เรื่อง “เดี๋ยวฉันเป็นแม่ย่านางให้เอง”
กรมสมเด็จพระเทพฯ มีพระราชกระแสรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาช่วยเหลือราษฎรผู้เดือดร้อนจากสึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้ โดยจัดสร้าง “เรือไฟเบอร์กลาสหัวโทง ชัยพัฒนา-กาชาดไทย” จำนวน 560 ลำ
“เรือพังหลายพันลำ มูลนิธิฯ ก็รับมาส่วนหนึ่ง ปรากฏว่าหาไม้ไม่ได้ จึงมีรับสั่งให้ใช้ไฟเบอร์ดีกว่า รักษาวัฒนธรรมด้วยการคงรูปร่างไว้แบบเดิม ทำให้ดีขึ้นด้วยการเพิ่มห้องลม ใส่ทรายไว้ข้างใต้เหมือนตุ๊กตาล้มลุก เรือก็ไม่คว่ำ แถมชาวบ้านไม่ต้องเสียเงินปีหนึ่งเป็นหมื่นบาทเพื่อขูดเพรียง เพราะเพรียงไม่เกาะไฟเบอร์ แต่แรก ๆ ชาวบ้านไม่ยอมรับ บอกเป็นเรือพลาสติก กระทั่งนำไปทดลองใช้จนมั่นใจ”
ตามมาติด ๆ ด้วย “แต่” ที่สอง
“แต่สุดท้ายก็บอกไม่เอาอยู่ดี ถามว่าทำไม เขาบอกว่าไม่มีแม่ย่านางเพราะไม่ใช่ไม้ หัวเรือต้องเป็นไม้ตะเคียน เมื่อซักต่อว่าเคยเห็นแม่ย่านางหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่เคย เป็นเรื่องสั่งสอนกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด เลยบอกว่าแม่ย่านางของเรานี่เห็นเป็นองค์เสด็จฯ มาเลย เขาบอกว่าอย่างนั้นเลยหรือ ถ้าอย่างนั้นก็รับ”
เมื่อกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงทราบเรื่อง ทรงไม่มองข้ามหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อใดของชาวบ้าน รับสั่งแต่เพียงว่า “เดี๋ยวฉันเป็นแม่ย่านางให้เอง”
วันพระราชทานเรือจึงทรงผูกหัวเรือให้ทุกลำเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ
“งานของมูลนิธิฯ มีทุกมิติ บางเรื่องก็แก้ไม่ได้ด้วยหลักวิชาการ” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ทิ้งท้าย