เรื่อง “เจ้าพ่อโปรดเกล้าฯ” กับเรื่องเล่า “ผีต้นไทร”
งานของมูลนิธิชัยพัฒนามีทุกรูปแบบ โดยหน่วยงาน (จำเป็น) ที่มี “งานเข้า” เป็นครั้งคราวคือ หน่วยงานปราบผี
“กรมสมเด็จพระเทพฯ รับสั่งเสมอว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก ไปเจรจากับเขาดี ๆ ว่าเรามาดี มาทำประโยชน์’ ซึ่งก็เรียบร้อยทุกแห่งด้วยพระบารมี”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เล่าย้อนเหตุการณ์ครั้งหนึ่งขณะชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังถวายรายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงกวักพระหัตถ์เรียก ดร.สุเมธเข้าไป และทรงถามชาวบ้านว่า “เคยเห็นหน้าเขาไหม เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร” ชาวบ้านคนหนึ่งทูลว่า “เคย ท่าทางมีวิชา” พระองค์จึงตรัสว่า “ฉันจะส่งไปปราบผีต้นไทร เขาเป็นเจ้าพ่อรู้หรือเปล่า”
ประเทศไทยจึงมี “เจ้าพ่อโปรดเกล้าฯ” คนแรกในวันนั้น
ส่วนเรื่อง “ผีต้นไทร” คือช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง-น้ำเค็มแบบยั่งยืน ระหว่างการขุดคลองเจ้าหน้าที่ได้พยายามตัดต้นไทรต้นหนึ่งที่ขึ้นล้ำเข้าไปในคลอง ทว่าจะด้วยวิธีไหนก็เกิดเหตุไม่คาดคิดทำให้ไม่สามารถตัดได้ “ชาวบ้านบอกว่าต้นไทรมีเทวดาสิงสถิตอยู่”
ระหว่างทางเดินไปเจรจากับ (ผี) ต้นไทร ดร.สุเมธเห็นพระสงฆ์ 4 รูปเดินสวนมาและยิ้มให้ จึงยกมือไหว้ ทีมงานเห็นดังนั้นจึงยกมือไว้ตาม ๆ กัน “เดินไปพักหนึ่งนึกขึ้นได้ว่าใกล้เวลาฉันเพล เลยหันไปบอกทีมงานให้หาข้าวไปถวาย ทีมงานถามว่าพระที่ไหน ผมบอกว่าเมื่อสักครู่ที่เดินสวนกันไง ปรากฏว่าไม่มีใครเห็นสักคน ผมเห็นอยู่คนเดียวกลางวันแสก ๆ”
นอกจากคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเป็นเจ้าพ่อหรือเจ้าแม่ นานวันเข้าก็มีชุดไทยและชุดเด็กที่ชาวบ้านนำมาแก้บนเพิ่มเข้ามาอีก เมื่อกรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนพื้นที่ดังกล่าวจึงมีรับสั่งว่า “สงสัยเป็นครอบครัวขยายแล้ว ให้สร้างศาลเล็ก ๆ เพิ่มจะได้อยู่กันสะดวกสบาย ไม่อึดอัดเกินไป”
เป็นที่มาของ “ศาลชัยพัฒนา” แห่งเดียวในเมืองไทย
ปัจจุบัน ต้นไทรริมน้ำกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทว่าเบื้องหลัง “ศาลชัยพัฒนา” ที่ได้รับการออกแบบอย่างสวยงามนั้น แฝงไว้ด้วยความหมายงดงามยิ่งกว่า นั่นคือความใส่พระราชหฤทัยที่ไม่ทรงมองข้ามหรือพยายามเปลี่ยนความเชื่อใดของชาวบ้าน
วันนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังอยู่ เช่นเดียวกับพระอัจฉริยภาพที่ปรากฏแจ่มชัดในหัวใจชาวปากพนังตลอดไป