วันที่ 23 มิถุนายน 2557
เวลา 10.00 น. ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และนายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เข้าร่วมในงาน “23 ปี มหัศจรรย์หญ้าแฝก : โอบน้ำ อุ้มดิน อิ่มท้อง” การประชุมสัมมนาการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 6 ณ ห้องประชุม 202 มหาวิทยาลัยบูรพา ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
เวลา 13.00 น. ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อยกย่อง เชิดชู รวมทั้งเผยแพร่ผลงานการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเป็นการส่งเสริมและขยายผลการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกอย่างแพร่หลาย เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างยั่งยืน
การประกวดฯปีนี้ มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 44 ผลงาน แบ่งเป็น ประเภทการปลูกและส่งเสริมการปลูก 18 รางวัล และประเภทผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝกรวม 26 รางวัล ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งสองประเภท จำนวน 20 ผลงาน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโล่รางวัล และอีก 24 ผลงาน ได้รับโล่เกียรติคุณจากองค์กรร่วมจัดการประกวดฯ โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดฯ ในปีนี้จำนวนทั้งสิ้น 314 ผลงาน แบ่งเป็น ประเภทการปลูกและส่งเสริมการปลูก 178 ผลงาน และประเภทผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก 136 ผลงาน
เครือข่ายคนรักษ์แฝก ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ได้รับรางวัลประเภทการปลูกและส่งเสริมการปลูก ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน มีความเข้มแข็งและมีบทบาทมาก ตั้งแต่การสรรหาผลงานเข้าสู่การประกวด ทำให้มีผลงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ และทำงานด้านส่งเสริมขยายผล ให้มีพื้นที่การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพิ่มมากขึ้นในทุกภาค มีการนำเรื่องหญ้าแฝกไปบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้และประสบการณ์เรื่องหญ้าแฝก เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีการสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยนำหญ้าแฝกมาเป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้
เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการดำเนินงานด้านหญ้าแฝกที่มีมิติใหม่ ๆ รวมทั้งโครงการการประยุกต์การใช้หญ้าแฝกร่วมกับวิธีกลและพืชอื่นเพื่อ ป้องกันภัยดินถล่ม ซึ่งโครงการนี้ได้มีระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง ปี 2556-2558 โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันภัยพิบัติดินถล่มที่สร้างความสูญเสีย อย่างมหาศาล
ทั้งนี้ ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัล ภายใต้แนวคิด "หญ้าแฝก อุ้มน้ำ โอบดิน สู่วิถีเกษตรกรรมที่ยั่งยืน" ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายนศกนี้ ณ หอประชุมธำรง บัวศรี มหาวิทยาลัยบูรพา ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี