วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2557 เวลา 14.00 น.
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิธิ บุรณจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมพัฒนาศักยภาพการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กรุงเทพฯ
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ได้มาตรฐานระดับประเทศและเหมาะสมต่อการถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปผลผลิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่
โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จะเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและก่อสร้างอาคารแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ในลักษณะการผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง (Job Shop Production) รวมถึงการวางผังอาคาร การจัดสร้าง จัดวางเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ (Plant Layout) ให้เหมาะสมต่อการแปรรูปผลผลิตตามฤดูกาล อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาในการปรับปรุงสถานที่โดยรอบ เพื่อจัดทำระบบมาตรฐานระดับชาติ ตามหลักเกณฑ์ในการผลิตที่ดีสำหรับการผลิตอาหาร (GMP) และถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่โครงการฯ รวมถึงประชาชนในพื้นที่
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา มีจุดเริ่มต้นจากการที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความประสงค์ที่จะสร้างศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับประเทศไทย เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ อีกทั้งเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เมื่อปี 2550 ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร รวมถึงพันธุ์พืช และการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ในระยะเริ่มต้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินงานด้านการผลิตพืชและระบบการปลูกพืชเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน อีกทั้งมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางการเกษตรให้แก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆที่สนใจ เพราะโครงการแห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมพืชที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ทั้งพืชน้ำมัน ข้าว สมุนไพร เครื่องเทศ ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผล อาทิ ทับทิมจีน มะขามป้อมอินเดีย กาแฟอราบิก้าสายพันธุ์คาร์ติมอร์ มะเม่า หม่อน เป็นต้น รวมถึงพืชอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
ปัจจุบัน โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พัฒนาการแปรรูปผลผลิตจากพืชที่ปลูกภายในโครงการและจากกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากทางโครงการฯ อาทิ ชาสมุนไพรสูตรต่างๆ ทั้งชาสมุนไพรเจียวกู้หลาน ชาสมุนไพรโสมนัส และชาสมุนไพรตำรับพิเศษ “ชัยพัฒนา 1” ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีประกอบด้วย เจียวกู้หลาน เห็ดหลินจือ และมะตูม นอกจากนี้ทางโครงการฯ ยังได้ส่งเสริมกิจกรรมการแปรรูปผลผลิตต่างๆ ให้แก่คนในชุมชนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย