วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายวิรพจน์ ศุภธนสินเขษม กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง “โครงการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำเสีย” ระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กรุงเทพฯ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ร่วมดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำเสีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งด้านน้ำเสียและด้านขยะในพื้นที่ชุมชนที่อยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำสาธารณะสำคัญ ซึ่งต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีและเกิดประสิทธิผล
ลำดับแรกคณะทำงานได้คัดเลือกพื้นที่บริเวณ โรงงานผลิตปลาส้มระดับครัวเรือน ตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่เป้าหมายเนื่องจากโรงงานดังกล่าวมีน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตลงสู่กว๊านพะเยาโดยไม่ได้ผ่านการบำบัด ทำให้มีสารอินทรีย์ปนเปื้อนในปริมาณมากซึ่งส่งผลให้วัชพืชน้ำในกว๊านพะเยาเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียตามมา
ในการนี้ มูลนิธิชัยพัฒนา โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ จะเป็นผู้ดำเนินการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือใช้วิธีธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ซึ่งให้ผลเป็นที่ประจักษ์และยอมรับแล้วว่าวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีที่ประหยัด เรียบง่าย และมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียได้เป็นอย่างดี โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ ติดตามประเมินผลและตรวจวัดคุณภาพน้ำ ทั้งนี้โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ จะเป็นผู้ดำเนินการขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนโดยรอบต่อไป
การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ทั้งสามฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาในด้านต่างๆ อันอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของทั้งสามฝ่ายให้เกิดความสมบูรณ์และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นหลักการเสริมสร้างความสมดุลและยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดคุณค่าต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนและสภาพแวดล้อมทั้งภายในนิคมอุตสาหกรรมและบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม