วันที่ 14 พฤษภาคม 2552 ฯ พณ ฯ จูมมาลี ไซยะสอน ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวพร้อมด้วยภริยา ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการนี้ ได้เยี่ยมชมโครงการแก้มลิงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณบึงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ
โครงการแก้มลิง
จากสภาพธรรมชาติดั้งเดิมของกรุงเทพฯ มีลักษณะลุ่มต่ำทำให้การระบายน้ำยามเกิดภาวะน้ำท่วมเป็นไปอย่างล่าช้า คูคลองจำนวนมากมีความลาดเทน้อย มีวัชพืชปกคลุมกีดขวางทางน้ำไหล ทำให้เป็นสาเหตุในการเกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้มีระบบการบริหารจัดการ น้ำท่วมดังกล่าว ในวิธีการที่ตรัสว่า "แก้มลิง" ซึ่งได้พระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า "....ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยวแล้วไปเก็บไว้ที่แก้ม..ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อนแล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภ และกลืนกินเข้าไปภายหลัง"
เปรียบเทียบได้กับเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง
จากแนวพระราชดำริดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยได้ศึกษาระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ภายในคันกั้นน้ำพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 650 ตารางกิโลเมตร พบว่า หากเกิดฝนตกภายใน 3 ชั่วโมง จะมีปริมาณน้ำส่วนที่เกินจากระบบระบายน้ำสาธารณะคือ คลองระบายน้ำและสถานีสูบน้ำที่มีอยู่จะรองรับได้ โดยจะมีน้ำส่วนเกินประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะไหลล้นท่อระบายน้ำ และคลองเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ตามถนน ตรอกซอย ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะต้องจัดหาแก้มลิง เพื่อรองรับปริมาณน้ำส่วนเกินดังกล่าวให้เพียงพอเพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง
โครงการแก้มลิงบึงหนองบอน
ต่อมากรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่แก้มลิงของกรุงเทพฯ จำนวน 21 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 12.74 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย โครงการแก้มลิงบึงหนองบอน ในส่วนโครงการแก้มลิงบึงหนองบอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 ให้เวนคืนที่บริเวณแขวงหนองบอน กรุงเทพฯ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ และใช้พื้นที่ดังกล่าวเก็บกักน้ำฝนโดยเมื่อน้ำในพื้นที่ลดลงจึงค่อยปล่อยน้ำออกจากบึงและลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
โครงการแก้มลิงบึงหนองบอน เป็นแก้มลิงแห่งหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 21 แห่ง ที่กรุงเทพมหานคร จัดไว้เป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ตั้งอยู่ในเขตประเวศ มีพื้นที่ทั้งหมด 644 ไร่ 1 งาน 37.5 ตารางวา เริ่มขุดบึงเมื่อปี พ.ศ. 2536 ใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ โดยขุดลึกประมาณ 10 เมตร แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2542 สามารถเก็บกักน้ำได้ 5,000,000 ลูกบาศก์เมตร และได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือน พฤษภาคม- พฤศจิกายน ให้สามารถรับน้ำส่วนเกินจากคลองหนองบอนและคลองมะขามเทศ และในช่วงฤดูแล้ง เดือนธันวาคม-เมษายน จะทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ในบึงเพื่อใช้ในการอุปโภค ทั้งนี้ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันศึกษาแนวทางการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 3 เมตร จากบึงหนองบอนออกสู่คลองประเวศบุรีรมย์ ความยาวประมาณ 330 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับน้ำให้มากขึ้น
ในการนี้นอกจาก ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและภริยา จะได้เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการแก้มลิงฯ แล้ว ยังได้ชมนิทรรศการเกี่ยวกับกังหันน้ำชัยพัฒนา และเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX-5C เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้จัดแสดงไว้ภายในบริเวณโครงการแก้มลิงบึงหนองบอน โดยนิทรรศการดังกล่าวจะแสดงถึงประวัติความเป็นมา หลักการทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อไป