เรื่อง “ที่พึ่งสุดท้าย”
“ในวันที่รู้สึกเคว้งคว้าง เพียงแค่เห็นป้ายมูลนิธิชัยพัฒนาก็อุ่นใจ เหมือนเป็นที่พึ่งสุดท้าย”
มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ทำให้ครอบครัวเล็ก ๆ ของ คุณตุ๊ก - ชนนาท เจริญจิตต์ ซึ่งประกอบด้วยตัวเธอเอง คุณแม่ และน้องสาว ต้องทุลักทุเลหนีน้ำที่กำลังไหลท่วมใต้ถุนบ้านสูงกว่า 3 เมตร กลายเป็นหนึ่งในผู้อพยพหลายร้อยคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิชัยพัฒนา ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวของผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แต่หลังจากหนีน้ำแบบไม่ทันเตรียมกาย เธอได้พบกับเหตุการณ์ที่ไม่ทันเตรียมใจยิ่งกว่า
“วันรุ่งขึ้น 11 ตุลาคม 2554 ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับเสด็จกรมสมเด็จพระเทพฯ พระองค์เสด็จฯ มาเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ศูนย์ฯ ซึ่งมีผู้อพยพเกือบ 600 คน พวกเรานั่งอยู่ข้างหลังสุดของห้อง ลุ้นมากว่าจะเสด็จฯ มาถึงแถวเราไหม และพระองค์ก็เสด็จฯ มา เลยรีบนำผ้าขนหนูปูรับรอยพระบาท ตอนก้มลงกราบจู่ ๆ น้ำตาก็ไหล ปลื้มปีติมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรับสั่งถามด้วยว่า ตอนนี้ทำอะไรอยู่ จึงทูลตอบว่าเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่น้ำท่วมคงไปไม่ได้ ต้องพักไว้ก่อนเพราะเป็นห่วงแม่ จึงมีรับสั่งว่า เมื่อน้ำลดแล้วให้กลับไปเรียนให้จบ”
ตลอดสองเดือนที่ใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ฯ เธอเล่าว่าความทุกข์กังวลค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นความสุข ด้วยมีกรมสมเด็จพระเทพฯ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีพระจิตอาสาจาก มจร.วังน้อยมาช่วยเยียวยาจิตใจ ขณะที่มูลนิธิชัยพัฒนาก็ดูแลเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องอาหารการกินและการฝึกอาชีพ
“ในช่วงเวลาวิกฤติของครอบครัว รู้สึกซาบซึ้งใจที่พระองค์ทรงรับพวกเราไว้ในพระราชานุเคราะห์” คุณตุ๊กเล่าพร้อมน้ำตา ทุกวันนี้เธอยังเก็บผ้าขนหนูผืนนั้นที่มีรอยพระบาท ถุงยังชีพพระราชทาน รวมถึงภาพถ่ายพระราชทาน บูชาไว้เป็นมงคลของชีวิต
“แม้จะผ่านมานานหลายปีแล้ว พี่นก เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ยังคงส่ง ส.ค.ส.มาไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบด้วยความเป็นห่วง ทำให้รู้สึกว่าความอุ่นใจไม่ได้เกิดขึ้นแค่ 2 เดือนที่อยู่ศูนย์ฯ หากเป็น 8 ปีแห่งความผูกพันกับมูลนิธิชัยพัฒนา แม้จะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม”
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2556 คุณตุ๊กได้ประดิษฐ์พวงมาลัยจากผ้าใยบัว ทูลเกล้าฯ ถวายแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทุกวันขึ้นปีใหม่ คุณตุ๊กและคุณติ๊ก น้องสาว จะเขียนโปสการ์ดทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อแสดงความจงรักภักดี และตั้งใจว่าจะเขียนอย่างนี้ทุกปีเรื่อยไป
“อยากให้พระองค์ทรงทราบว่า พระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับในวันนั้น ตลอดชีวิตนี้จะไม่มีวันลืม”
มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ทำให้ครอบครัวเล็ก ๆ ของ คุณตุ๊ก - ชนนาท เจริญจิตต์ ซึ่งประกอบด้วยตัวเธอเอง คุณแม่ และน้องสาว ต้องทุลักทุเลหนีน้ำที่กำลังไหลท่วมใต้ถุนบ้านสูงกว่า 3 เมตร กลายเป็นหนึ่งในผู้อพยพหลายร้อยคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิชัยพัฒนา ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวของผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แต่หลังจากหนีน้ำแบบไม่ทันเตรียมกาย เธอได้พบกับเหตุการณ์ที่ไม่ทันเตรียมใจยิ่งกว่า
“วันรุ่งขึ้น 11 ตุลาคม 2554 ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับเสด็จกรมสมเด็จพระเทพฯ พระองค์เสด็จฯ มาเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ศูนย์ฯ ซึ่งมีผู้อพยพเกือบ 600 คน พวกเรานั่งอยู่ข้างหลังสุดของห้อง ลุ้นมากว่าจะเสด็จฯ มาถึงแถวเราไหม และพระองค์ก็เสด็จฯ มา เลยรีบนำผ้าขนหนูปูรับรอยพระบาท ตอนก้มลงกราบจู่ ๆ น้ำตาก็ไหล ปลื้มปีติมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรับสั่งถามด้วยว่า ตอนนี้ทำอะไรอยู่ จึงทูลตอบว่าเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่น้ำท่วมคงไปไม่ได้ ต้องพักไว้ก่อนเพราะเป็นห่วงแม่ จึงมีรับสั่งว่า เมื่อน้ำลดแล้วให้กลับไปเรียนให้จบ”
ตลอดสองเดือนที่ใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ฯ เธอเล่าว่าความทุกข์กังวลค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นความสุข ด้วยมีกรมสมเด็จพระเทพฯ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีพระจิตอาสาจาก มจร.วังน้อยมาช่วยเยียวยาจิตใจ ขณะที่มูลนิธิชัยพัฒนาก็ดูแลเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องอาหารการกินและการฝึกอาชีพ
“ในช่วงเวลาวิกฤติของครอบครัว รู้สึกซาบซึ้งใจที่พระองค์ทรงรับพวกเราไว้ในพระราชานุเคราะห์” คุณตุ๊กเล่าพร้อมน้ำตา ทุกวันนี้เธอยังเก็บผ้าขนหนูผืนนั้นที่มีรอยพระบาท ถุงยังชีพพระราชทาน รวมถึงภาพถ่ายพระราชทาน บูชาไว้เป็นมงคลของชีวิต
“แม้จะผ่านมานานหลายปีแล้ว พี่นก เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ยังคงส่ง ส.ค.ส.มาไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบด้วยความเป็นห่วง ทำให้รู้สึกว่าความอุ่นใจไม่ได้เกิดขึ้นแค่ 2 เดือนที่อยู่ศูนย์ฯ หากเป็น 8 ปีแห่งความผูกพันกับมูลนิธิชัยพัฒนา แม้จะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม”
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2556 คุณตุ๊กได้ประดิษฐ์พวงมาลัยจากผ้าใยบัว ทูลเกล้าฯ ถวายแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทุกวันขึ้นปีใหม่ คุณตุ๊กและคุณติ๊ก น้องสาว จะเขียนโปสการ์ดทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อแสดงความจงรักภักดี และตั้งใจว่าจะเขียนอย่างนี้ทุกปีเรื่อยไป
“อยากให้พระองค์ทรงทราบว่า พระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับในวันนั้น ตลอดชีวิตนี้จะไม่มีวันลืม”