ด้านการพัฒนาสังคม
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
วัดแห่งแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นแบบอย่างในการก่อสร้างวัดที่มีขนาดเล็ก เน้นความประหยัด เรียบง่าย เป็นพุทธสถานในการประกอบศาสนกิจ เพื่อสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและศรัทธาของประชาชน ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านสังคมและจริยธรรมแก่เยาวชนและประชาชนในชุมชน เพื่อขัดเกลาให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม เน้นการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในลักษณะ บ-ว-ร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน หรือหน่วยราชการ ซึ่งเป็นจุดเด่นของสังคมไทยในอดีตมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน ทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัย เกื้อกูลกัน และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในที่สุด
อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดิน ที่แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานที่แสดงถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นแหล่งศึกษาที่แสดงถึงความสัมพันธ์กลมกลืนกันของสังคมชุมชนชาวไทย จีน ลาว และมุสลิม ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย
ในวันนี้ ผืนดินแห่งนี้ นอกจากจะเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนย่านคลองสานที่ประชาชนได้เข้ามา ร่วมทำกิจกรรมสัมพันธ์ สร้างความรักใคร่สามัคคีระหว่างกัน ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม
โครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ชุมชนบ้านโรงวัว จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมผืนดินนี้มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร เข้ามาอยู่อาศัยและทำสวนผลไม้ เช่น ลำไย ในระยะแรกเน้นให้ราษฎรสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกิน เมื่อระยะเวลาผ่านไปราษฎรกลุ่มนี้ มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นชุนชนที่มีความเข้มแข็ง จนสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มในรูปของสหกรณ์
ผืนดินที่บ้านบึงแวง ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก จัดทำเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านบึงแวง เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการทำนาให้แก่ราษฎรในโครงการ โดยลดการใช้สารเคมี ซึ่งในปัจจุบันราษฎรกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งในการดำรงชีวิตอีกชุมชนหนึ่ง
สหกรณ์โคนม จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่เดิมสหกรณ์แห่งนี้ ได้ขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา ในด้านการประกอบกิจการโคนม จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงวัว และโรงนม ซึ่งในปัจจุบันสหกรณ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง และสามารถพัฒนาไปถึงขั้นผลิตอาหารสัตว์ครบวงจร
โครงการทั้ง 3 โครงการนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาจากวิถีชีวิต *พออยู่พอกิน* ไปสู่การพึ่งตนเอง ของตนเองได้ในที่สุด