(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 11 กรกฎาคม 2539)
การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นไปตามแนว พระราชดำริ โดยเน้นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน โครงการของรัฐที่มีอยู่แล้ว แต่จะพยายามสนับสนุน ส่งเสริม และประสานการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการต่างๆ เกิดความสมบูรณ์และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่โครงการของรัฐถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎระเบียบต่างๆ อันเป็นผลทำให้โครงการนั้นๆ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที เช่น ในกรณีที่อาจต้องจัดซื้อที่ดินจากราษฎรบางส่วนเพื่อดำเนินงานตามโครงการ หนึ่ง แต่รัฐมีปัญหาด้านงบประมาณไม่เพียงพอในการจัดซื้อ หรือมิได้ตั้งงบประมาณไว้ หรือถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของระเบียบต่างๆ ทำให้ดำเนินการจัดซื้อไม่ได้ หรือต้องตั้งงบประมาณจัดซื้อใน 1-2 ปี ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้โครงการล่าช้าไป เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้มูลนิธิชัยพัฒนาจะได้ช่วยเหลือตามความเหมาะสมเพื่อให้โครงการ นั้น ๆ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด
วิธีการดังตัวอย่างข้างต้นนี้ อาจนับได้ว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่ของแนวทางการพัฒนาประเทศที่มีมูลนิธิชัยพัฒนาใน ฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่จะเข้ามาประสานงาน ร่วมมือ สนับสนุน โครงการพัฒนาของรัฐอย่างสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้โครงการที่มีปัญหานั้นๆ สามารถดำเนินงานไปได้ โดยก่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อนในอดีต
"มูลนิธิชัยพัฒนา มิได้มีหน้าที่โดยตรงที่จะบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนให้มีกิน ให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตที่สร้างสรรค์ โดยช่วยในการให้มีสิ่งที่เป็นอุปกรณ์ หรือจะเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยให้สามารถที่จะทำการทำมาหากินโดยมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับโครงการในด้านการเกษตรก็ได้ทำมาก และในด้านเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมก็ได้ทำ เพื่อที่จะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดเป้าหมายก็คือความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะ"
(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 9 พฤศจิกายน 2538)