เรื่อง ฟื้นฟูป่า แถมน้ำมันเมล็ดชา
ราว 15 ปีก่อน กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์พืชลักษณะคล้ายผลเกาลัดจำนวน 3 - 4 เมล็ดให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล พร้อมรับสั่งว่า “เป็นของดีนะ ทำน้ำมันได้ เขาเรียกน้ำมันเมล็ดชา ให้เริ่มศึกษาว่าจะมีหนทางปลูกที่เมืองไทยได้อย่างไร”
มูลนิธิชัยพัฒนาจึงออกค้นหาพันธุ์ชาน้ำมัน ซึ่งเดิมทีคิดว่าเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่นำใบมาทำชา กระทั่งเดินทางไปค้นพบว่าถิ่นที่อยู่ของพันธุ์ชาดังกล่าวอยู่ที่เมืองหนานหนิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูง 5 - 10 เมตร เติบโตบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 500 - 1,300 เมตร สกัดน้ำมันโดยใช้วิธีนำเมล็ดชาไปคั่วผ่านความร้อน แล้วจึงบีบน้ำมันออกมาใช้สำหรับประกอบอาหาร
มูลนิธิฯ จึงนำพันธุ์ชาเข้ามาทดลองปลูกในเขตพื้นที่บริเวณบ้านปางมะหัน บ้านปูนะ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และพื้นที่ใน โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย รวมทั้งขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงรวมกว่า 3,680 ไร่ รวมจำนวนต้นชาน้ำมันราว 954,000 ต้น ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อันที่จริง เรื่องสร้างรายได้ก็เรื่องหนึ่ง
จุดประสงค์หลักจริง ๆ คือ การฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมและทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลาย ชาวบ้านจะได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าและดูแลรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน
ตามแนวพระราชดำริ “คนอยู่ร่วมกับป่า” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง