เรื่อง กังหันน้ำชัยพัฒนา
ราว 30 ปี ก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศแบบ “ไทยทำไทยใช้” คือสามารถผลิตได้เองในประเทศ โดยทรงได้แนวคิดจาก “หลุก” อุปกรณ์วิดน้ำเข้านาภูมิปัญญาชาวบ้าน จนพัฒนาก่อเกิดเป็น “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร ทั้งยังได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ซึ่งถือเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงคิดค้นพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็น “เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ” พระราชทานให้ติดตั้งบำบัดน้ำเสียในที่ที่ไม่สามารถใช้ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ได้
“กังหันน้ำชัยพัฒนา” ได้รับรางวัลด้านสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นระดับสากลรวม 5 รางวัล หนึ่งในนั้นคือเหรียญรางวัล Gold Medal with Mention พร้อมประกาศนียบัตรสรรเสริญในพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ จากงาน Brussels Eureka 2000 จัดโดย The Belgian Chamber of Inventors องค์กรสิ่งประดิษฐ์ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป
ตลอด 30 ปี ที่ผ่านมา สิ่งประดิษฐ์จากพระอัจฉริยภาพทั้ง 2 ชนิด ได้ถูกติดตั้งเพื่อบำบัดน้ำเสียทั้งในและต่างประเทศกว่า 1,100 เครื่อง เช่น สระน้ำของสวนสาธารณะ Woluwe-Saint-Pierre กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม สระมุจลินท์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย และวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ซึ่งที่วัดไทยนี้เอง เช้าวันรุ่งขึ้นหลังติดตั้งก็เกิดเหตุการณ์ประหลาด พบไข่เป็ดแอบอยู่ในกังหันซึ่งเป็นสิ่งเคลื่อนไหว ไม่น่าจะมีสัตว์ใดวางใจมาออกไข่ในนี้ได้
กระทั่งเป็ดยังสัมผัสได้ว่ากังหันน้ำชัยพัฒนาปลอดภัย
คงเหมือนที่คนไทยรู้สึกเย็นสุขใจใต้ร่มพระบารมี