แนวคิดการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองของเกษตรกรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (Self Reliance)
แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการส่งเสริมชุมชนหรือการพัฒนาชนบทที่สำคัญๆ คือ การที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนา คือ การที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองได้ของคนในชนบทเป็นหลัก กิจกรรมและโครงการตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินการอยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศในปัจจุบันนั้นล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การพึ่งตนเองได้ของราษฎรทั้งสิ้น
ในการพัฒนาทั้งด้านอาชีพและส่งเสริมการเกษตร ให้เกษตรกรสามารดำรงชีพอยู่ได้อย่างมั่นคงเป็นปึกแผ่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการแนะนำสาธิตให้ประชาชนดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทเป็นไปตามหลักการพัฒนาสังคมชุมชนอย่างแท้จริง กล่าวคือ ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองได้ของคนในชนบทเป็นหลัก
ดังนั้น การที่ราษฎรในชนบทสามารถพึ่งตนเองได้มากยิ่งขึ้นนั้น สืบเนื่องจากแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่เกษตรกรทั้งหลายประการ
วิธีการพัฒนา
1. ทรงยึดหลักที่ไม่ใช้วิธีการสั่งการให้เกษตรกรปฏิบัติตาม เพราะไม่อาจช่วยให้คนเหล่านั้นพึ่งตนเองได้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานโดยไม่ได้เกิดจากความพึงใจ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
..ดำริ คือ ความเห็นที่จะทำ ไม่ใช่คำสั่งแต่มันเป็นความเห็น มีทฤษฎีอะไรต้องบอกออกมา ฟังได้ฟัง ชอบใจก็เอาไปได้ ใครไม่ชอบก็ไม่เป็นไร...
2. ทรงเน้นให้พึ่งตนเองและช่วยเหลือตนเองเป็นหลักสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักจะทรงทำหน้าที่กระตุ้นให้เกษตรกรทั้งหลายคิดหาลู่ทางที่จะช่วยตนเอง พึ่งตนเองโดยไม่มีการบังคับการแสวงหาความร่วมมือจากภายนอกต้องกระทำเมื่อจำเป็นจริงๆ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า
...คนทุกคน ไม่ว่าชาวกรุงหรือชาวชนบทไม่ว่ามีการศึกษามากหรือน้อยอย่างไร ย่อมมีจิตใจเป็นอิสระ มีความคิดเห็น มีความพอใจ เป็นของตนเอง ไม่ชอบการบังคับ นอกจากนั้นยังมีขนบธรรมเนียม มีแบบแผนเฉพาะเหล่ากันอีกด้วย...
3. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation) เป็นจุดหลักสำคัญในการพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการดำเนินการเช่นนั้น จักช่วยให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด ดังเคยมีพระราชดำรัสในอากาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2501 กับประชาชนชาวไทยทั้งหลายว่า
...ภาระในการบริหารนั้นจะประสบผลด้วยดีย่อมต้องอาศัยความรักชาติ ความซื่อสัตย์สุจริต ความสมัครสมานกลมเกลียวกัน ประกอบกับการร่วมมือของประชาชนพลเมืองทั่วไป ข้าพเจ้าจึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะพยายามปฏิบัติกรณียกิจในส่วนของแต่ละท่านด้วยใจบริสุทธิ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อได้มาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนทั่วไปอันเป็นยอดปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น...
4. หลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการแนะนำประชาชนเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ ทรงใช้หลักประชาธิปไตยในการดำเนินการ เห็นได้ชัดเจนในทุกคราที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนประชาชนและเกษตรกรร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น หากเจ้าหน้าที่ทักท้วงสิ่งใดทางวิชาการ กราบบังคมทูลแล้วก็ทรงรับฟังข้อสรุปอย่างเป็นกลาง หากสิ่งใดที่เจ้าหน้าที่กราบบังคมทูลว่าปฏิบัติได้ แต่ผลลัพธ์อาจไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงให้เปลี่ยนแปลงโครงการได้เสมอ เห็นได้ชัดเจนจากพระราชดำรัสศูนย์ศึกาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า
...เป็นสถานที่ที่ผู้ทำงานในด้านพัฒนาจะไปทำอะไรอย่างที่เรียกว่า ทดลอง ก็ได้ และเมื่อทดลองแล้วจะทำให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้นสามารถเข้าใจว่าเขาทำกันอย่างไรเขาทำอะไรกัน...
ได้พระราชทานพระราชาธิบายเพิ่มเติมอีกว่า
...ฉะนั้นศูนย์ศึกษาการพัฒนานี้ ถ้าทำอะไรล้มเหลวต้องไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องถูกลงโทษ แต่เป็นสิ่งที่แสดงว่าทำอย่างนั้นไม่เกิดผล...
5. ทรงยึดหลักสภาพของท้องถิ่นเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งด้านสภาพแวดล้อม ทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี ของแต่ละท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศ เพราะทรงตระหนักดีกว่าการเปลี่ยนแปลงใดที่ดำเนินการโดยฉับพลันอาจก่อผลกระทบต่อค่านิยม ความคุ้นเคย และการดำรงชีพในวิถีประชาเหล่านั้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงพระราชทานแนวคิดเรื่องนี้ว่า
...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศของภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศของสังคมวิทยาคือ นิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้วเราเข้าไปดูว่า เขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง...
6. พระราชดำริที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การสร้างความแข็งแรงให้ชุมชน ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิต อันจะเป็นรากฐานนำไปสู่การพึ่งตนเองได้ในระยะยาว โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ แหล่งน้ำ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำฝนจักได้มีโอกาสที่จะมีผลิตผลได้ตลอดปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ในเรื่องอาหารได้ระดับหนึ่ง และเมื่อชุมชนแข็งแรงพร้อมดีแล้ว ก็อาจจะมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการยกระดับรายได้ของชุมชน เช่น เส้นทางคมนาคม ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาในลักษณะที่เป็นการมุ่งเตรียมชุมชนให้พร้อมต่อการติ่ดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างเป็นขั้นตอนนี้ทรงเรียกว่า การระเบิดจากข้างใน ซึ่งเรื่องนี้พระองค์ทรงอธิบายว่า
...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับ...
วิธีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองได้นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะว่าควรจะต้องค่อยๆ กระทำตามลำดับขั้นตอนต่อไป ไม่ควรกระทำด้วยความเร่งรีบซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายได้ ดังที่รับสั่งกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ว่า
...ในการสร้างความเจริญก้าวหน้านี้ ควรอย่างยิ่งที่จะค่อยสร้างค่อยเสริมทีละเล็กละน้อยให้เป็นลำดับ ให้เป็นการทำไปพิจารณาไป และปรับปรุงไป ไม่ทำด้วยอาการเร่งรีบตามความกระหายที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกใหม่ เพราะความจริงสิ่งที่ใหม่แท้ๆ นั้นไม่มี สิ่งใหม่ทั้งปวงย่อมสืบเนื่องมาจากสิ่งเก่าและต่อไปย่อมจะต้องกลายเป็นสิ่งเก่า...
พร้อมกันนี้ในเรื่องเดียวกัน ทรงมีรับสั่งกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 ว่า
...เมื่อมีพื้นฐานหนาแน่นบริบูรณ์พร้อมแล้ว ก็ตั้งตนพัฒนางานต่อไป ให้เป็นการทำไปพัฒนาไปและปรับปรุงไป...
7. การส่งเสริมหรือสร้างเสริมสิ่งที่ชาวชนบทขาดแคลน และเป็นความต้องการอย่างสำคัญ คือ ความรู้ ด้านต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่า ชาวชนบทควรจะมีความรู้ในเรื่องของการทำมาหากิน การทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ในเรื่องการพึ่งตนเอง ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรในชนบทได้มีโอกาสได้รู้ได้เห็นถึงตัวอย่างของความสำเร็จนี้ และนำไปปฏิบัติได้เองซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ตัวอย่างของความสำเร็จทั้งหลายได้กระจายไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่งประเทศ วิธีการให้ความรู้แก่ประชาชนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในกรพัฒนาว่า
...การใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยในงานต่างๆ นั้น ว่าโดยหลักการควรจะให้ผลมาก ในเรื่องประสิทธาพ การประหยัดและการทุ่มแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามก็คงยังจะต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นเป็นพื้นฐานและส่วนประกอบของงานที่ทำด้วย อย่างในประเทศของเราประชาชนทำมาหาเลี้ยงตัวด้วยการกสิกรรมและการลงแรงทำงานเป็นพื้น การใช้เทคโนโลยีอย่างใหญ่โตเต็มรูปหรือเต็มขนาดในงานอาชีพหลักของประเทศย่อมจะมีปัญหา เช่นอาจทำให้ต้องลงทุนมากมายสิ้นเปลืองเกินกว่าเหตุ หรืออาจก่อให้เกิดการว่างงานอย่างรุนแรงขึ้น เป็นต้น ผลที่เกิดก็จะพลาดเป้าหมายไปห่างไกลและกลับกลายเป็นผลเสีย ดังนั้น จึงต้องมีความระมัดระวังมากในการใช้เทคโนโลยีที่ปฏิบติงานคือ ควรพยายามใช้ให้พอเหมาะพอดีแก่สถาวะของบ้านเมืองและการทำกินของราษฎรเพื่อให้เกิดประสิทธิผลด้วย เกิดความประหยัดอย่างแท้จริงด้วย...
8. ทรงนำความรู้ในด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมเข้าไปถึงมือชาวชนบทอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยทรงมุ่งเน้นให้เป็นขบวนการเดียวกับที่เป็นเทคโนโลยีทางการผลิตที่ชาวบ้านสามารถรับไปและสามารถไปปฏิบัติได้ผลจริง
ในทางปฏิบัติเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกใช้เทคนิควิธีการต่างๆ หลายประการเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ทรงมุ่งหวังดังกล่าวนั้นมีหลายแนวทาง เช่น
ก. การรวมกลุ่มประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาหลักของชุมชนชนบท ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาพึ่งตนเอง โดยเฉพาะการรวมตัวกันเป็นรูปของสหกรณ์ ดังนั้น ในทุกพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนิน และมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นมาไม่ว่าลักษณะใด จะทรงเน้นเสมอถึงความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่รวมกัน หรือเพื่อให้การทำมาหากินของชุมชยโดยส่วนรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด จนเห็นได้ว่า กลุ่มสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จหลายโครงการนั้นพัฒนาขึ้นมาจากการรวมตัวกันของราษฎรกลุ่มเล็กๆ เช่น สหกรณ์หุบกระพงเกิดจากกลุ่มเกษตรกรที่ทำสวนผักในย่านนั้นเป็นต้น
ข. การส่งเสริมโดยกระตุ้นผู้นำชุมชนให้เป็นผู้นำในการพัฒนาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทรงใช้ในบางพื้นที่ตามความเหมาะสม ทรงพิจารณาผู้นำโดยเน้นในด้านคุณธรรม ความโอบอ้อมอารี ความเป็นคนในท้องถิ่นและรักท้องถิ่น จากนั้นทรงอาศัยโครงสร้างสังคมไทย โดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์กระตุ้นให้ผู้นำชุมชนที่มักจะมีฐานะดี ให้เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์ความเจริญให้กับท้องถิ่น โดยชาวบ้านที่ยากจนให้ความสนับสนุนร่วมมือ ซึ่งในที่สุดแล้วผลแห่งความเจริญที่เกิดขึ้นจะตกแก่ชาวบ้านในชุมชนนั้นทุกคน ดังพระราชดำริที่ว่า
...ในการทำงานทั้งปวงนั้น ทุกคนจะต้องตั้งใจจริง อดทนและขยันหมั่นเพียร ซึ่งตรงเห็นอกเห็นใจกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน มีเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ยึดมั่นในสามัคคีธรรม ความสุจริตทั้งในความคิดและการกระทำ ถือเอาความมั่นคงและประโยชน์ร่วมกันเป็นจุดหมายสำคัญ...
ค. การส่งเสริมการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองนั้นจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อนที่จะให้เกิดผลในทางความเจริญอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่มีพระราชดำริอยู่เสมอ คือ ชุมชนจะต้องพึ่งตนเองได้ในเรื่องอาหารก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อยก้าวไปสู่การพัฒนาในเรื่องอื่นๆ การขยายการผลิตเพื่อการค้าใดๆ ก็ตาม ทรงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความพร้อมในด้านการตลาด โดยเฉพาะในด้านความรู้เบื้องตนเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีธุรกิจการเกษตรของชาวบ้านอย่างง่ายๆ อีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่กรรมการ กปร. และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพราชดำริ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ณ ศาลาดุสิดาลัย ความตอนหนึ่งว่า
...ในด้านหนึ่งที่ไม่เคยคิดกัน ในด้านการพัฒนา เช่น เจ้าหน้าที่บัญชี ถ้าหากว่าทำการเพาะปลูก ชาวบ้านทำการเพาะปลูก เมื่อมีผลแล้วเขาบริโภคเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ขายเพื่อให้ได้ มีรายได้ แล้วก็เมื่อมีรายได้แล้วก็ไปซื้อของที่จำเป็นและสิ่งที่จะมาเกื้อกูลการอาชีพของตัว อย่างนี้ไม่ค่อยมีการศึกษากัน เมื่อผลิตอะไรแล้วก็จำหน่ายไปก็มีรายได้ก็ต้องทำบัญชี ชาวบ้านทำบัญชีบางที่ไม่ค่อยถูก...
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : มรรควิธีที่ช่วยเหลือให้เกษตรกรได้บรรลุผลในการพึ่งตนเอง
1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : ความหมายและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้วยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังจะพัฒนาประชาชนในชนบทให้สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับ พออยู่ พอกิน เสียก่อน จากนั้นก็จะเพิ่มระดับการพึ่งตนเองได้เป็นลำดับ
แนวพระราชดำริเพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลายนี้อาจกล่าวได้ว่าเพื่อสนองพระราโชบายในการเสริมสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชนในชนบท เพื่อจักได้พึ่งตนเองได้โดยแก้ กล่าวคือ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชประสงค์ในการจัดตั้งนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชาธิบายว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีลักษณะดังนี้
...เป็นศูนย์ หรือเป็นที่แห่งหนึ่งที่รวมการศึกษาเพื่อดูว่า ทำอย่างไร จะพัฒนาได้ผล...
นอกจากนี้ได้พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า
...ศูนย์ศึกษานี้เป็นคล้ายๆ พิพิธภัณฑ์ใหญ่ที่มีชีวิตที่ใครๆ จะมาดูว่าทำอะไรกัน...
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนั้น มีพระราชดำรัสว่า
เพื่อเป็นแหล่งสาธิตให้เกษตรกรได้เรียนรู้
...ที่ตั้งศูนย์ศึกษานี้เพื่อจุดประสงค์สำคัญยิ่ง 2 ทาง คือ ทางหนึ่งก็คือเป็นการ
สาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึงว่าทุกสิ่งทุกด้านของชีวิตประชาชน ที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำอย่างไรและได้เห็นวิทยาการแผนใหม่จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ...
เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยทดลอง
...จุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ ก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่
เพราะว่าแต่ละท้องที่สภาพฝนฟ้าอากาศและประชาชนในท้องที่ต่างๆ กัน ก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน...
เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็นในการพัฒนา
...กรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้านของการพัฒนาชีวิตของ
ประชาชนได้สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปรองดองกัน ประสานงานกัน...
เป็นศูนย์รวมบริการประชาชนทางด้านความรู้และวิชาการ
...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรม
กองทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหางานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่าประชาชนซึ่งจะต้องใช้วิชาการทั้งหลายก็สามารถที่จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียวกัน ซึ่งเป็นสองด้านก็หมายถึงว่าที่สำคัญปลายทางคือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์..
จึงอาจกล่าวได้ว่าศูนยืศึกษาการพัฒนา คือ แหล่งค้นคว้าหาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ของเกษตรกร สืบเนื่องจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้สามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยวิธีการหนึ่งที่ทรงเห็นว่าได้เรียนรู้และพบเห็นด้วยประสบการณ์ตนเองนั้น เป็นการสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาชนบท ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากระราชดำริ โดยทำหน้าที่เสมือน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัย และแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับภสพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆและเมื่อค้นพบพิสูจน์ได้ผลแล้ว ก็จะนำผลที่ได้ไป พัฒนา สู่ราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงจนกระทั่งขยายผลแผ่กระจายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้สำเร็จสูงสุดสู่ราษฎรต่อไป
2. แนวทางและวัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญมีดังนี้
2.1 การแก้ไขปัญหาตามสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกัน การพัฒนาจะต้องเริ่มต้นจากสภาพความเป็นจริง ศึกษาว่าปัญหาของพื้นที่นั้นคืออะไร และเลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ แปรเปลี่ยนไปตามสภาพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
2.2 การแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติและประชาชน การศึกษาค้นคว้าง ทดลอง วิจัยต่างๆ ที่ได้ผลแล้ว ควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาจึงควรเป็นแหล่งผสมผสานวิชาการและการปฏิบัติเป็นแหล่งความรู้ของราษฎร เป็นแหล่งศึกษาทดลองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างคน 3 กลุ่ม คือ ราษฎร เจ้าหน้าที่ ซึ่งทหน้าที่พัฒนาส่งเสริมและนักวิชาการ
2.3 การพัฒนาแบบผสมผสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาแต่ละแห่งเป็นแบบจำลองของพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาที่ควรจะเป็น ในพื้นที่ลักษณะหนึ่งๆ นั้น จะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ได้โดยวิธีใดบ้าง มิใช่การพัฒนาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่พยายามใช้ความรู้หลายสาขาที่สุด โดยให้แต่ละสาขาเป็นประโยชน์เกื้อหนุนกับการพัฒนาสาขาอื่นๆ ด้วย
2.4 การประสานงานระหว่างหน่วยราชการ แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาทุกแห่ง เน้นการประสานงาน การประสานแผนและการจัดการระหว่าง กรม กอง และส่วนราชการต่างๆ ให้เกิดเป็นจริงขึ้น
2.5 เป็นศูนย์รวมในการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อให้ได้รับความสะดวกและประสิทธิภาพในการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์สูงสุด ตลอดจนได้รับริการจากทางราชการของส่วนราชการต่างๆ ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดต่อราชการนับเป็นการปฏิรูปมิติใหม่ของระบบบริหารราชการแผ่นดินในการบริการของทางราชการแบบใหม่ที่สิ้นสุดตรงจุดเดียว One Stop Service หรือที่เรียกกันว่า การบริการแบบเบ็ดเสร็จ นั่นเอง
3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: ความเป็นมาและผลการดำเนินการ ในปัจจุบันมี 6 ศูนย์ กระจายอยู่ในภาคต่างๆ ทั้ง 4 ภาค คือ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
ประวัติความเป็นมา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 264 ไร่ เมื่อเสด็จฯ ทอดพระเนตรที่ดินดังกล่าว ซึ่งมีสภาพเป็นดินทรายขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ และถ้าปลูกได้ก็เจริญเติบโตไม่ดีไม่สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้ จึงได้มีพระราชดำริกับเจ้าหน้าที่อำเภอ จังหวัด และหน่วยราชการต่างๆ ให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาด้านเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ เพื่อเป็นแหล่งให้เกษตรกรและผู้สนใจได้เข้าชม ศึกษา ค้นคว้า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวได้ว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนได้ถือกำเนิดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นับเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก
พื้นที่ดำเนินการ ในปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีพื้นที่ซึ่งราษฎรได้น้อมเกล้าฯถวาย ประมาณ 1,240 ไร่ และพื้นที่ส่วนพระองค์ ที่อยู่ติดกับศูนย์ฯ ซึ่งได้พระราชทานให้เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย และทดสอบการพัฒนาด้านการเกษตรเป็นการสนับสนุนศูนย์ฯ อีกทางหนึ่ง มีเนื้อที่ประมาณ 655 ไร่ รวมพื้นที่ 1,895 ไร่
นอกจากนี้ยังมีศูนย์สาขา ประกอบด้วย
ศูนย์บริการพัฒนาบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก
การดำเนินงานของศูนย์ฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ดำเนินกิจกรรมใน
การปรับรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐาน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาปรับปรุงดิน การใช้วิธีธรรมชาติในการป้องกันศัตรูพืช การศึกษาความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกม้ผลต่างๆ การสร้างพันธุ์ลูกผสมสองชั้นในพืชผักรับประทาน การปลูกและบำรุงรักษาป่าเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมและสาธิตการปลูกไม้ผลและ ขยายพันธุ์ไม้ผล ส่งเสริมการทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปรับปรุงบำรุงพันธุ์สัตว์ ตลอดจนการจัดตั้งธนาคารโค-กระบือ สาธิตการเลี้ยงปลา ผลิตพันธุ์ปลาและแจกจ่ายพันธุ์ปลา ฝึกอบรมด้านศิลปาชีพ แนะนำส่งเสริมเผยแพร่หลักการและวิธีการสหกรณ์ เป็นต้น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ประวัติความเป็นมา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ตั้งอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันอันเป็นพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชโองการประกาศให้เป็นที่หลวงเมื่อ พ.ศ. 2466 และ พ.ศ. 2467 เดิมพื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าประเภทเนื้อทรายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า ห้วยทราย ต่อมาราษฎรได้เข้ามาอาศัยทำกิน บุกรุกแผ้วถางป่าประกอบอาชีพตามยถากรรม ภายในเวลา 40 ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายเป็นจำนวนมากทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและมีปริมาณน้อยลง จนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน ดินขาดการบำรุงรักษา จนเกิดความไม่สมดุลตามธรรมชาติ การพังทลายของผิวดินค่อนข้างสูง ประกอบกับราษฎรส่วนใหญ่ปลูกสับปะรดซึ่งต้องใช้สารเคมีมาก ทำให้คุณภาพของดินตกต่ำลงไปอีก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ...หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด... และเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2526 ได้พระราชทานพระราชดำริกับหม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้เอนกประสงค์ จัดให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ ได้ประโยชน์จากป่าไม้ และไม่ทำลายป่าไม้อีกต่อไป มุ่งหมายที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำศึกษาระบบป้องกันไฟไหม้ป่าแบบ ระบบป่าเปียก ให้ราษฎรสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ และปลูกพืชชนิดต่างๆ ควบคู่ไปด้วย และให้ราษฎรที่เข้ามาทำกินโดยมิชอบเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อที่จะได้พระราชทานที่ดินทำกินต่อไป
เมื่อได้พระราชทานพระราชดำริแล้วศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ถือกำเนิด เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา
พื้นที่ดำเนินการ พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ขอบเขตพื้นที่โครงการประมาณ 15,880 ไร่ โดยมีศูนย์สาขาคือ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
การดำเนินงานของศูนย์ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม เร่งสร้างความสมดุลทางธรรมชาติให้กลับสู่สภาพเพิมโดยการปลูกป่าไม้ 3 อย่าง คือ ไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก ได้แก่ การสร้างแนวป้องกันไฟป่าแบบเปียก ศึกษาวิจัยการทำเกษตรแบบผสมผสาน การทำการเกษตรในระบบวนเกษตร ระบบเกษตรธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อทรายซึ่งในขณะนี้ได้ทดลองปล่อยเนื้อทราย เก้ง ละอง ละมั่ง กลับคืนสู่สภาพป่าธรรมชาติ เป็นต้น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลสานามไชย อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ประวัติความเป็นมา ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่นายบุญนาค สายสว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี สรุปได้ว่า ...ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมง และการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี... โดยพระราชทานเงินที่ราษฎรได้ร่วมทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสดังกล่าวเป็นทุนเริ่มดำเนินการ และในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเตอม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเกี่ยวกับโครงการที่จะจัดทำขึ้นในเขตจังหวัดจันทบุรี สรุปสาระสำคัญได้ว่า ...ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณะประโยชน์ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล... จังหวัดจันทบุรีจึงได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและกำหนดพื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน ตำบลสนามไชย อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาฯ
พื้นที่ดำเนินการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ มีพื้นที่โครงการประมาณ 34,299 ไร่
การดำเนินงานของศูนย์ฯ ดำเนินกิจกรรมในการค้นคว้า ทดลอง และสาธิตการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมชายฝั่ง ได้แก่ การศึกษาวิจัยวิธีบำบัดน้ำเสียจากบ่อกุ้งกุลาดำ ส่งเสริมการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและรักษาดุลยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก เช่น การวิจัยและทดสอบระบบการเกษตรผสมผสาน การส่งเสริมความรู้ในเรื่องของสหกรณ์ จัดอบรมด้านการปศุสัตว์ เป็นต้น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
ประวัติความเป็นมา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี และอธิบดีกรมชลประทาน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้มีการศึกษาทดลองงานพัฒนาการเกษตรต่างๆ ตามความเหมาะสม สำหรับเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อไป เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2526 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ โดยมีหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นประธาน และวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 ทอดพระเนตรศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้อีกและได้มีพระราชเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2527 เป็นต้นมา
พื้นที่ดำเนินการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีพื้นที่โครงการประมาณ 2,300 ไร่
และเขตปริมณฑลเพื่อการพัฒนาป่าไม้ประมาณ 11,000 ไร่
การดำเนินงานของศูนย์ฯ ดำเนินการพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาระบบการ
ปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร เช่น การศึกษาทดสอบพันธุ์ข้าวไร่ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่การศึกษาเกี่ยวกับผลของสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลง การจัดระบบเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น การศึกษาระบบนิเวศน์วิทยาของป่า การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพดิน การส่งเสริมและพัฒนาด้านปศุสัตว์และประมง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติความเป็นมา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระ
เจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาพื้นที่บริเวณป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะใช้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลองเพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่บริเวณต้นน้ำลำธารของภาคเหนือ และเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยการใช้ระบบชลประทานเข้าเสริมการปลูกป่าไม้ 3 อย่าง และการใช้ลุ่มน้ำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ดครงการและได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ให้ศูนย์ทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยให้ต้นทางเป็นป่าไม้และปลายทางเป็นการศึกษาการทำประมงตามอ่างเก็บน้ำซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎรอย่างแท้จริง
พื้นที่ดำเนินการ ศูนยืศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีพื้นที่ดำเนินการอยุ่ในเขต
ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่กวง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 8,800 ไร่ ภูมิประเทศทั่วไปเป็นป่าเขา ทิศเหนือเป็นป่าไม้เบญจพรรณ พื้นที่ตอนกลางและตอนใต้เป็นป่าที่มีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ในการศึกษาการพัฒนาเกษตรกรรมด้านต่างๆ
นอกจากนี้แล้วศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ยังมีศูนย์สาขา ประกอบด้วย
โครงการศูนย์บริการพัฒนาและขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
2. โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
3. โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
4. โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
การดำเนินงานของศูนย์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารมีการปลูกป่า 3 อย่าง (ไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล และไม่ใช้อสอย) 3 วิธี (โดยการใช้น้ำจากชลประทาน น้ำฝน และฝายเก็บกักน้ำขนาดเล็กตามแนวร่องหุบเขา ซึ่งเรียกว่า Check Dam เพื่อรักษาความชุ่มชื้น) ศึกษาการพัฒนาระบบเกษตรป่าไม้ ศึกษาวิจัยต้นน้ำลำธาร นิเวศวิทยาป่าไม้ การป้องกันไฟป่าแบบเปียก การศึกษา การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร จัดทำระบบอนุรักษ์และพัฒนาดิน รวมทั้งการศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรมต่างๆ การทำปศุสัตว์โคนมสัตว์ปีก และการเกษตรอุตสาหกรรม
ศูนย์ศึกษการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
ประวัติความเป็นมา เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 3 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาว่าสภาพื้นที่ในบริเวณจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดปีและมีสภาพเป็นดินพรุ เมื่อระบายน้ำออกแล้วจะแปรสภาพเป็นกรดจัด ทำการเพาะปลูกไม่ได้ผล จึงได้พระราชทานพระราชดำริกับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสว่า ควรมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาในการศึกษาวิจัยดินพรุ นำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่พรุอื่นๆ ต่อไป ต่อมาจึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างจังหวัดนราธิวาสและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
พื้นที่ดำเนินการ บริเวณที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง มีเนื้อที่ประมาณ 510 ไร่ แบ่งออกเป็นอาคารสำนักงานและแปลงสาธิตบนที่ดิน 202 ไร่ และแปลงวิจัยทดทองในพื้นที่พรุ 308 ไร่ อีกทั้งยังมีพื้นที่พรุจังหวัดนราธิวาสเนื้อที่ประมาณ 261,860 ไร่
นอกจากนี้ยังมีศูนย์สาขาอีก ประกอบด้วย
การดำเนินงานของศูนย์ฯ กิจกรรมที่ศูนย์ได้ดำเนินการ คือ การศึกษาวิจัยและปรับปรุงดินที่มีปัญหาให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก เช่น การพัฒนาดินอินทรีย์และดินเปรี้ยวจัด การใช้น้ำจืดชะล้างกรดออกจากดินทดลองเลี้ยงปลาน้ำกร่อยซึ่งในขณะนี้น้ำเปรี้ยวสามารถปรับปรุงเพื่อใช้เลี้ยงปลาได้แล้ว การศึกษาการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่พรุเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม เป็นต้น การพัฒนาระบบปลูกพืชการคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีความเหมาะสมในสังคมพืชป่าพรุ การทำสวนยางครบวงจร การปรับปรุงและบำรุงรักษาป่า การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ โครงการผลิตพืชสวนประดับเพื่อศึกษาหาพันธุ์ไม้ดอกและวิธีปลูกที่เหมาะสมในภาคใต้เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูกต่อไป เช่น สร้อยทอง แกลดิโอลัส เบญจมาศ เฮลิโกเนีย ปทุมมา ซ่อนกลิ่น หน้าวัว ดาวเรือง บานชื่น และแอสเตอร์
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ได้กระทำหน้าที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ดุจดังฟันเฟืองจักรกลสำคัญของการพัฒนาชนบทในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้ว่าแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น แสดงถึงพระปรีชาสามารถอันสูงเลิศที่บ่งบอกถึงพระอัจฉริยภาพเป็นที่ยิ่งว่า ทรงเป็นนักพัฒนาชนบทที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในโลกนี้ทีเดียว
แนวพระราชดำริเพื่อพึ่งตนเองของเกษตรกรในชนบทตามหลักการแห่งทฤษฎีการยอมรับนวัตกรรม (Innovation Adoption Theory)
บรรดานักวิชาการด้านการพัฒนาชนบทและผู้ปฏิบัติด้านการพัฒนามักฉงนอยู่เสมอว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้กลยุทธใดในการแนะนำเผยแพร่ประชาชนให้ยอรับแนะพระราชดำริของพระองค์ เพราะในการพัฒนาชนบทตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยนั้น จำต้องยอมรับด้วยความจริงว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายสมบูรณ์ดังที่ได้วางไว้ ปัญหาสำคัญที่ยังต้องคาอยู่เหนียวแน่น คือ การยอมรับการพัฒนาจากผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)
เมื่อวิเคราะห์จากแนวคิดของ Everett M. Rogers เกี่ยวกับทฤษฎีการแปรกระจายนวัตกรรม (The Diffusion of Innovation Theory) มีสาระสำคัญว่า การที่บุคคลจะยอมรับแนวคิดการพัฒนาได้นั้น จะต้องมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ระบบสังคม ระบบสื่อสารของนวัตกรรม และระยะเวลาการดำเนินการด้วย ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ขั้นตอนการยอมรับของประชาชนในแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวแล้วพบว่าทรงเป็นนักพัฒนาชนบทที่ประสบความสำเร็จยิ่งดังรายละเอียดดังนี้ คือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกฝังแนวพระราชดำริให้ประชาชนยอมรับไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยให้วงจรการพัฒนาดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ กล่าวคือ
1. ทรงสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้รับรู้ (Awareness) ในทุกคราเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในทุกภูมิภาคต่างๆ จะทรงมีพระราชปฏิสันถารให้ประชาชนได้รับทราบถึงสิ่งที่ควรรับรู้ เช่น การปลูกหญ้าแฝกจะช่วยป้องกันดินพังทลาย และใช้ปุ๋ยธรรมชาติจะช่วยประหยัดและบำรุงดิน การแก้ไขดินเปรี้ยวในภาคใต้สามารถกระทำได้ การตัดไม้ทำลายป่าจะทำให้ฝนแล้ง เป็นต้น ตัวอย่างพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ได้แก่
...ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาไว้ ไม่ทำให้ประเทศไทยเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทราย ก็ป้องกันทำได้...
2. ทรงสร้างความสนใจแก่ประชาชน (Interest) หลายท่านคงได้ยินหรือรับฟังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีนามเรียกขานแปลกหู ชวนฉงนน่าสนใจติดตามอยู่เสมอ เช่น โครงการแก้มลิง โครงการแกล้งดิน โครงการเส้นทางเกลือ โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย หรือโครงการน้ำสามรส ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ล้วนชวนเชิญให้ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่พระองค์ก็จะมีพระราชาธิบายแต่ละโครงการอย่างละเอียดเป็นที่เข้าใจง่ายรวดเร็วแก่ประชาชนทั้งประเทศ
3. ในประการต่อมา ทรงให้เวลาในการประเมินค่าหรือประเมินผล (Evaluate) ด้วยการศึกษาหาข้อมูลต่างๆ ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์นั้นเป็นอย่างไร สามารถนำไปปฏิบัติได้ในส่วนของตนเองหรือไม่ ซึ่งยังคงยึดแนวทางที่ให้ประชาชนเลือกการพัฒนาด้วยตนเองที่ว่า
...ขอให้ถือว่าการงานที่จะทำนั้นต้องการเวลาเป็นงานที่มีผู้ดำเนินมาก่อนแล้ว ท่านเป็นผู้ที่จะเข้าไปเสริมกำลัง จึงต้องมีความอดทนที่จะเข้าไปร่วมมือกับผู้อื่น ต้องปรองดองกับเขาให้ได้ แม้เห็นว่ามีจุดหนึ่งจุดใดจะต้องแก้ไขปรับปรุงก็ต้องค่อยพยามแก้ไขไปตามที่ถูกที่ควร...
4. ในขั้นทดลอง (Trial) เพื่อทดสอบว่างานในพระราชดำริที่ทรงแนะนำนั้นจะได้ผลหรือไม่ ซึ่งในบางกรณีหากมีทดลองไม่แน่ชัดก็ทรงมักจะมิให้เผยแพร่แก่ประชาชน หากมีผลการทดลองจนแน่พระราชหฤทัยแล้วจึงจะออกไปสู่สาธารณชนได้ เช่น ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำนั้นได้มีการค้นคว้าหากความเหมาะสมและความเป็นไปได้จนทั่วทั้งประเทศว่าดียิ่ง จึงนำออกเผยแพร่แก่ประชาชน เป็นต้น
5. ชั้นยอมรับ (Adoption) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นเมื่อผ่านกระบวนการมาหลายขั้นตอน บ่มเวลาการทดลองมาเป็นเวลานานตลอดจนทรงให้ศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสถานที่อื่น ๆ เป็นแหล่งสาธิตที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาดูได้ถึงตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ดังนั้น แนวพระราชดำริของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่ราษฎรสามารถพิสูจน์ได้ว่าจะได้รับผลดีต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของตนได้อย่างไร
แนวพระราชดำริทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระสติปัญญา ตรากตรำพระวรกายเพื่อค้นคว้าหาแนวทางการพัฒนาให้พสกนิกรทั้งหลายได้มีความร่มเย็นเป็นสุขสถาพรยั่งยืนนานนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานแก่ปวงไทยตลอดเวลา 50 ปี จึงกล่าวได้ว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์นั้นสมควรอย่างยิ่งที่ทวยราษฎรจักได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทตามที่ทรงแนะนำสั่งสอน อบรมและวางแนวทางไว้เพื่อให้เกิดการอยู่ดีมีสุขโดยถ้วนเช่นกัน