของชุมชนภายในลานนาคะวะรังค์ เยี่ยมชมบรรยากาศตลาดน้ำ และเรือนแถวริมคลอง อัมพวา ประกอบด้วย ห้องนิทรรศการชัยพัฒนานุรักษ์ ศูนย์ข้อมูลชุมชนอัมพวา บ้านครูเอื้อ และห้องนิทรรศการสวัสดีอัมพวา เป็นต้น
“โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” เกิดขึ้นจากการที่ นางสาวประยงค์ นาคะวะรังค์ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน ประกอบด้วยสวนผลไม้ เรือนแถวไม้ริมคลองอัมพวาและบ้านพักอาศัย พื้นที่รวมประมาณ 21 ไร่ ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิ ชัยพัฒนา นำที่ดินไปพัฒนาและอนุรักษ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และได้พระราชทานนามโครงการแห่งนี้ว่า “โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” และในภายหลัง นางสาววณี และนางประไพ ด้วงคุ้ม ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินที่เป็นสวนลิ้นจี่เชื่อมโยงกับที่ดินโครงการฯ จำนวนประมาณ 5 ไร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในภาพรวม
การดำเนินงานโครงการฯ ได้สนองพระราชดำริในการพัฒนาและอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวา ทั้งด้านกายภาพและการดำเนินชีวิตของผู้อาศัยในพื้นที่และชุมชน โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบอาชีพ และประกอบกิจกรรมภายในพื้นที่ และพัฒนาพื้นที่ให้เกิดศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชื่อมโยงกับอุทยาน ร.2 และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของจังหวัดสมุทรสงคราม รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง การรักษาระบบนิเวศน์ ของสวนผลไม้ และแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวา ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยสร้างโอกาสให้ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนา และการพึ่งพาตนเองของชุมชนตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียง
การจัดการพื้นที่แห่งนี้ คำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวอัมพวา โดยนำหลักการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ภูมิสังคม” และพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางและหลักการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่การมีส่วนร่วม การร่วมมือร่วมใจระหว่างสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและชาวอัมพวาทุกคน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีการดำรงชีวิตชุมชนอัมพวาให้สามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง เรียบง่าย ยั่งยืน และมีความสุข ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคม กิจกรรมต่างๆ ที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจะจัดขึ้นนั้น ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชุมชนอัมพวา ประกอบไปด้วย
สวนชัยพัฒนานุรักษ์ และเตาตาล เป็นการจัดพื้นที่สวนผลไม้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตท้องถิ่นอัมพวาในด้านการเกษตร โดยเฉพาะไม้ผล ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอัมพวา การส่งเสริมการเกษตรแบบชีววิธี รวมทั้งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตมะพร้าว โดยการสาธิต การเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวแท้แบบดั้งเดิมที่ไม่ผสมน้ำตาลทรายและสารเคมี จำหน่ายแก่คณะศึกษาดูงาน และนักท่องเที่ยวทั่วไป และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลมะพร้าว และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพ และมูลค่าของผลิตภัณฑ์มะพร้าวในภาพรวม
ร้านภัทรพัฒน์ อัมพวา บริเวณหน้าสวนชัยพัฒนานุรักษ์ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน้าร้านของชุมชนในการ จำหน่าย และส่งเสริมการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากร้านภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนา สร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ และอาชีพให้คนในชุมชน
ลานวัฒนธรรม และร้านค้าชุมชน “นาคะวะรังค์” เป็นลานเอนกประสงค์สำหรับการแสดงและกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นวิถีชีวิตลุ่มน้ำแม่กลองและอัมพวา ได้แก่ การบรรเลงดนตรีไทย การแสดงโขน การสาธิตประกอบอาหารพื้นบ้าน รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นที่หลากหลายของอัมพวา สำหรับการตั้งชื่อลานวัฒนธรรมแห่งนี้ว่า “นาคะวะรังค์” นั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่นางสาวประยงค์ นาคะวะรังค์ ผู้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวอัมพวา ชุมชนอัมพวา และชาวไทยที่รักวิถีชีวิตแห่งความเป็นไทย
ร้าน “ชานชาลา” เป็นร้านเครื่องดื่ม และอาหารว่าง ในเรือนแถวไม้ริมคลองอัมพวา มีมุมจำหน่ายของที่ระลึกของโครงการ ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่กิจกรรมภายในโครงการ ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนอัมพวา ซึ่งได้ตกแต่งร้านให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นร้านสมัยโบราณ
ห้องนิทรรศการชุมชน เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนแม่กลองและอัมพวา มีการจัดรูปแบบและเนื้อหาของนิทรรศการให้หมุนเวียน และสอดคล้องกับเนื้อหาการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวา เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชุมชน ส่งเสริม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้ ภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ของชุมชนและท้องถิ่น