หลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หลักสูตร “ผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (นพย.) เป็นการสนองพระราชดำริใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาจัดทำโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นกรอบในการจัดทำหลักสูตร โดยมีระยะเวลาในการอบรมรวมทั้งสิ้น 28 วัน คือระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 30 กันยายน 2559
หลักการ และเหตุผล
ในภาวะปัจจุบัน โลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก กระแสการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ ในทุกภูมิภาคนำมาซึ่งโอกาส และข้อจำกัดของประเทศที่เกี่ยวข้อง และจะมีผลต่อเนื่องไปสู่ความอยู่รอด และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ สำหรับประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน สังคมกลายเป็นสังคมเดี่ยวมากขึ้น คนขาดความนับถือในตนเอง ให้คุณค่ากับผู้ชนะโดยไม่คำนึงถึงที่มาของการชนะ ทำให้ประเทศขาดภูมิคุ้มกัน มีการพัฒนาอย่างไม่สมดุล
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของคน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ รวมทั้งเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาสังคม และประเทศได้อย่างเหมาะสม สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศให้เข้มแข็ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างผู้นำคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) นำพาสังคมรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพ ใช้ประโยชน์จากเครือข่าย และการบริหารจัดการบนพื้นฐานความเป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะนำสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุล เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์ของหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- เพื่อสร้างผู้นำให้เป็นคนดี คนเก่ง คนกล้าคิด และคนกล้าทำ
- เพื่อสร้างผู้นำที่รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถนำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable Social Development)
- เพื่อสร้างผู้นำที่ดี อันจะนำมาซึ่งเครือข่ายแห่งความดี
เนื้อหาของหลักสูตร
เข้าใจ - เข้าใจตนเอง รู้เขา และรู้เรา
• เข้าใจ – ตนเอง
- เรียนรู้ธรรมชาติกับการครองตน คุณธรรมและจรรยาบรรณของผู้นำ
- การบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
- สร้างจิตสำนึกให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility Spirit) และสามารถเป็น Change Agent สำหรับชุมชน และสังคม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
• เข้าใจ – รู้เขา
- เข้าใจสถานการณ์โลกและแนวโน้ม (เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม)
- การรวมกลุ่มของภูมิภาค ผลกระทบ และการรับมือของประเทศ เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
• เข้าใจ – รู้เรา
- รู้จักสภาพเศรษฐกิจ สังคม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ
- เรียนรู้ภูมิสังคมของพื้นที่
- ประเมินและวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัดของพื้นที่ (Area Assessment)
เข้าถึง - กระบวนการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์
• เรียนรู้เครื่องมือในการบริหารจัดการ กระบวนการบริหารจัดการโครงการ
• เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง
• เรียนรู้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ (Critical and Creative Thinking) และกระบวนการตัดสินใจ (Decision Making) เพื่อนำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision Innovation)
• นำความรู้และข้อมูลจากความเข้าใจอย่างเป็นระบบมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อให้เกิดทางเลือก และแนวทางในการวางแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
• เรียนรู้และถอดบทเรียนปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success) ของกระบวนการพัฒนาของผู้นำชุมชนในพื้นที่ และสาขาการพัฒนาด้านต่างๆ
พัฒนา - เชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจ และกระบวนการจัดการต่างๆ ให้เกิดผลในภาคปฏิบัติอย่างยั่งยืน
• เรียนรู้กระบวนการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม มีความเชื่อมโยงของสังคม และท้องถิ่น
• เรียนรู้ตัวอย่างการบริหารจัดการแบบองค์รวม
• ศึกษาดูงานกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่ม/ชุมชนในสาขาต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและต่างประเทศ
• เชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจ และกระบวนการจัดการผ่านการวางแผน และทดลองปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย
• บูรณาการแนวคิด และประสบการณ์ในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่สามารถสร้างเครือข่ายความดี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable Social Development)
หลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้คัดเลือกผู้เข้าอบรมที่มีความหลากหลาย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน อาจารย์ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา รวมถึงผู้แทนองค์กรเครือข่ายการพัฒนา เพื่อสร้างผู้นำด้านต่างๆ ให้เพียบพร้อมทั้งคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ความสามารถ ความเสียสละ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีจิตสำนึกของการเป็นผู้นำที่เป็นคนดี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เกิดความสมดุล โดยยึดหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จและเกิดประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวมอย่างยั่งยืนต่อไป